หน้าใหม่

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  3 มี.ค. 2561
       
  “แอปเปิล”   และ “อเมซอนและพาร์ตเนอร์”   
เปิด “โรงพยาบาล” ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพพนักงาน

งบประมาณด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่รัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” พยายามหาทางออกให้สหรัฐอเมริกามาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนขึ้นรับตำแหน่ง เพราะเขาเคยปรามาสไว้ว่าในยุคสมัยของ “บารัก โอบามา” มีการใช้งบประมาณไปกับประกันสุขภาพมากจนเกินไปจนรัฐบาลขาดดุล

เนื่องจากนโยบาย “โอบามาแคร์” บังคับให้ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ ไม่งั้นจะต้องมีค่าปรับ และบังคับให้นายจ้างหาประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างทุกคน

หลังจากผลักดันและยื้อยุดกันนาน สุดท้าย“โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ ดันประกันสุขภาพฉบับรีพลับลิกันสำเร็จเมื่อปีก่อน และยกเลิกสิทธิประโยชน์จากโอบามาแคร์ไปจำนวนมาก ทั้งยกเลิกนโยบายที่ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ พร้อมทั้งลดจำนวนผู้ที่อยู่ภายใต้โครงการประกันสุขภาพสำหรับคนรายได้น้อย ทำให้ภาระค่ารักษาพยาบาลจึงกลับมาเป็นของประชาชน

บริษัทยักษ์ใหญ่ส่วนใหญ่รู้ดีถึงค่ารักษาพยาบาลที่แพงหูฉี่ และพวกเขาก็ไม่ค่อยชอบการบริหารของทรัมป์สักเท่าไหร่ ทำให้ล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์

    

ที่ผ่านมา “แอปเปิล” ยักษ์เทคโนโลยีจากแคลิฟอเนียร์ ประกาศเปิดตัว “คลินิกสุขภาพ” ของตนเอง ภายใต้ชื่อ “AC Wellness” มีเป้าหมายเพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่พนักงานในสหรัฐกว่า 1.2 แสนคน รวมถึงครอบครัวของพนักงาน

แถลงการณ์จากแอปเปิลระบุว่า AC Wellness จะให้บริการด้านสุขภาพโดยทั่วไป พร้อมกับการนำเทคโนโลยีการแพทย์และเทคโนโลยีการบริการมาปรับใช้ ถือเป็นโครงการนำร่องไปในตัว โดยเลือกพื้นที่จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณซานดา คลารา คันทรี ในแคลิฟอเนียร์ ไม่ไกลจาก “แอปเปิล พาร์ค” สำนักงานใหญ่ยักษ์ของแอปเปิลเท่าไหร่

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศรับสมัครผู้พัฒนาหรือออกแบบโปรแกรม เพื่อโปรโมตแนวคิดที่ดีต่อสุขภาพและป้องกันโรคภัย ทั้งยังมีข่าวว่า มีการดึงตัวอดีตเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดเข้ามาร่วมด้วย

ไม่ใช่แค่แอปเปิลเท่านั้นที่เตรียมเปิดศูนย์สุขภาพตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ ยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง “อเมซอน” ก็ได้ประกาศเปิดตัวโครงการคลินิกสุขภาพเช่นกัน โดยเป็นการจับมือร่วมกับ “เบิร์กไชร์ แฮททาเวย์” ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ “เจพี มอร์แกน”


แถลงการณ์ความร่วมมือระบุว่า ต้องการให้พนักงานได้รับการรักษาในราคาที่สมเหตุสมผล เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของอเมริกามีราคาแพงมาก และเป็นบ่อนกัดเซาะเศรษฐกิจประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้พนักงานของทั้ง 3 บริษัทมีจำนวนรวมกันมากกว่า 1 ล้านคน

นอกจากการลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทแล้ว อีกสิ่งสำคัญก็คือ เหล่ายักษ์ไอทีจะได้ใช้พื้นที่ตัวเองในการทดลองเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หนึ่งในโครงการที่แอปเปิลจะต่อยอด น่าจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโรคหัวใจ ซึ่งได้ความร่วมมือจากโรงเรียนแพทย์แสตนฟอร์ดมาก่อนหน้านี้ โดยได้ออกผลิตภัณฑ์ “แอปเปิล วอท์ช” ซึ่งสามารถเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจได้ ซึ่งแอปเปิลมีความคาดหวังในการพัฒนาธุรกิจและสินค้า เพื่อให้เข้าถึงสุขภาพของส่วนบุคคลมากขึ้น

 

ด้านอเมซอนและพาร์ตเนอร์ ก็ได้เปรยออกมาว่า การลงทุนครั้งใหม่นี้ก็จะโฟกัสไปยังเรื่องของเทคโนโลยีเช่นกัน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกใด ๆ

อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพของทั้งแอปเปิลและอเมซอน แม้จะเป็นเรื่องดีสำหรับพนักงานและครอบครัว แต่อาจไม่ใช่เรื่องดีสำหรับคนทั่วไป เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้ว่าทางออกของ 2 ยักษ์เทคโนโลยีจะไม่ได้พิสูจน์ว่าระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาพังทลาย

แต่ก็สะท้อนว่า พวกเขาทำเองน่าจะดีกว่าสิ่งที่รัฐจัดหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องหลักประกันสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนที่ทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิการรักษาที่ดีจากบริษัทจัดหาให้

เพราะไม่ใช่ทุกคนในประเทศที่จะทำงานกับยักษ์ไอทีที่มีเงินทุนมหาศาล แต่ยังมีคนตกงาน คนที่ทำงานอิสระ คนที่ทำงานให้กับบริษัทเล็ก ๆ ตลอดจนคนที่เกษียณอายุแล้ว

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีมูลค่าสูงอย่างน่าตกใจโดยในปี 2016 เม็ดเงินค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐพุ่งไปถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 18% ของจีดีพีประเทศ

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 632,580