9 ความเปลี่ยนแปลงโลกยุค 2029 เราจะเจออะไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

 
แหล่งที่มา : www.brandbuffet.in.th วันที่โพสต์ :  13 ม.ค. 2563
       
 
9 ความเปลี่ยนแปลงโลกยุค 2029 เราจะเจออะไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

ทุกวันนี้ หากถามถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา หลายคนคงนับนิ้วกันไม่หมด แต่สำหรับความก้าวหน้าในยุคถัดไป ซึ่งเป็นยุคที่เครือข่าย 5G, AI, Quantum Computing จะแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างเต็มรูปแบบนั้น เป็นไปได้ว่าเราอาจได้เห็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาตอบโจทย์โลกอนาคตกันเป็นดอกเห็ดอีกแน่นอน นั่นจึงนำไปสู่อีกหนึ่งการคาดการณ์ของ Medium.com เกี่ยวกับอนาคตใน 9 ด้านที่ขอนำมาฝากกัน


1.การวิเคราะห์ข้อมูลจะเปลี่ยนไปด้วย Federated Learning

หากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า Machine Learning กันมากขึ้นแล้ว ปี 2020 เป็นต้นไป อาจถึงเวลาต้องคุ้นเคยกับคำใหม่อย่าง Federated Learning กันเสียแล้ว

โดย Federated Learning เกิดขึ้นเพราะมนุษย์เรามีความกังวลเรื่อง Privacy ที่เราต้องส่ง Data จำนวนมากไปให้อัลกอริธึมบนคลาวด์ หรือเซิร์ฟเวอร์ทำการวิเคราะห์และเรียนรู้ จึงมีการพัฒนาโซลูชันใหม่มาปิดความกังวลข้อนี้ นั่นก็คือ แทนที่จะส่ง Data ขึ้นไปให้อัลกอริธึมประมวลผล ทางระบบก็ส่งอัลกอริธึมนั้น ๆ ลงมาหา Data แทนเสียเลย

โดยที่ผ่านมา มีการใช้ Federated Learning แล้วจากค่ายเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Apple กับการส่งอัลกอริธึมลงมาประมวลผลข้อมูลในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้แทน ซึ่ง Federated Learning ทำให้พวกเขาสามารถศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ต่อไปโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะละเมิดกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อในอดีต

อีกหนึ่งวงการที่ได้ประโยชน์จาก Federated Learning ก็คือวงการการแพทย์ ที่แต่เดิม โรงพยาบาลมักเป็นผู้เก็บรักษาข้อมูลสุขภาพของคนไข้ และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาภายนอก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสจะเทรน AI ทางการแพทย์ให้ฉลาดขึ้นก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่พอจะให้มันเรียนรู้ แต่เมื่อมี Federated Learning ทางผู้พัฒนาก็สามารถส่งอัลกอริธึมลงมาที่ฐานข้อมูลขนาดใหญ่นี้ได้ และเมื่อประมวลผลเสร็จ ก็ส่งเพียงแค่อินไซต์ที่ได้รับกลับไปยังระบบก็เป็นอันเสร็จสิ้น

ทั้งหมดนี้จึงคาดว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกเทคโนโลยีไปอีกพอสมควร เพราะ Data ที่เราเคยเข้าถึงไม่ได้เมื่อในอดีต ปัจจุบัน ด้วย Federated Learning AI ทำให้วงการเทคโนโลยีสามารถเข้าถึง Data เหล่านั้นได้แล้วนั่นเอง

2. Deepfake AI ผู้ท้าทายทุกวงการ

ในอดีต เวลาที่เราได้ยินเรื่องการตัดต่อภาพดาราดังไปทำเรื่องเสียหาย เรามักนึกถึงคนที่มีฝีมือขั้นเทพด้านโปรแกรม Photoshop แต่เมื่อถึงยุค AI เรามีสิ่งที่เรียกว่า Deepfake AI ที่ขอเพียงมีข้อมูลใบหน้า-อิริยาบถต่าง ๆ มากพอ มันก็สามารถคัดลอกอัตลักษณ์ของคน ๆ นั้นมาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งที่ผ่านมา Deepfake AI ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการบันเทิง เช่น การสร้างหนังโป๊เปลือย เป็นต้น

แต่สำหรับวงการที่ซีเรียสขึ้นไปอีกขั้น เช่น แวดวงการเงิน การเมือง ศาสนา ฯลฯ Deepfake AI กลายเป็นปัญหาทันที เพราะหากมีการนำภาพบุคคลสำคัญ เช่น ผู้นำประเทศมหาอำนาจไปสร้างใหม่ด้วย Deepfake AI และกล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้

คลิปของ Mark Zuckerberg ที่สร้างโดย Deepfake AI โดยนำมาจากคลิปของตัวเขาเองที่ออกมาพูดเกี่ยวกับนโยบายการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2017

ไม่เพียงเท่านั้น แพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดียเองก็เช่นกัน ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกำลังมีประเด็นเรื่อง Deepfake อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook เห็นได้จากกรณีที่ Mark Zuckerberg ได้ถูกนำภาพไปสร้างเป็นคลิปโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake จนเป็นที่ฮือฮา ซึ่งล่าสุด ทางบริษัทได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะแบนคลิปวิดีโอที่ถูกปรับแต่งด้วย Deepfake AI ออกจากแพลตฟอร์ม

แต่งานยากของบรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็คือการตรวจสอบ เพราะว่ากันว่า คนที่จะตรวจสอบ AI ได้ดีที่สุดก็คือ AI ด้วยกันเอง ทำให้ในปีที่ผ่านมา Facebook มีการใช้เงินราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจจับคลิป Deepfake AI เลยทีเดียว

3. ลัทธิชาตินิยมอาจแบ่งโลกอินเทอร์เน็ตออกเป็นส่วน ๆ

ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า “อินเทอร์เน็ต” เป็นเครื่องมือในการรวมคนทั้งโลกเข้าด้วยกันที่มาพร้อมสโลแกนสวยหรูอย่าง “โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม” แต่ในความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกไม่ได้เท่าเทียมกันอย่างที่สโลกแกนว่าไว้ เห็นได้จากการประท้วงในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงของชาวเสื้อกั๊กเหลืองของฝรั่งเศส, ม็อบในฮ่องกง, การประท้วงของเกษตรกรในเยอรมนี, การประท้วงในเฮติต่อการขึ้นราคาเชื้อเพลิง, การประท้วงในอิรักต่อปัญหาว่างงาน และปัญหาคอร์รัปชัน ฯลฯ

ขณะที่เบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การประท้วงนั้นพบว่าหลายครั้งเป็นการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย สถานการณ์เช่นนี้ จึงอาจนำไปสู่การแบ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตออกเป็นกลุ่มก้อน ตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในประเทศที่ตนเองประกอบธุรกิจอยู่ก็เป็นได้

4. eSport อาจกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงกว่าวงการกีฬาในปัจจุบัน

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น เราอาจต้องย้อนไปดูรางวัลของการแข่งขันเทนนิสหญิง Wimbledon ที่ผู้ชนะจะได้รับรางวัล 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขเท่ากันกับเงินรางวัลที่ผู้ชนะการแข่งขัน Fornite World cup จะได้รับเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะ eSport ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ ที่พยายามจะสร้างตลาดนี้ให้เกิดขึ้น รวมถึงหาทางทำให้มัน Entertain ผู้ชมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ eSport สามารถเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างได้นั่นเอง

5. อาจเกิดการต่อยอดจาก Self-Driving Car ไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

เป็นไปได้ว่าในอนาคต จะมีการต่อยอดจากรถอัจฉริยะไร้คนขับไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เช่น

     - ธุรกิจส่งอาหารที่ปรุงไปด้วยในขณะเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น อบพิซซ่าไปด้วยขณะที่กำลังขับรถไปส่ง ทำให้พอถึงบ้านลูกค้าแล้ว พิซซ่าก็อบเสร็จใหม่ ๆ พร้อมรับประทานเลยทันที

     - ธุรกิจส่งสินค้าก่อนที่จะเกิดคำสั่งซื้อ โดยใช้ AI คาดการณ์คำสั่งซื้อที่จะเกิดขึ้นและส่งสินค้าออกไปล่วงหน้า ซึ่งทำให้ตัวสินค้าไปถึงบ้านลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

     - ทำรถโดยสารเป็นออฟฟิศเคลื่อนที่ สำหรับคนทำงานที่อยากทำงานไปด้วย เดินทางไปด้วย

     - ธุรกิจให้เช่าของแบบ On-Demand สำหรับของใช้ที่แต่ละบ้านอาจไม่จำเป็นต้องใช้งานกันบ่อย ๆ เช่น สว่าน เครื่องซักพรม ฯลฯ

โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เหล่านี้จึงอาจเข้ามาช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายของการใช้รถ Self-Driving ให้ลดลง จนอาจจะเหลือ 0 ได้เลยทีเดียวหากมันประสบความสำเร็จ

6. เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในวงการเสิร์ช

ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ได้จาก Google Search หรือเสิร์ชเอนจินยี่ห้ออื่น ๆ อาจทำให้เรารู้สึกว่าควรจะพอใจแล้วกับลิสต์เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง 10 – 15 รายการที่แสดงอยู่ในหน้าแรก แต่สำหรับโลกในยุค Federated Learning เราอาจได้เห็นภาพของผลลัพธ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่แม่นยำกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงเสิร์ชเอนจินที่สามารถให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ พ่วงมาด้วย เช่น การที่ AI ของเสิร์ชเอนจินสามารถวิเคราะห์ได้ว่า เรากำลังมีปัญหาทางการเงิน จึงแนะนำวิธีในการบริหารจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพมาพร้อมกัน

7. ธนาคารดิจิทัลและ Cashless Society จะมาเปลี่ยนสถาบันการเงิน

การมาถึงของ Cashless Society ทำให้เริ่มมีหลายประเทศในปัจจุบันหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ เหตุเพราะผู้คนในโลกที่ Cashless เป็นใหญ่นั้น อาจจำใจต้องยอมจ่ายเงินค่ารักษาบัญชีให้กับธนาคารเพียงเพื่อให้ตนเองสามารถใช้จ่าย ลงทุน ฯลฯ ได้อย่างสะดวกสบายเช่นเดิมนั่นเอง

นอกจากนี้การมาถึงของธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นธนาคารที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน หรือสาขา เนื่องจากทุกการทำธุรกรรมเกิดขึ้นได้ผ่านสมาร์ทโฟนก็จะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแวดวงการเงิน โดยธนาคารในลักษณะนี้จะกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้สูงอายุนั้นก็จะพุ่งความสนใจไปที่ธนาคารในรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อมั่นในดิจิทัล และต้องการมีปฏิสัมพันธ์แบบ Face-to-Face กับพนักงานธนาคารเสียมากกว่า

8. การใช้งาน Blockchain จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

มีแนวโน้มว่า Blockchain จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคถัดไป โดยเฉพาะแวดวงการพนัน, เกม และวงการ Trading

9. ระบบสวัสดิการอาจใช้งานไม่ได้

เป็นเรื่องของคนจ่ายภาษีกับคนรับสวัสดิการจากภาษีที่เติบโตสวนทางกันซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอาจเป็นประเทศออสเตรเลียที่ในปี 2008 พบว่ามีคนจ่ายภาษีให้ประเทศ 13.12 ล้านคน และเติบโตเป็น 13.50 ล้านคน ในปี 2016 หรือเพิ่มขึ้น 3.8 แสนคน คิดเป็นอัตราการเติบโต 2.93% ซึ่งถ้าหันไปมองตัวเลขประชากรทั้งประเทศพบว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน (2008 – 2016) ประชากรออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 2.78 ล้านคน หรือ 13.24% ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกัน และทำให้ภาระหนักตกไปอยู่ที่คนจ่ายภาษีในปัจจุบันของออสเตรเลียมากขึ้นเรื่อย ๆ

และทั้งหมดนี้ก็คืออีกหนึ่งการคาดการณ์ของสภาพธุรกิจในช่วง 2020 – 2029 ซึ่งเราเชื่อว่า แม้จะดูยากลำบากในการใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่ก็มีความท้าทายให้หลายธุรกิจได้แจ้งเกิดและเติบโตเช่นกัน

Source

Source

Visitors: 620,380