Give Back Box ธุรกิจเพื่อสังคมที่คืนชีพให้ ‘ขยะจากการช้อปปิ้งออนไลน์’ กลายเป็นของที่มีคุณค่าอีกครั้ง
|
|||
แหล่งที่มา : www.marketeeronline.co | วันที่โพสต์ : 11 ต.ค. 2562 | ||
Give Back Box ธุรกิจเพื่อสังคมที่คืนชีพให้ ‘ขยะจากการช้อปปิ้งออนไลน์’ กลายเป็นของที่มีคุณค่าอีกครั้ง | |||
![]() |
|||
สิ่งที่มีเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวของธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ที่เติบโตขึ้นทุกวัน ก็คือขยะ E-Commerce ซึ่งเป็นพวกกล่องพัสดุที่เอาไว้ห่อหุ้มเวลาขนส่งสินค้า ถ้าไม่เชื่อก็ลองกลับไปดูที่บ้านก็ได้ว่าคุณมีกล่องกระดาษที่ได้จากการช้อปปิ้งออนไลน์กองไว้เยอะขนาดไหน และนี่ก็เป็นปัญหาที่บริษัท E-Commerce ทั่วโลกให้ความสนใจ ว่าจะทำอย่างไรที่ไม่ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตอย่างทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติด้วยการสร้างขยะที่เป็นกล่องกระดาษจำนวนมากแบบนี้ได้ แต่ E-Commerce เจ้าใหญ่ของโลกอย่าง Amazon มีทางออกให้กับปัญหานี้แล้ว ด้วยการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับ Give Back Box ซึ่งเป็น Social Enterprise ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2012 |
|||
![]() |
|||
โดย Give Back Box จะให้ผู้คนนำสิ่งของเหลือใช้อย่างเช่นเสื้อผ้า, รองเท้า, ผ้าม่าน หรือวัสดุที่เป็นสิ่งทอต่างๆ ใส่ลงไปในกล่องกระดาษที่เหลือจากการช้อปปิ้งออนไลน์ จากนั้นก็เข้าไปในเว็บไซต์ของ Give Back Box เพื่อพิมพ์ใบจ่าหน้ามาแปะที่หน้ากล่อง ซึ่งใบจ่าหน้านั้นจะส่งสิ่งของเหลือใช้ของคุณไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปบริจาคและแจกจ่ายแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยใบจ่าหน้านั้นจะทำให้คุณส่งพัสดุได้แบบฟรีๆ เป็น win-win situation ที่บริษัท E-Commerce ก็มีทางออกให้กับธุรกิจ ผู้คนก็สามารถบริจาคของได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปนั่งค้นหามูลนิธิให้ยุ่งยาก ที่สำคัญคือมันเป็นโมเดลการลดขยะให้กับโลก โดยที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากไปกว่า ‘ไอเดีย’ ของผู้ก่อตั้ง Give Back Box อย่าง Monika Wiela |
|||
![]() |
|||
แท้จริงแล้ว จุดเริ่มต้นในการทำ Give Back Box ของ Monika ไม่ได้มาจากความคิดทางธุรกิจที่คิดว่าจะเป็นทางออกให้กับ E-Commerce เจ้าใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ แต่กลับมาจากไอเดียเล็กๆ และสถานการณ์บังเอิญที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อนหน้าจะมาทำ Give Back Box อย่างเป็นจริงเป็นจังเหมือนทุกวันนี้ Monika มีอาชีพขายรองเท้าออนไลน์มาก่อนหน้า กระทั่งวันหนึ่งที่ได้ไปพบกับชายไร้บ้านคนหนึ่งอยู่ริมถนน และชายคนดังกล่าวก็ได้ถือป้ายว่า “เขาต้องการรองเท้าสักคู่หนึ่ง” เมื่อเห็นแบบนี้ Monika ที่ทำอาชีพขายรองเท้าอยู่แล้ว จึงอยากจะเอารองเท้ามาให้ แต่สุดท้ายชายไร้บ้านก็หายตัวไป และ Monika ก็ไม่ได้มอบรองเท้าให้กับเขา จนเมื่อกลับมาที่บ้าน เรื่องชายไร้บ้านคนดังกล่าวยังคงคาใจ นั่นทำให้ Monika พยายามคิดทบทวนหาทางออกทั้งคืนว่าจะทำยังไงให้คนไร้บ้านคนอื่นๆ ได้รับโอกาสในการเข้าถึงเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆ สุดท้ายแล้วการขบคิดนั้นก็มาประกอบกับภาพของกล่องเปล่ามากมายที่วางอยู่ในคลังสินค้าของเธอ และในเวลาต่อมามันจึงกลายเป็นที่มาของ Give Back Box อย่างที่เราได้อธิบายไปในข้างต้น คือเป็นโมเดลธุรกิจแบบ Social Enterprise ที่ทำให้ธุรกิจ E-Commerce มีทางออก/ผู้คนสามารถบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของเหลือใช้ได้อย่างง่ายได้/คนด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น |
|||
![]() |
|||
ที่สำคัญคือเป็นการลดขยะให้โลก ทั้งขยะที่เป็นกล่องกระดาษ และขยะเสื้อผ้าที่ปลายทางของมันคือการฝังกลบจนทำให้ในอเมริกามีขยะประเภทนี้มากถึง 11 ล้านตันเลยทีเดียว และไม่ใช่แค่ Amazon แต่ด้วยไอเดียเรียบง่ายที่ใช้ได้จริงนี้ จึงทำให้รีเทลชื่อดังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น LEGO, ASICS, TOY R US และอีกมากมาย เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ Give Back Box เพื่อให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตไปด้วยกัน credit: Give Back Box |