ไทยเอาบ้างไหม? คนส่ง Uber Eats ในญี่ปุ่นตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองให้บริษัทเป็นธรรมมากขึ้น

 
แหล่งที่มา : https://brandinside.asia
วันที่โพสต์ :  4 ต.ค. 2562
       
ไทยเอาบ้างไหม? คนส่ง Uber Eats ในญี่ปุ่นตั้งสหภาพแรงงาน
เพื่อต่อรองให้บริษัทเป็นธรรมมากขึ้น

ตอนนี้บริการ Food Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว และคนที่เหนื่อยที่สุดก็คงไม่พ้นพี่ๆ ที่ขับมอเตอร์ไซค์ไปซื้อเครื่องดื่ม หรืออาหาร จากจุดนี้เองผู้ขับ Uber Eats ในญี่ปุ่นจึงตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อต่อรองเรื่องต่างๆ กับบริษัท

จัดตั้งสหภาพแรงงานด้วยสมาชิก 17 คน

ปกติแล้วหากได้บรรจุทำงานในองค์กรทั้งของภาครัฐ และเอกชน พนักงานเหล่านั้นก็จะได้รับสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ และเสียชีวิต, การเบิกค่าใช้จ่าย รวมถึงเงินโบนัส แต่เมื่อทำงานในรูปแบบ Freelance หรือ Gig Economy ตัวสวัสดิการเหล่านั้นก็แทบจะไม่มี และจะมีได้ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองทั้งหมด

ตัวอย่างที่ยกมาวันนี้คือพาร์ทเนอร์ หรือผู้ขับของระบบ Uber Eats ในประเทศญี่ปุ่น เพราะพวกเขาต้องใช้จักรยาน หรือจักรยานยนต์ในการขับขี่ไปซื้อเครื่องดื่ม หรืออาหารไปส่งให้ลูกค้า แต่พวกเขากลับไม่ได้สิทธิประโยชน์เรื่องความปลอดภัย และผลตอบแทนที่อาจจะไม่แน่นอน

  

ทำให้ Tomio Maeba หนุ่มวัย 29 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ขับของระบบ Uber Eats ร่วมกับเพื่อนผู้ขับอีก 16 คนจัดตั้งสหภาพแรงงานของผู้ขับ Uber Eats ที่ในประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีราว 15,000 คน โดยมีเป้าหมายหลักคือ ลดความเสียเปรียบของผู้ขับในมุมต่างๆ เช่นผลตอบแทนที่แน่นอน และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่

มากกว่านั้น Yoshihiko Kawakami ทนายที่ให้การสนับสนุนสหภาพแรงงานนี้ บอกว่า ตัวบริษัทควรจะยอมรับข้อเสนอนี้เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในญี่ปุ่น ในทางกลับกันโฆษกของ Uber Eats ก็แจ้งว่า จะปฏิบัติตามความต้องการของพาร์ทเนอร์ พร้อมกับหาสิ่งดีๆ มาใหกับพวกเขา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา Uber ได้ร่วมมือกับ Mitsui Sumitomo Insurance เพื่อจัดทำแผนประกันชดเชยจากอาการบาดเจ็บให้กับผู้ขับกลุ่ม Uber Eats ทุกคน โดยในกรณีสูงสุดหากผู้ขับเสียชีวิตจะได้รับเงิน 10 ล้านเยน (ราว 2.85 ล้านบาท) เป็นเงินสด

สรุป

จริงๆ ในต่างประเทศก็เริ่มมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานของผู้ขับ Uber, Lyft และอื่นๆ จึงไม่แปลกที่ฝั่งบริการส่งอาหารจะตั้งสหภาพแบบนี้บ้าง ซึ่งในประเทศไทยนั้นส่วนตัวคาดว่าอีกไม่นานก็คงจะมีการทำแบบนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ขับในระบบทุกคน แต่ก็อยู่ที่ใครจะเป็นตัวแทนออกมาเดินหน้าเรื่องนี้ก่อน

ข้อมูลเพิ่มเติม // ในประเทศญี่ปุ่นมีคนทำงานในรูปแบบ Freelance ซึ่งรวมถึงพนักงานสัญญาจ้างถึง 3 ล้านคน

อ้างอิง // Japan TodayUber Japan

Visitors: 629,649