Trash Made : สร้างสิ่งรอบตัวจากขยะ โมเดลต้นแบบจากโยโกฮาม่า

 
แหล่งที่มา : 
1.www.scg.com/sdsymposium/
2.www.facebook.com/พลังงานจากขยะ  (Energy from Wastes)
วันที่โพสต์ :  26 ส.ค. 2562
       
Trash Made : สร้างสิ่งรอบตัวจากขยะ โมเดลต้นแบบจากโยโกฮาม่า

กว่า 40 ปีมาแล้วที่เรารู้จักประเทศญี่ปุ่นในฐานะหนึ่งในประเทศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและจริงจังเรื่องการจัดการขยะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นก็เคยประสบปัญหาขยะล้นเมืองเหมือนประเทศไทยมาก่อน ด้วยอัตราการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณของเสียพุ่งสูงขึ้นตามอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี บวกกับการมีพื้นที่สำหรับกำจัดของเสียจำกัด ทำให้ญี่ปุ่นเกิดวิกฤติการณ์ขยะล้นเมือง
โยโกฮาม่า เมืองต้นแบบแห่งการจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่น

โยโกฮาม่า เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในญี่ปุ่นเป็นอันดับสอง และเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองต้นแบบแห่งการจัดการขยะและลดโลกร้อน เพื่อจัดการกับปัญหาขยะล้นเมืองในโยโกฮาม่า ทางเทศบาลจึงได้ประกาศนโยบาย G30 ในปี 2003 โดยใช้หลัก 3 R นั่นก็คือ Reduce, Reuse และ Recycle โดยขอความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชน ประชาชนและภาครัฐเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขยะของเสียลง 30%


ทางการเริ่มให้ความรู้กับประชาชน มีการจัดสัมมนาในกลุ่มวัยทำงาน ปลูกฝังการแยกขยะให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลโดยการใช้ Mascot และการตกแต่งถังขยะด้วยลวดลายการ์ตูนขวัญใจเด็ก ๆ ไว้ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการแยกขยะที่ถูกต้องผ่านสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยเชื่อว่าเด็ก ๆ เป็นตัวการสำคัญชักจูงให้พ่อแม่ผู้ปกครองหันมาแยกขยะกันแบบจริงจังได้ ทำให้ในระยะเวลา 2 ปี มีการจัดอบรมมากถึง 11,000 ครั้ง


ไม่เพียงแค่ประชาชนชาวญี่ปุ่น แต่ทางการขอความร่วมมือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย โดยมีการจัดทำแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 9 ภาษา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ถือว่าเกินความคุ้มค่าไปมาก เพราะภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ปริมาณของเสียภายในเมืองลดลงมากถึง 43% จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 30% ลดปริมาณเตาเผาขยะไปได้มากถึง 2 ใน 7 ทำให้ประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะได้มากถึง 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และขยะที่ถูกเผาไหม้หรือรีไซเคิลจากการคัดแยกยังนำมาทำเป็นสิ่งของได้อีกมากมาย...
สร้างสิ่งรอบตัวจากขยะ

นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะลงแล้ว ขยะรีไซเคิลที่ได้ยังสามารถนำมาทำเป็นสิ่งของได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนก่อสร้างจากกระป๋องโลหะ เสื้อผ้าจากไฟเบอร์ขวดน้ำพลาสติก รวมไปถึงสร้างทางเดินเท้าข้างสถานีรถไฟจากขยะ หรือแม้แต่ท่าเรือที่สำคัญ ๆ ของเมืองยังเกิดมาจากการถมทะเลด้วยเถ้าตะกอนจากการเผาไหม้ขยะ เรียกได้ว่าเป็นการจัดการขยะได้อย่างคุ้มค่าที่สุด


และใครจะไปคิดว่าขยะ... จะให้แสงสว่างกับมนุษย์ได้! กว่า 100,000 ครัวเรือนในเมืองโยโกฮาม่ายังได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากกระบวนการเผาไหม้ขยะในพื้นที่ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเมืองมากถึง 2.3 พันล้านเยนต่อปี และไม่ได้มีแค่ที่โยโกฮาม่าเท่านั้นที่มีแนวคิด Waste to Power ญี่ปุ่นมีโรงงานเผาขยะที่สามารถเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานอยู่มากถึง 370 แห่งทั่วประเทศ

จะเห็นได้ว่าโมเดลในการจัดการขยะของโยโกฮาม่าไม่ได้ซับซ้อนไปกว่าที่เราจะเข้าใจได้ แต่สิ่งที่ทำให้โยโกฮาม่าประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการขยะเป็นเพราะการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในเมือง 


และในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 นี้ ร่วมรับฟังและแบ่งปันแนวคิด (Best Practice) ด้านการจัดการขยะของเมืองโยโกฮาม่า จาก Mr. Gen Takahashi General Manager, Overseas Administration Department จากบริษัท JFE Engineering Corporation ประเทศญี่ปุ่น สปีกเกอร์ของ Interactive Breakout Session Room 1 : Thailand Waste Management Way Forward ที่จะมาบรรยายและร่วมเวิร์คช็อปหาแนวทางการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยต่อไป ได้ในงาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action

ผลพวงจากการคัดแยกและจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพ: โยโกฮามา เมืองต้นแบบของการจัดการขยะ 

เมื่อโพสต์ที่แล้วได้พูดถึงว่า ปัญหาของขยะไม่ได้อยู่ที่ขยะ แต่อยู่ที่การคัดแยกและการจัดเก็บที่ไม่มีประสิทธิภาพ วันนี้จึงขอพูดถึง ความสำเร็จของเทศบาลโยโกฮาม่า ที่ได้ประกาศนโยบาย G30 ในปี 2003 เพื่อจัดการขยะล้นเมืองโดยใช้หลัก 3 R (Reduce, Reuse และ Recycle) ซึ่งมาจากความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชน ประชาชน และภาครัฐ 

ความเอาจริงเอาจังของภาครัฐ เห็นได้จากการที่เทศบาลได้จัดอบรมและปลูกฝังให้กับ ปชช. ในการคัดแยกขยะ เป็นจำนวนถึง 11,000 ครั้ง ภายใน 2 ปี

คัดแยกแล้ว จัดการอย่างครบวงจร ตามรูป คือ (1) นำกลับมาใช้ประโยชน์ (Recycle & Reuse) (2) ส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ นำมาไปผลิตกระแสไฟฟ้า (waste to power) และ (3) กากจากโรงไฟฟ้านำไปถมสร้างแผ่นดินใหม่

ผลพวงที่ตามมา คือ

1. ภายใน 10 ปี ขยะลดลงมากถึง 43%,ลดปริมาณขยะที่จะต้องเผาถึง 2 ใน 7, ประหยัดงบในการกำจัดถึง 1 พันล้าน US$

2. ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ สร้างรายได้ ได้ถึง 2.3 พันล้านเยน/ปี

ฟังดูแล้วน่าประทับใจมาก จึงอยากจะนำมาเผยแผ่ให้ทราบ และเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกท่านว่า การเอาจริงเอาจังในเรื่องขยะ ของทุกภาคส่วน สามารถแก้ปัญหาขยะ ได้อย่างแท้จริง

ในโอกาสต่อไป จะมาเล่าถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะของเมืองนี้

ขอบคุณข้อมูลจากงาน SD Symposium 2019 ที่จัดโดย SCG ในวันจันทร์ที่ผ่านมา

อ้างอิง : 
www.scg.com/sdsymposium/
www.facebook.com/พลังงานจากขยะ (Energy from Wastes)
Visitors: 629,859