ไทยกับขยะทะเลรีไซเคิล สัญญาใจประชุมอาเซียน

 
แหล่งที่มา : www.thairath.co.th วันที่โพสต์ :  25 มิ.ย. 2562
       

ไทยกับขยะทะเลรีไซเคิล สัญญาใจประชุมอาเซียน 


การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ผ่านพ้นไปแล้ว... ด้วยแนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” ที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจะได้แสดงวิสัยทัศน์ในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนอาเซียนในทุกมิติ

หนึ่งในภาพใหญ่ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา “ขยะทะเล” ภายใต้รูปแบบการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม...ซึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 นี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืน จัดทำของที่ระลึกที่ผลิตจาก “พลาสติกรีไซเคิล”

“ขยะพลาสติก”...ผ่านกระบวนการอัปไซคลิง ประเภทโพลิเอทิลีน (PE) จำนวน 2 แบบ ได้แก่ ซองใส่ iPad...ใช้วัสดุจากการถักทอเส้นด้ายรีไซเคิลผ่านฝีมือ 2 ชุมชนจังหวัดระยอง ได้แก่ ชุมชนเนินสำเหร่ 1,ชุมชนเจริญพัฒนา

ซองใส่ iPad 1 ชิ้น...เทียบเท่ากับการใช้ขยะถุงพลาสติก 36 ใบเป็นวัตถุดิบ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,124 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากต้นไม้ 27 ต้น

นอกเหนือจากความภูมิใจแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ถัดมา “กระเป๋าแบบซองใส่เครื่องเขียน” ผลิตจากความงดงามของเส้นไหมผสมผสานกับเส้นด้ายรีไซเคิลจากฝีมือการถักทอของกลุ่มแม่บ้านจังหวัดสุโขทัย ของชำร่วยชิ้นนี้เป็นสินค้าแบรนด์ VINN PATARARIN หนึ่งในพันธมิตรของ GC ที่ร่วมกันผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

นับเป็นการนำ “ขยะ” ที่มักถูกมองว่า... “ไม่มีค่า” ให้กลับกลายมาเป็นสินค้าที่มี... “มูลค่าเพิ่ม” ด้วยกระบวนการอัปไซคลิง (Upcycling)

นอกจากนี้แล้วตลอดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ยังใช้ “ช้อน” และ “ส้อม” ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ (Compostable Bio-plastic) สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ...เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

และอีกผลิตภัณฑ์ที่ต้องกล่าวถึงคือ “เสื้อโปโลตราสัญลักษณ์อาเซียน” สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน ถักทอจากผ้าที่มาจากกระบวนการอัปไซคลิงขวดพลาสติกรีไซเคิล

จากการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา มีวาระการประชุมนำเสนอผลงานจากจากรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง และจะมีการรับรองปฏิญญา 3R กรุงเทพ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากขยะพลาสติก

โดยใช้หลักการ 3R และ เศรษฐกิจหมุนเวียน นำเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญของ “ปฏิญญา 3R” ประกอบด้วย...ด้านกฎระเบียบและนโยบาย กำกับการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว สนับสนุนหลักการ 3R ส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติก

ด้านการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อทางเลือกใหม่ ให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม...ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยบูรณาการการทำงานของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บอกว่า ความเกี่ยวข้องของปฏิญญา 3R ต่อ GC อาทิ ด้านกฎระเบียบและนโยบาย บริษัทได้เข้าร่วมคณะอนุกรรมการการจัดการขยะพลาสติก (PPP Plastic)

ความร่วมมือในประเทศ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอุตฯ และในต่างประเทศ UN WBCSD IUCN...ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงอุตฯ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการรับรองผลิตภัณฑ์ 3R...ด้านการสื่อสาร เป็นต้นแบบภาคเอกชนไทยนำขยะพลาสติกสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ

“ร่างปฏิญญา 3R กรุงเทพ”...เป็นการแสดงเจตนารมณ์ด้านนโยบายร่วมกันของผู้แทนประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการนำหลักการ 3R และเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษจาก “ขยะพลาสติก”

แน่นอนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยในประเทศให้ครบวงจร ทันสมัย...เป็นไปตามหลักสากล

 

ทั้งนี้ ปฏิญญา 3R กรุงเทพ เป็นปฏิญญาแบบสมัครใจ...ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

ส่วนข้อตระหนักถึงสภาพแวดล้อมชายฝั่งและทะเลในฐานะที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

โดยเฉพาะ...ประเทศกำลังพัฒนาเกาะขนาดเล็ก

ความท้าทายสำคัญโดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล กระแสน้ำและมหาสมุทรที่พัดพาไหลข้ามประเทศ จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศและมลพิษจากขยะพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาสำคัญ

ตอกย้ำกระบวนการ “อัปไซคลิง” ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แปลงร่างขยะขวดพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ที่เริ่มจากการเก็บและคัดแยกขยะพลาสติก นำขวดมาตัดเป็นชิ้นแล้วนำไปปั่นเป็นเส้นใย...ปั่นเป็นเส้นด้ายนำมาทอเป็นผืนผ้า กระทั่งออกแบบตัดเย็บจนเป็นเสื้อ กระเป๋าเป้ และอื่นๆ

“ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต เราดำเนินธุรกิจตาม หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างหมุนเวียน...รู้คุณค่า...ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะและทิ้งอย่างถูกวิธีในโครงการติ๊งไซเคิล (ThinkCycle)”

นับรวมไปถึงการนำพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่ามาสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์ ผสมผสานการถักทอด้วยฝีมือคนในชุมชนต่างๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม...ทำให้ขยะไม่เป็นขยะอีกต่อไป

ในโครงการ PE Recycle และโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ที่เป็นการร่วมมือจาก 3 พันธมิตร... การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และ GC

มุ่งหมายลดปัญหาจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ด้วยการนำขยะที่เก็บขึ้นมาจากทะเล นำไปแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋าเป้ สุพัฒนพงษ์ ฝากทิ้งท้ายว่า การจัดงานประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ นอกจากคนไทยจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นการส่งต่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่สำคัญ...ไม่แพ้กัน คือการที่เราได้แสดงให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เห็นว่า ประเทศไทยนำโดยภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนมีการตระหนักรู้...นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน...หลักการ 3R มาปรับใช้”

นั่นก็คือ...การลด การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล รวมถึงยึดมั่นในการร่วมดูแลรักษาทะเล และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง.

Visitors: 629,997