ตื่นตัวทั่วโลก ส่องนโยบายรัฐในการจัดการและลดพลาสติกของต่างชาติ

 
แหล่งที่มา : www.brandage.com วันที่โพสต์ :  25 มิ.ย. 2562
       
ตื่นตัวทั่วโลก ส่องนโยบายรัฐในการจัดการและลดพลาสติกของต่างชาติ

ปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกประเทศ เกิดกระแสที่พูดได้เลยว่าเป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้  โดยส่วนมากประเทศพัฒนาแล้วได้มีการใช้นโยบายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจังและเห็นผลการลดลงของขยะพลาสติกผ่านทางสถิติได้อย่างชัดเจน ต่างประเทศไม่เพียงเก็บภาษีถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการที่หลากหลายและน่าสนใจมากมาย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำมาปรับใช้สำหรับหลายประเทศ จุดประกายให้ไทยกลับมาทบทวนการจัดการขยะพลาสติกในไทยอีกครั้ง
 
ส่วนไทยเริ่มหันมาจัดการกับพลาสติก โดยออกนโยบายเดินหน้ากำจัดขยะตั้งเป้าภายในปี 2565 แล้วเช่นกัน ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลิกใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และหลอดพลาสติก
 
มาดูนโยบายจัดการและกำจัดขยะพลาสติกทั่วโลก ว่ามีวิธีการจัดการอย่างไรและผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
 

 

สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ เก็บภาษีถุงพลาสติกและห้ามใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง
 
ปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา อังกฤษเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในร้านค้าใหญ่ ๆ ใบละ 5 เพนซ์ (2.14 บาท) นอกจากนี้ยังอังกฤษมีแผนที่จะนำระบบมัดจำขวดพลาสติกมาใช้ รวมถึงในการประชุมเครือจักรภพอังกฤษได้เสนอให้มีการห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และก้านสำลีแคะหูอีกด้วย
 
ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 80% และคาดว่าการลดการใช้ถุงพลาสติกในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยสามารถลดงบประมาณค่ากำจัดขยะมูลฝอยได้ถึง 60 ล้านปอนด์ และยังลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 13 ล้านปอนด์
 

 

ไอร์แลนด์ ผู้บุกเบิกเก็บภาษีถุงพลาสติก
 
ปี ค.ศ. 2002 ไอร์แลนด์ เริ่มบังคับใช้การจัดการขยะโดยการเก็บภาษีถุงพลาสติก 15 ยูโรเซนต์ต่อใบ ผลลัพธ์จากนโยบายนี้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 90% และยังลดปริมาณขยะมูลฝอยได้จำนวนมาก
 
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาไอร์แลนด์ได้กลายเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกมากที่สุดในยุโรป ชาวไอร์แลนด์หนึ่งคนผลิตขยะพลาสติก 61 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งทำให้กลุ่มองค์กรอิสระเพื่อสิ่งแวดล้อม (The Environmental Pillar) ออกมาเรียกร้องให้ไอร์แลนด์เร่งหาแนวทางกำกับดูแลพลาสติกให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังได้รับความเพิกเฉยจากรัฐบาล
 

 

เดนมาร์ก ประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลาสติก
 
ปี ค.ศ. 2003 เดนมาร์กมีการเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้ค้าปลีก เพื่อกดดันให้ร้านค้าปลีกคิดค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับลูกค้า และยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ทำให้เดนมาร์คลดการใช้ถุงพลาสติกจากเดิมได้ถึง 66%
 
นอกจากนี้เดนมาร์คยังมีระบบมัดจำค่าขวดที่เก็บเงินค่าขวดพลาสติกเพิ่มจากราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดมาคืนเพื่อรับเงินที่มัดจำไว้ และนำขวดพลาสติกที่รวบรวมได้จะนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งทำให้เดนมาร์กสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกที่รับคืนในระบบ
 

 

เยอรมนี เมืองแห่งขยะรีไซเคิล
 
ปี ค.ศ. 1996 เยอรมันออกกฎหมายควบคุมขยะมูลฝอยในทุกภาคส่วนของประเทศไม่ว่าจะเป็นผลิต ขาย หรือแม้แต่บริโภค เยอรมนียังเป็นประเทศที่คัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง กลายเป็นธรรมเนียมทางสังคมไปแล้ว  นอกจากนี้มีการเก็บภาษีรีไซเคิลจากร้านค้าทุกร้านที่มีถุงพลาสติกให้แก่ลูกค้า  และยังมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคส่งคืนขวดเพื่อรีไซเคิลต่อไปได้ 
 
มาตรการนี้ทำให้บริษัทเครื่องดื่มเลือกผลิตขวดที่สามารถใช้ซ้ำออกสู่ตลาด ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมากเมื่อเทียบกับการผลิตขวดใหม่ โดยในปีแรกหลังดำเนินนโยบายนี้ขวดพลาสติกในท้องตลาดเป็นขวดชนิดใช้ซ้ำได้ (multi-use bottles) 64% และต่อมาการใช้ขวดชนิดนี้ก็ลดลงเหลือ 46%
 

 

สวีเดน ระบบจัดการดีจนประเทศขาดแคลนขยะ
 
ปี ค.ศ. 1940 สวีเดนกลับเริ่มต้นโครงการในการคัดแยกขยะ และนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงาน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในโลกยังไม่มีใครตระหนักหรือสนใจกับปัญหาขยะและคิดถึงเรื่องรีไซเคิลแม้สักนิด จนปัจจุบันสวีเดนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลอย่างมาก ขยะในประเทศสามารถนำไป reuse ได้เกือบทั้งหมด มีเพียงแค่ 4% ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้และต้องนำไปถมที่แทน 
 
อีกทั้งยังมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศถึง 810,000 ครัวเรือน และโครงการนี้นี่เองที่ทำให้สวีเดนขาดแคลนขยะในการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จนต้องรับซื้อขยะจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ปีละมากกว่า 800,000 ต่อปี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
 
สวีเดนยังมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่เก็บเงินค่าขวดจากผู้บริโภคหากไม่นำขวดที่ใช้เสร็จแล้วไปคืน ณ จุดรับคืน จึงทำให้สวีเดนมีขวดพลาสติกที่รีไซเคิลได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกทั้งหมด
 
ปัจจุบันสวีเดนยังให้ความสนใจกับการกำกับดูแลถุงพลาสติก ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้บริโภครายงานปริมาณการผลิตและใช้ถุงพลาสติกต่อ Swedish Environmental Protection Agency และสวีเดนกำลังริเริ่มระบบมัดจำถุงพลาสติก 0.5 โครนาสวีเดน (1.86 บาท) ต่อใบ โดยเมื่อผู้บริโภคนำถุงมาคืนก็จะได้รับเงินคืน เพื่อป้องกันการทิ้งถุงพลาสติกไปอย่างเสียเปล่า
 

ออสเตรเลีย ลด 1 ใน 3 ของถุงพลาสติกได้ 
 
เมื่อปี ค.ศ. 2011 ออสเตรเลียมีการห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิด PE แบบใช้ครั้งเดียวทุกชนิดที่บางกว่า 35 ไมครอน โดยรัฐบาลออสเตรเลียรณรงค์ให้พลเมืองใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (reusable bags) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการห้ามนี้ก็ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถกำจัดขยะพลาสติกที่จะส่งไปหลุมฝังกลบได้ถึง 1 ใน 3 จากปริมาณเดิม
 
รัฐควีนส์แลนด์และรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย จากเดิมที่ห้ามแค่ถุงพลาสติกที่บางกว่า 35 ไมครอน เป็นห้ามถุงพลาสติกชนิดที่หนากว่าด้วย โดยการห้ามครั้งนี้เป็นความพยายามที่ต้องการลดขยะถุงพลาสติกให้มากกว่าเดิม เนื่องจากปริมาณขยะถุงพลาสติกทั้งประเทศมีจำนวนมากกว่า 3.2 พันล้านตันต่อปี
 
ล่าสุด ออสเตรเลียมีความเคลื่อนไหวเรื่องพลาสติกอีกครั้ง ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่แบบหลายสาขาในออสเตรเลีย ได้เริ่มนำมาตรการไม่ให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแก่ลูกค้าเพื่อลดพลาสติกอีกด้วย
 

 

สหรัฐอเมริกา ออกกฎควบคุมพลาสติกแค่บางรัฐ
 
ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง อเมริกา แม้ยังไม่มีคำสั่งห้ามหรือการเก็บภาษีกับถุงขยะพลาสติกทั่วประเทศ แต่ก็มีบางรัฐที่ออกมาตรการควบคุมพลาสติก
 
ปี ค.ศ. 2007 ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกของอเมริกาที่มีการห้ามถุงพลาสติกเด็ดขาด ซึ่งนโยบายนี้ได้ผลักดันให้ชาวเมืองใช้ถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้ (reusable bags) ด้วยการวางขายถุงกระดาษใส่ของที่ย่อยสลายได้ไว้ที่จุดแคชเชียร์ จากนโยบายนี้ทำให้มลพิษจากถุงพลาสติกได้ถึง 72%
 
ปี ค.ศ. 2009 วอชิงตันดีซีก็มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกเหมือนกัน โดยภาษีที่เก็บได้ถูกนำเข้ากองทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายนี้ก็สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 85%
 

 

จีน ขยะพลาสติกสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี
 
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จึงไม่แปลกที่อัตราการใช้ถุงพลาสติกจะสูงตามไปด้วย พบว่าใน 1 ปี ทั่วทั้งประเทศสร้างขยะถุงพลาสติกสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี (คิดเป็นการใช้ถุงพลาสติกถึงประมาณ 3,000 ล้านใบ/วัน)
 
เมื่อปี 2008 รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งห้ามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าจัดเตรียมถุงพลาสติกฟรีที่มีขนาดบางกว่า 0.25 มิลลิเมตรให้กับลูกค้า และเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อใช้ถุงพลาสติก ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้จีนลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 40,000 ล้านใบ แต่ในร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ก็ยังคงมีให้ถุงพลาสติกฟรีอยู่
 

 

ญี่ปุ่น  มีวิธีการจัดการขยะมากมาย
 
คนญี่ปุ่นทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการจัดการขยะ ประกอบกับกฎหมายซึ่งนำมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในด้านการจัดการขยะสูง
 
ปี ค.ศ. 2002 ญี่ปุ่น ส่งเสริมให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยคำนึงถึงหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle)  ซึ่งได้มีการออกกฎหมายเฉพาะตามลักษณะของผลิตภัณฑ์  เช่น  การคัดแยกขยะ  จัดเก็บภาษีถุงพลาสติกสติกเกอร์สะสมแลกเป็นเงิน กฎหมายรีไซเคิลภาชนะและบรรจุภัณฑ์ กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้า กฎหมายรีไซเคิลขยะเศษอาหาร กฎหมายรีไซเคิลขยะจากการก่อสร้าง และกฎหมายรีไซเคิลยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เป็นต้น  นโยบายนี้ลดการทิ้งขยะลงถึง 40%
 

 

ไต้หวัน ประเทศน้องใหม่มาแรงด้านการจัดการพลาสติก
 
ปี ค.ศ. 2018 ไต้หวันประกาศถึงมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งจะห้ามอย่างครอบคลุมภายในปี ค.ศ. 2030  โดยในปี ค.ศ. 2019 ร้านอาหารและเครื่องดื่มในไต้หวันจะงดการให้หลอดฟรีในร้านอาหาร และในปี ค.ศ. 2050 ชาวไต้หวันจะต้องจ่ายเงินหากมีการใช้หลอดพลาสติกอยู่
 
นโยบายนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก แต่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน หลียิ่งหยวน แสดงความมั่นใจว่า วิถีชีวิตแบบใช้พลาสติกน้อยลงนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่มากกว่า ทั้งยังลดขยะที่เกลื่อนกลาด ถังขยะจำนวนน้อยลง รวมถึงได้ชายหาดที่สะอาดขึ้นอีกด้วย
 

 

บังกลาเทศ ปรับหนักถึง 2,000 ดอลลาร์
 
ปี ค.ศ. 2002 ประกาศกฎหมายทั้งห้ามผลิตและให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งละ 2,000 ดอลลาร์ เหตุเพราะบังกลาเทศขาดการจัดการกับระบบขยะทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 1988 และปี 1998 โดยขยะจำนวนมากไปอุดตันในท่อระบายน้ำ
 
มาตรการดังส่งผลให้ชาวบังกลาเทศไม่กล้าใช้และทิ้งถุงพลาสติกตามท้องถนน จึงทำให้ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก
 

 

ASEAN (กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาร์)
 
อินโดนีเซีย ปี ค.ศ. 2016 อินโดนีเซียใช้งบประมาณถึง 1 พันล้านในการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทดลองเก็บภาษีถุงพลาสติก แม้ในช่วงต้นจะเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้จำนวนมาก
 
กัมพูชา ปี ค.ศ. 2019 กัมพูชาตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 50%  โดยเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค ขณะที่ทางการกำลังพิจารณาห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.03 มิลลิเมตร และมีความกว้างน้อยกว่า 30 เซนติเมตร โดย ภายใน และจะเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในปี 2020
 

 

เมียนมาร์ ปี ค.ศ. 2009 บริษัทผู้ผลิตถุงพลาสติกในย่างกุ้งได้รับคำสั่งจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ยกเลิกการผลิตถุงพลาสติกได้ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกในหลายเมือง อาทิเช่น มัณฑะเลย์ บากัน และเนปิดอว์ นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาร์ยังประกาศให้พื้นที่เมืองมิตจีนาและเมืองสะกายเป็นพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกอีกด้วย  และยังยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกในเมืองย่างกุ้ง
 
มาเลเซีย ปี ค.ศ. 2015 เก็บภาษีถุงพลาสติกเฉพาะเขตเมืองปีนัง พร้อมทั้งรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟมเฉพาะวันเสาร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2016  ทั้งยังแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ด้วยการกำหนดให้ผู้ค้าปลีก ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องยอมรับข้อกำหนดนี้ เมื่อสมัครหรือต่ออายุใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ ผู้ซื้อต้องการใช้ถุงพลาสติก ต้องจ่าย 20 เซ็นต์ต่อถุงพลาสติก 1 ใบ
 
ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล และทิ้งมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่งผลให้รัฐบาลออกมาตรการลด และยกเลิกการใช้พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ แต่ก็อาจส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดสูงขึ้น จากการเปลี่ยนไปของบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
 

 

ทำให้ไทย เริ่มตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะพลาสติก ปี ค.ศ. 2019 โดยตั้งเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก บางประเภท เช่น พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลิกใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก ภายในปี ค.ศ. 2022
คาดจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย ได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี
 
ทั่วโลกตื่นตัวกับการลดพลาสติกเป็นอย่างมาก รวมถึงไทยที่หันมาตื่นตัวออกนโยบายอย่างจริงจัง ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มง่าย ๆ จากการลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน เรียนรู้วิธีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แม้ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาพลาสติกด้วยวิธีนี้อาจจะไม่ช่วยให้พลาสติกหมดไปโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่จะปล่อยให้ปัญหาขยะล้นเมืองโดยไม่ลดลงเลย
Visitors: 621,032