Climate Change คุกคามประเทศเกาะเล็กๆ หายจากแผนที่โลก

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency/
วันที่โพสต์ :  18 มิ.ย. 2562
       
Climate Change คุกคามประเทศเกาะเล็กๆ หายจากแผนที่โลก

ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ที่กำลังจะจมทะเลเหล่านี้กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และนี่คือสิ่งที่ประเทศอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้จากพวกเขา

การเดินทางไปยังหมู่บ้านวูนิโดโกรัว ประเทศฟิจิ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่มายังสนามบินนานาชาติบนเกาะหลักที่ห่างไกลของฟิจิแล้ว ผู้เดินทางต้องต่อเครื่องบินเล็กขนาด 19 ที่นั่งไปยังเกาะรองที่ห่างออกไปอีก 140 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์อีกหนึ่งชั่วโมงเพื่อเดินเท้าตามผู้นำทางท้องถิ่นไปยังหมู่บ้านที่กำลังจะจมน้ำแห่งนี้

ครั้งหนึ่งหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าร้อนชื้นแห่งนี้เคยมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 100 คน ก่อนที่มันจะถูกโจมตีด้วยภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาจากชายฝั่งเดิมถึง 300 ฟุต และบ่อยครั้งที่ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมาถึงระดับหัวเข่าในบ้านของพวกเขาเอง ในบางครั้งชาวบ้านต้องแขวนทรัพย์สินมีค่าไว้บนที่สูงและวิ่งขึ้นไปหลบบนเนินเขา

“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ทำลายวิถีชีวิตของพวกเรา” ไซโรซี รามาตู ผู้นำหมู่บ้าน กล่าว

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อห้าปีก่อนชาวบ้านทั้งหมดต้องตัดใจทิ้งหมู่บ้านของพวกเขา รัฐบาลฟิจิได้สร้างที่อยู่อาศัยใหม่บนเนินเขาที่ห้างไกลออกไปราวๆ หนึ่งไมล์ให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ วูนิโดโกรัว ถือเป็นหมู่บ้านแห่งแรกในฟิจิที่ถูกทิ้งร้างจากปัญหาโลกร้อน และมันคงไม่ใช่หมู่บ้านสุดท้าย

แฟรงค์ ไบนิมารามา นายกรัฐมนตรีของฟิจิ ได้ออกมาระบุว่า ยังมีหมู่บ้านอีกกว่า 40 แห่งที่อาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับวูนิโดโกรัวและชาวบ้านต้องอพยพ หากระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มสูงขึ้น

การทิ้งถิ่นของชาววูนิโดโกรัวสะท้อนถึงการคุกคามของการเปลี่ยนทางสภาพอากาศต่อมนุษย์ว่ามีอยู่จริง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกาะขนาดเล็ก เช่น ฟิจิ ที่ในช่วงหลายปีมานี้ต้องเผชิญกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติถี่ขึ้นทั้งปัญหาพายุถล่มและน้ำท่วม ในแต่ละปีฟิจิได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5% ของจีดีพี

ในบางปี เช่นปี 2016 พายุไซโคลนวินสตันสร้างความเสียหายในกับฟิจิมากถึง 20% ของจีดีพี ประเทศหมู่เกาะข้างเคียงอื่นๆ เช่น ตูวาลู คิริบาติ และหมู่เกาะมาร์แชล ก็ได้รับความเสียหายใกล้เคียงกัน

นักวิทยาศาสตร์หลายรายคาดการณ์ว่าประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเช่นนี้ต่อไปอีกอีกนับศตวรรษ หากอุณหภูมิของโลกยังเพิ่มสูงขึ้นและในกรณีเลวร้ายประเทศเหล่านี้อาจหายไปจากแผนที่โลกโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยเหลือตัวเอง กลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กทั่วโลก เช่น ฟิจิ มัลดีฟ และบาฮามาส ได้ร่วมกันทำแคมเปญกระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้น จนนำไปสู่การจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของประเทศต่างๆกว่า 180 ประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2016

หนึ่งในเป้าหมายของความตกลงปารีส คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตระหนักว่าความพยายามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากสร้างความตระหนักและตื่นตัวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศทั่วโลกแล้ว ฟิจิและกลุ่มประเทศขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกยังตั้งเป้าจะลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ อีกด้วย โดยฟิจิตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ปลอดการผลิตก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 ขณะที่หมู่เกาะมาร์แชล ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 ส่วนหมู่เกาะคุกตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือก 100% ภายในปี 2020

“แม้ว่าเป้าหมายของพวกเราจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิโลกโลกในภาพรวมได้ไม่มาก แต่เราต้องการแสดงให้เห็นความจริงจังและความสำคัญของปัญหาเรื่องสภาพอากาศนี้” ไบนิมารามา กล่าว

ความพยายามของประเทศขนาดเล็กเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในหลายประเทศ หนึ่งในกรณีตัวอย่างคือเมื่อครั้งที่ คลาวเดีย รอธ รองประธานสภาเยอรมนี (German Bundestag) เดินทางมายังหมู่บ้านวูนิโดโกรัวเพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ภาพของหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างทำให้เธอถึงกับพูดไม่ออกและเสียน้ำตา จนกล่าวออกมาว่า “การปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ลงมือทำอะไรเลยถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง”

ภายหลังเยอรมนีได้มีการผลักดันวาระปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เบนความสนใจในปัญหาสภาพภูมิอากาศไปยังที่ปัญหา Brexit มากขึ้น และสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้ผู้นำชื่อโดนัลล์ ทรัมป์ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก แต่ ไบนิมารามา กล่าวว่า ประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างฟิจิและหมู่เกาะอื่นๆ จะเดินหน้าผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้เป็นวาระสำคัญของโลกต่อไป

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เดินทางไปเยือนฟิจิ โดยเขาให้คำมั่นว่า สหประชาชาติจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกต่อไป

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ประเทศบนโลกกว่า 200 ประเทศ มาร่วมมือกันและต่อสู้ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน การจะทำสิ่งนี้ได้ผู้นำและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของแต่ละชาติจะต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ แต่ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โลกจะต้องเผชิญกับความโกลาหลของภัยธรรมชาติที่เพิ่มจำนวนและความรุนแรงขึ้น ซึ่งนั่นอาจหมายถึงจุดจบของพวกเขาทุกคน” กูเตียเรส กล่าว

Visitors: 621,158