ไบโอฮับ’จุดเปลี่ยนคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่

 
แหล่งที่มา : www.matichon.co.th วันที่โพสต์ :  1 มิ.ย. 2562
       
ไบโอฮับ’จุดเปลี่ยนคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่

ผู้เขียน : ดร.ณัฐพล รังสิตพล

สวัสดีครับ FC คิด เห็น แชร์ ทุกท่าน วันนี้ขอแชร์เรื่องที่ยังคงคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับภาคการผลิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมต่อจากเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้แชร์ให้ทุกท่านอ่านไปแล้วในครั้งก่อนนะครับ


ณ วันนี้ เมื่อเอ่ยถึง อุตสาหกรรมชีวภาพ  หรือ อุตสาหกรรมไบโอ  ผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูบ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตรและสร้างรายได้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นกระแสฮอตฮิตที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ ขณะที่บ้านเราเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้มานานแล้วเช่นกัน เพียงแต่อาจจะคุยกันในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม กระทั่งเมื่อปี 2558 รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวภาพ รวมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) หรืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ทำให้ทุกวันนี้หันไปทางไหน   ก็จะได้ยินคำว่า “ไบโอ” เต็มไปหมด

จุดสตาร์ตของเรื่องที่จะแชร์ในครั้งนี้ เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาค หรือ “ไบโอฮับของอาเซียน” (Bio Hub of ASEAN)  ถือเป็นความพยายามในการสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจไทย จากการแปรรูปสินค้าเกษตรแบบเดิมที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่การแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอีกหลายเท่าตัว โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักภาครัฐ ได้เร่งปรับแก้กฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว อาทิ การนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ การตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ โดยปรับเงื่อนไขให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น และการเพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าไบโอพลาสติกเพิ่มขึ้น


สำหรับภาคเอกชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไบโอของประเทศ ต่างก็มีความคืบหน้าแล้ว โดยขณะนี้มีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว 9,740 ล้านบาท ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทำการผลิตน้ำยาล้างไต ไบโอพลาสติก และเมทิลเอสเทอร์ ซึ่งหากภาครัฐปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานได้แล้ว ภาคเอกชนจะสามารถเดินเครื่อง “โครงการไบโอรีไฟเนอรีคอมเพล็กซ์” (Biorefinery Complex) เพื่อผลิตไบโอเคมี (Biochemicals) ใน จ.นครสวรรค์ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 41,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 และเมื่อสิ้นสุดระยะดำเนินการ ในปี 2570 คาดว่าจะเกิดการลงทุนภายในประเทศเกือบ 200,000 ล้านบาท โดยจะผลิตสินค้าไบโอต่างๆ ตั้งแต่ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี จนถึงไบโอฟาร์มา (Biopharma) เช่น ยาชีววัตถุ วัคซีนขั้นสูง


ความฮอตของอุตสาหกรรมไบโอยังไม่หมดเท่านี้ จะเห็นได้จากผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยโครงการที่มีแผนการลงทุนชัดเจน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว คือ “โครงการ  ไบโอฮับเอเชีย” และ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้” ใน จ.ฉะเชิงเทรา และ “โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์”  ใน จ.ลพบุรี มีเม็ดเงินลงทุนรวม 94,500 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการเหล่านี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยสร้างไบโอฮับในพื้นที่ศักยภาพใหม่ของประเทศ เพิ่มเติมจากพื้นที่เดิม คือ อีอีซี (จ.ระยอง) ภาคเหนือตอนล่าง (จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์) และภาคอีสานตอนกลาง (จ.ขอนแก่น)


สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากให้ทุกท่านมองอุตสาหกรรมไบโอว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรและชุมชน มากกว่าการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งการบ้านสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันหาคำตอบให้กระจ่าง คือจะทำอย่างไรให้โรงงานไบโอสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงการเปลี่ยนมุมคิดและสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอจะช่วยดึงดูดการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล และจะนำมาซึ่งแต่สิ่งดีๆ ให้กับชุมชน


แม้การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ไบโอฮับของอาเซียน” จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอะไรซักอย่างให้สำเร็จบริบูรณ์คงไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากทุกฝ่ายรวมพลังร่วมด้วยช่วยกัน และเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ผมมั่นใจว่าเราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก และเมื่อถึงวันนั้นระบบเศรษฐกิจของประเทศจะยกระดับอีกขั้นไปสู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” หรือไบโออีโคโนมี (Bioeconomy) อย่างแน่นอนครับ

Visitors: 630,913