เรียนเล่นอย่างไรให้ไม่สร้างขยะ : แอบมองหลักสูตรการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  6 มิ.ย. 2562
       
เรียนเล่นอย่างไรให้ไม่สร้างขยะ : แอบมองหลักสูตรการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก
โดย พิชา รักรอด

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องเปลี่ยนมุมมองของเด็กต่อบรรจุภัณฑ์ ไม่ให้เขามองทุกอย่างเป็นขยะ” ครูต้อ สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์ กล่าวขึ้นในระหว่างที่เราไปเยี่ยมชมโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการขยะ โรงเรียนอนุบาลทับสะแก

เรายอมรับอย่างไม่เขินอายเลยว่า ความตั้งใจแรกของการไปเยี่ยมชมโรงเรียนคือ เราไปตามคำบอกเล่าแกมเชิญชวนของเครือข่ายที่ทำงานด้านการอนุรักษ์เต่าทะเล จ.ประจวบคีรีขันต์ เราตอบรับคำเชิญชวนนั้นด้วยความอยากไปเห็นว่าเราสามารถสนับสนุนโรงเรียนด้านการจัดการขยะอะไรได้บ้าง แต่หลังจากได้คุยกับครูต้อแค่เพียงไม่กี่ประโยค เราทราบโดยทันทีเลยว่า เราซึ่งเป็นผู้เยี่ยมเยือนจะได้รับแนวคิด ความรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติก และได้เห็นโรงเรียนที่เป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ดีกลับไป  

วัยอนุบาล : จุดเริ่มต้นที่มั่นคงในการเรียนรู้และปลูกฝัง

ครูต้อเดินนำพวกเราไปดูการจัดการขยะหลังห้องของเด็กน้อยวัยอนุบาล ครูชี้ให้ดูถังขยะหลังห้องเรียนที่ภาพในจินตนาการของหลายคนน่าจะเป็นถังขยะที่มีทุกชนิดของขยะอยู่ในนั้น แต่ที่นี่ ไม่ใช่เลย เราเห็นถังขยะเปล่าที่แทบไม่มีขยะปรากฏให้เห็นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

“เราเริ่มจากการสอนเขาตั้งแต่สิ่งที่เขาต้องจับ ต้องเห็นอยู่ทุกวัน นั่นก็คือ นม เด็กต้องดื่มนมทุกวัน เราจะบอกเขาไม่ให้เขาตัดถุงนมจนขาด เพราะถ้าขาด เศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะกลายเป็นขยะทันทีและยากต่อการจัดการ และนมที่เหลือก้นถุง เราจะนำไปทำปุ๋ยค่ะ”

ปุ๋ย! เสียงในหัวเราดังก้องทันทีที่คิ้วเราขมวดตามจนครูต้อสังเกตเห็นความฉงนของอาคันตุกะ ท่านจึงเริ่มอธิบายเพิ่มว่า “เราทำปุ๋ยหมักจากนมที่นักเรียนดื่มแล้วเหลือไม่กี่หยดบริเวณก้นถุง โดยใช้กากน้ำตาล 1 กก. และจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร ที่ทางโรงเรียนเพาะเชื้อเองมาหมักรวมกัน เพื่อฟื้นฟูดินแข็งที่ปราศจากแร่ธาตุให้เป็นดินที่มีความชุ่มชื้น ปลูกต้นไม้ได้ และพวกเศษใบไม้หรืออินทรียวัตถุอื่นๆ เราก็เอามาหมักทำปุ๋ยเช่นเดียวกันค่ะ”

ขยะหายไปจากโรงเรียนเพราะแม่ค้าหยุดแจกหลอดและแก้วพลาสติก

 

ในขณะที่ฟังครูเล่าเรื่องขยะ สายตาเราก็มองไปรอบๆ โรงเรียนที่แทบไม่พบเศษขยะเกลื่อนโรงเรียนเลย เราเริ่มตั้งคำถามกับคุณครูว่า ในขณะที่ทางโรงเรียนสอนนักเรียนเรื่องการไม่สร้างขยะ แล้วคุณครูมีวิธีจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นในโรงอาหาร ซึ่งมีคนภายนอกเข้ามาขายอาหารด้วยอย่างไร

“เราใช้วิธีคุยอย่างจริงใจกับพ่อค้าแม่ค้าเลยค่ะ ว่าไม่ใช้หลอดพลาสติกและแก้วพลาสติกได้ไหม ให้นักเรียนนำแก้วส่วนตัวของตนเองมาใส่เครื่องดื่มแทน ส่วนไอศกรีมก็เปลี่ยนจากแบบใส่ถุงสำเร็จรูปมาแล้วมาเป็นแบบตักแทน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนงานครัว ทางแม่ครัวก็จะล้างถุงที่ได้จากการซื้อผักมาเก็บไว้ใช้ซ้ำด้วย หลังจากเราใช้มาตรการไม่ใช้หลอดและแก้ว เชื่อไหมคะว่า ขยะแทบจะหายไปจากโรงเรียนเลย เมื่อก่อนยังมีเศษหลอดบ้าง ถุงพลาสติกบ้างจะเกลื่อนตามท่อระบายน้ำเลย แต่ตอนนี้มองไปทางไหนก็สะอาดตา” เราพยักหน้าหงึกๆ ตามคำพูดของครูโดยไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้เลย เรามองสีหน้าและแววตาครู เรารู้ว่าท่านภูมิใจมาก และเราก็รู้สึกภูมิใจกับบทบาทแม่พิมพ์ของชาติคนนี้ด้วยเช่นกัน

โครงการต้นกล้าไร้ถัง(ขยะ)

“เราทำโครงการต้นกล้าไร้ถังมา 3 ปีแล้วค่ะ โดยมีที่ปรึกษาคือ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ วิจัยโครงการชุมชนไทยไร้ถัง ในช่วงแรกๆ ครูยอมรับว่า ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจ เขาอาจจะยังมองไม่เห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกที่มันเข้าขั้นวิกฤต เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง ตอนนี้ทุกคนรู้แล้ว เขาเห็นลูกหลานเขากลับบ้านไปแล้วล้างแก้วเอง ล้างจานเอง และจัดการกับขยะของตนเองเป็น เขาก็ภูมิใจ เด็กที่เราสร้างวันนี้ ในตอนนี้เขาเหมือนเป็นต้นแบบให้ที่บ้านเขาได้ทำต่อไป จนตอนนี้ เราพบว่า ชุมชนรอบโรงเรียนก็เป็นชุมชนปลอดถัง และผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันต์ ก็ประกาศให้โรงเรียนในจังหวัดประจวบคีรีขันต์เป็นโรงเรียนไร้ถังแล้ว”

โครงการต้นกล้าไร้ถัง ใช้วิธีทยอยเอาถังขยะออกจากโรงเรียน พอเด็กเริ่มจัดการขยะได้ ก็ทยอยเอาถังออกทั้งหมด และแยกขยะทุกประเภทเท่าที่สามารถทำได้ เช่น กระดาษ เศษดินสอ ขยะย่อยสลายได้ กล่องนม เป็นต้น ทางโรงเรียนจัดตั้งโรงแยกขยะสำหรับแยกเพื่อนำไปทำปุ๋ยและขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปเป็นกองทุนสำหรับทำกิจกรรมเรื่องขยะของนักเรียนต่อไป และโรงเรียนตั้งศูนย์การเรียนรู้จัดการขยะ สำหรับเป็นที่ศึกษาดูงานแก่องค์กรภายนอก และเก็บผลงานสิ่งประดิษฐ์จากขยะของนักเรียนได้ด้วย

นำหลักการจัดการขยะใส่ลงในหลักสูตรการเรียนการสอน

ความพยายามที่ผลิดอกออกผลให้คนพบเห็นได้ชื่นใจนี้ ล้วนไม่ได้เกิดจากความโชคดี แต่เกิดจากความตั้งใจอย่างจริงจังและขันแข็งในการแก้ปัญหาขยะในโรงเรียนให้ได้ ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูประจำชั้นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้วย

“เรามองถึงความยั่งยืน เลยนำเรื่องการจัดการขยะลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของทางโรงเรียน เด็กวัยอนุบาล เราสอนให้เขารู้จักวัสดุและขยะ พอขึ้นป.1-3 เด็กรู้จักขยะแล้ว เราเริ่มให้เขารู้จักการคัดแยก ความแตกต่างของขยะมีพิษ ขยะติดเชื้อ และขยะที่นำไปทำอย่างอื่นต่อไม่ได้แล้ว ต้องทิ้งอย่างเดียว พอเป็นพี่คนโต ชั้นป.4-6 เราสอนให้เขาแยกละเอียดมากขึ้น ให้เขาหัดคิดว่า วัสดุที่เกิดจากการกินดื่มของเขา มันมีที่ไปที่ไม่ใช่ถังขยะ เริ่มสร้างภาวะผู้นำให้เขา เวลามีคนมาเยี่ยมชมโครงการ หรือเราตั้งจุดจัดการขยะตามงานต่างๆ เราจะให้เด็กเป็นวิทยากรบอกเล่าเรื่องราว เขาจะได้ภูมิใจด้วยว่าสิ่งที่เขาทำเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจแก่คนอื่นได้”

“เชื่อไหมคะ สิ่งสำคัญเลยคือ เมื่อแยกขยะแล้ว ขยะลดลงไปโดยปริยาย ซึ่งการลดขยะที่ต้นทางถือเป็นการแก้ไขวิกฤตขยะอย่างได้ผลที่สุด เมื่อก่อนเราผลิตขยะรวมประมาณ 15 ถังทุกวัน เศษอาหาร 70 กก. ตอนนี้ ขยะเหลือเพียง 0 ถัง และเศษขยะอินทรีย์ย่อยสลายได้เหลือแค่ 1 กก. เมื่อเรารู้ว่าเราผลิตขยะมากแค่ไหน และพลาสติกอะไรที่เราลดได้บ้าง เราก็เลิกใช้เลย จากที่ใช้หลอดวันละ 600 อัน ขวดน้ำพลาสติกกว่า 10 ลัง ตอนนี้เราเลิกหลอดและใช้ถังน้ำแทน คุณครูทุกท่านและนักเรียนจะพกแก้วและภาชนะส่วนตัว เราควบคุมการใช้ภาชนะทุกอย่างในโรงอาหาร ขยะเลยลดลงอย่างมากเลยค่ะ”  

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโรงเรียนก็คือ

หนึ่ง – วิกฤตขยะพลาสติกต้องการวิธีการจัดการที่มีความยั่งยืน และการหล่อหลอมเยาวชนให้เปลี่ยนวิธีคิดจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้จริง

สอง – เด็กฉลาดกว่าที่เราคิด เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เขาไม่ยี่หระต่อความสะดวกสบายที่น้อยลง และเขาเป็นพลังสำคัญที่ส่งผ่านแนวคิดนี้ไปสู่คนรอบข้างเช่นครอบครัวเขาได้ดีมากๆ

สาม – โรงเรียนถือเป็นผู้มีบทบาทนำในการสอนเยาวชน หลักสูตรการเรียนการสอนสามารถปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้

เราชื่นชมคุณครูโรงเรียนอนุบาลทับสะแกทุกท่านอย่างแท้จริง ที่ท่านลุกขึ้นมาเป็นแม่พิมพ์อันทรงคุณค่าผลิตบุคลากรให้มีแนวคิดไม่สร้างขยะและมีศักยภาพเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมได้ เพื่อให้โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีขยะพลาสติกน้อยลง จนถึงวันหนึ่งที่ไม่มีขยะพลาสติกหลงเหลืออยู่เลย

 
Visitors: 621,057