ไบโอพลาสติก จากเปลือกทุเรียน เปลี่ยนขยะเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 
แหล่งที่มา : 
www.facebook.com/PTT GLOBAL CHEMICAL
วันที่โพสต์ :  6 มิ.ย. 2562
       

ไบโอพลาสติก จากเปลือกทุเรียน เปลี่ยนขยะเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก


ฤดูกาลทุเรียนเวียนมาทีไร นอกจากเราจะได้ลิ้มรสความอร่อยของผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็น King of Fruit แล้ว ทราบหรือไม่ว่า “เปลือกทุเรียน” ที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากมายในช่วงที่มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดนี้ ถือเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับการนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ ทั้งนี้เพราะเปลือกทุเรียนมี “เซลลูโลส” ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์ คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส หรือ ซีเอ็มซี (Carboxymethyl cellulose, CMC) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด อาทิ อุตสาหกรรมซักฟอก สิ่งทอ กระดาษ เซรามิก สี กาว อาหารและยาต่างๆ รวมทั้ง ยังนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหนืด สารยึดเกาะ (binder) และสารคงสภาพ (Stabilizer)


จากข้อมูลการวิจัยของ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ในเปลือกทุเรียน มีเซลลูโลสอยู่ประมาณ 30% ซึ่งสามารถนำมา ใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียม คาร์บ๊อกซีเมทิลเซลลูโลส หรือ ซีเอ็มซี สำหรับผลิตเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถย่อยสลายได้และมีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 


ปัจจุบัน ทีมนักวิจัยกรมวิชาการเกษตรได้ทดลองนำฟิล์มที่ได้จากกระบวนการแปรรูปเปลือกทุเรียนมาจัดทำเป็นซองบรรจุกาแฟ ซึ่งผลการทดลองมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีอัตราการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจนต่ำ สามารถปิดผนึกได้ด้วยความร้อน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแห้งได้ สำหรับคุณสมบัติด้านการย่อยสลายนั้น จากการทดสอบพบว่า ฟิล์มชนิดนี้ใช้เวลาภายใน 24 ชั่วโมงในการย่อยสลายจากการฝังกลบในดิน 


นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังคงทำการศึกษาต่อเนื่องในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในซอง รวมทั้ง การนำซีเอ็มซีไปเคลือบผลไม้แทนการเคลือบด้วยแว็กซ์


การนำเปลือกทุเรียนไปแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังถือเป็นการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย


ที่มา : กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร
 
   
Visitors: 634,107