Tesco Lotus ไม่น้อยหน้า ประกาศเลิกใช้แพ็คเกจจิ้งโฟมทุกชนิด เริ่ม 1 ก.ค. 62

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  30 พ.ค. 2562
       
Tesco Lotus ไม่น้อยหน้า ประกาศเลิกใช้แพ็คเกจจิ้งโฟมทุกชนิด
เริ่ม 1 ก.ค. 62

ยกเลิกใช้โฟม เป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด

เป็นทิศทางสำคัญของวงการค้าปลีกในประเทศไทยที่มีการตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกมากขึ้น ตั้งแต่ต้นที่ผ่านมาได้เห็นผู้เล่นค้าปลีกหลายรายมีนโยบายลด หรืองดใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจค้าปลีกมีส่วนสำคัญในการสร้างขยะรายใหญ่รายหนึ่งเช่นกัน

อย่างที่เมื่อวันก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ประกาศหักดิบ งดแจกถุงพลาสติกในทุกกลุ่มธุรกิจ เริ่ม 5 มิถุนายนที่จะถึงนี้ (อ่านเพิ่มเติม กลุ่มเซ็นทรัลหักดิบ! งดแจกถุงพลาสติกจริงจังทุกกลุ่มธุรกิจ ดีเดย์ 5 มิ.ย.นี้)

Tesco Lotus ที่เป็นหนึ่งในผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่ในไทย มีการเริ่มนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมมาหลายปีแล้ว แต่เริ่มมาเพิ่มความเข้มขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพราะคนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น

ถาดโฟม tesco lotus

ในปีนี้ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป พร้อมเพิ่มความเข้มข้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยโครงการแบบครบวงจรและมุ่งสู่การสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed loop packaging system) ต้องการลดขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียว (single-use packaging) และขยะพลาสติก

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส บอกว่า

ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ มีความตระหนักดีถึงบทบาทของเราในการช่วยบรรเทาปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ทำจากโฟมทุกชนิดในทุกสาขา โดยเราได้เริ่มทยอยเปลี่ยนจากโฟมมาใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และจะยกเลิกบรรจุภัณฑ์โฟมทุกรูปแบบได้ 100% ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ถาดเธอร์โมฟอร์ม

สิ่งที่ Tesco Lotus นำมาใช้แทนโฟมนั้น เรียกว่า ถาดเธอร์โมฟอร์ม (Thermoform)” ขึ้นรูปจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ถูกนำมาใช้แทนถาดพลาสติกและฟิล์มแบบเก่าสำหรับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ตัดแต่งและผลไม้พร้อมทาน

โดยถาดเธอร์โมฟอร์มทำมาจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% แต่ใช้พลาสติกน้อยกว่าปกติ ช่วยลดใช้พลาสติกปีละกว่า 400 ตัน หรือเทียบเท่าขวดน้ำพลาสติกขนาด 600 มิลลิลิตรจำนวน 26.6 ล้านขวดเมื่อเทียบกับถาดพลาสติกแบบเก่าที่เคยใช้นอกจากนี้ถาดเธอร์โมฟอร์มยังมีความสะอาดถูกสุขอนามัยและช่วยคงความสดของสินค้าเป็นการช่วยลดขยะจากอาหารอีกทางหนึ่ง

green packaging tesco

อีกทั้งยังมี Green Corner จำหน่ายบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบรนด์เฟสท์ (Fest) จากSCG ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทางเลือก และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานจากกล่องโฟมหรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยมีจำหน่ายที่ Tesco Lotus ไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ

จากการที่ยกเลิกถาดโฟมทั้งหมดทุกสาขานั้น จะสามารถลดการใช้โฟมได้ถึง 51 ล้านตันต่อปี หรือ 11.24 ล้านถาดต่อปี

10 ปี ลดถุงพลาสติกไปแล้ว 180 ล้านใบ

Tesco Lotus เป็นแบรนด์แรกๆ ที่มีนโยบายเรื่องลดขยะพลาสติก ได้เริ่มรณรงค์การงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 ใช้วิธีการ สร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาช้อปปิ้งเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส
สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

สลิลลา เล่าให้ฟังว่า จากที่ได้มีนโยบายนี้มา 10 ปีเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ในปีแรกๆ ลดจำนวนถุงพลาสติกได้น้อย เพราะลูกค้ายังไม่ค่อยเข้าใจ แต่เริ่มมาจริงจังเมื่อปีที่แล้วตอนมีข่าวเรื่องการตายของสัตว์ทะเล ห้างค้าปลีกเริ่มจับมือกับภาครัฐมีการงดแจกถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของทุกเดือน สร้างการรับรู้มากขึ้น เริ่มมีเทรนด์การไม่รับถุงพลาสติกเพิ่มเป็นเท่าตัว

ซึ่งในวันที่ 4 ที่งดแจกถุงพลาสติก Tesco Lotus ได้นำถุงกระดาษมาใช้แทนสำหรับลูกค้าที่จำเป็นต้องใช้ถุง เป็นการนำกล่องกระดาษจากการส่งของมารีไซเคิล ด้วยการส่งไปให้ทาง SCG ผลิตมาทำถุงกระดาษต่อ

tesco scg

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Tesco Lotus ได้ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้ว 180 ล้านใบ มอบแต้มคลับการ์ดไปแล้วกว่า5,690 ล้านแต้ม ในปีที่แล้วลดการใช้พลาสติกไปได้ 32 ล้านใบ และในปีนี้ช่วง 5 เดือนแรกสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้ว 10 ล้านใบ

ตอนนี้มันเป็นวิกฤตขยะ ถ้าปล่อยให้ทุกคนใช้แบบนี้ต่อไปประเทศจะอยู่ไม่ได้ ห้างค้าปลีกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของลูกค้า มีส่วนสร้างขยะ กับบรรจุภัณฑ์ เราก็ต้องดูแลผลกระทบจากธุรกิจ ไม่อยากให้ประเทศไทยติดอันดับขยะมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก ตอนนี้ต้องคิดให้ครบวงจร ทำร่วมกับหลายภาคส่วน คิดตั้งแต่การออกแบบภาชนะ ไปจนถึงปลายทางการนำกลับมาใช้ เป็น Closed Loop Economy ครบวงจร

นอกจากนี้ Tesco Lotus ยังมีสาขาที่ปลอดถุงพลาสติกจำนวน 5 สาขา ได้แก่ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์สาขาแอมพาร์ค,  สาขาซอยมัณฑนาสาขามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทสโก้ โลตัส ตลาด สาขาจามจุรีสแควร์ ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ใกล้มหาวิทยาลัย เพราะเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจปัญหานี้มากกว่า โดยจะมีขยายเพิ่ม 3 สาขาที่เกาะช้างในปีนี้

ส่วนของฟู้ดคอร์ทก็เริ่มมีการเปลี่ยนภาชนะด้วยเช่นกัน และกำลังพูดคุยกับร้านค้าเช่าภายใน Tesco Lotus ในการลดขยะพลาสติกต่อไป

ไทยยังไม่พร้อมมาตรการลงโทษด้วยการซื้อถุงพลาสติก

ส่วนประเด็นเรื่องถุงพลาสติกที่หลายคนมองว่าประทเศไทยน่าจะมีมาตรการเหมือนในต่างประเทศที่เป็นการ “จ่ายเงิน” เพื่อซื้อถุงพลาสติก หรือในทางเทคนิคจะเป็นมาตรการ การลงโทษ นั่นเอง

Photo : Shutterstock

สลิลลามองว่า ประเทศไทยยังไม่เหมาะกับการใช้การลงโทษด้วยการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้ถุงพลาสติก ต้องเริ่มจากการให้รางวัลการแจกแต้มก่อน ต้องค่อยๆ สร้างการรับรู้สร้างพฤติกรรมใหม่

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือถ้าใช้การลงโทษด้วยการคิดเงินค่าถุงพลาสติก จะต้องมีหลายๆ ฝ่ายร่วมมือกัน หรือมีผู้เล่นค้าปลีกหลายรายพร้อมใจกันใช้ ถ้าทำอยู่เจ้าเดียวจะดูแปลกแยก หรืออาจจะต้องมีกฎหมายเข้ามาช่วย

อย่างที่ Tesco ในประเทศอังกฤษมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก เพราะมีกฎหมายคิดเงินค่าถุงพลาสติก เพิ่งเริ่มเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีกฎหมายนี้แล้วเช่นกันอย่างในประเทศมาเลเซีย

โดยที่ Tesco ทั่วโลกมีเป้าหมายว่าจะต้องลดปริมาณการใช้แพ็คเกจจิ้งให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2025 ส่วนในประเทศไทยต้องค่อยเป็นค่อยไปเริ่มจากถุงพลาสติกถาดโฟมและเป้าหมายต่อไปคือกล่องกระดาษต้องการลดขยะมากขึ้น

สุดท้ายแล้วขอทิ้งท้ายด้วยตัวเลขจำนวนขยะในประเทศไทยที่มีมากถึง 27.82 ล้านตันต่อปี แสดงว่าคนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ปัญหาขยะส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะจากพลาสติกมีเฉลี่ยถุง 2 ล้านตัน แต่มีการนำกลับมาใช้เพียงแค่ 5 แสนตันเท่านั้น จึงกลายเป็นปัญหาขยะล้นโลกในตอนนี้

สรุป

เรียกว่าเริ่มมีนโยบายเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการลดขยะพลาสติก และแพ็คเกจจิ้งที่ใช้ครั้งเดียว ซึ่งโฟมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อม มีการย่อยสลายยาก การที่ Teso Lotus งดใช้ถาดโฟมไปเลยนั้นก็เป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่ความท้าทายก็ยังคงอยู่ที่การสร้างการรับรู้เรื่องการแยกขยะให้ลูกค้าด้วย

Visitors: 628,574