เปลี่ยนทัศนคติต่อขยะพลาสติก จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่

 
แหล่งที่มา : www.khaosod.co.th วันที่โพสต์ :  2 พ.ค. 2562
       
ดอมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ : เปลี่ยนทัศนคติต่อขยะพลาสติก
จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่
    

การคิดค้น ‘พลาสติก’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มนุษยชาติที่ถูกนำมาใช้ทำเป็นหีบห่อ ภาชนะ หรือเครื่องใช้ต่างๆ แต่นานวันเข้าเมื่อปริมาณการใช้เพิ่มมากขึ้น แปรผันตามกับจำนวนประชากร เมื่อพลาสติกที่มีคุณสมบัติคงทนแข็งแรงหมด ‘หน้าที่’ สุดท้ายก็กลายเป็น ‘ขยะ’ ที่ยากต่อการกำจัด กลายเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งยากต่อการแก้ไขฟื้นฟู

บทสนทนาครั้งนี้เราได้พบกับ ดอมินิก-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ หรือ คุณกู้ หนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ประธานโครงการ Precious Plastic Bangkok ผู้เปลี่ยนฝาขวดพลาสติก ให้กลายของใช้สุดพิเศษ

นอกจากบทบาทนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ‘คุณกู้’ ยังเป็นน้องชายของ ‘ฮิวโก้’ – จุลจักร จักรพงษ์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พื้นที่ที่ใช้พูดคุยครั้งนี้จึงเกิดขึ้นภายใน ‘วังจักรพงษ์’ ซึ่งมีมุมทำงานขนาดเล็กของคุณกู้ซ่อนตัวอยู่

คุณกู้เล่าว่าส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ กลับไทยบ้างช่วงเวลาสั้นๆ แต่ประมาณ 2 ปีที่แล้วได้ย้ายมาประจำที่ไทยถาวร ด้วยความที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม และเรียนจบมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้มองเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกของไทยที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต



“เกือบทุกก้าวที่เดินไปตามชายหาด จะต้องพบกับขยะพลาสติก ทั้งในแม่น้ำลำคลอง และเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยขยะพลาสติก” นี่คือคำพูดหนึ่งของคุณกู้ ที่แสดงออกถึงความเป็นห่วงอย่างชัดเจน อันเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผมก็ได้แต่ถามว่า เรายังจะทนอยู่ต่อไปแบบนี้หรอ?
มันถึงจุดที่พอได้แล้ว ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียที เพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกมากอันดับต้นๆ ของโลก

ตอนนั้นคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และต้องเริ่มจากในระดับชุมชน (Community) เท่าที่เห็นการทำงานของทางรัฐบาลจะมีขั้นตอนในการออกกฎหมายคุ้มครองและปกป้องสิ่งแวดล้อมช้า นอกจากนี้คนทั่วไปก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิลขยะ

จนวันหนึ่งผมจึงได้พบกับโครงการที่ชื่อว่า Precious Plastic ก่อตั้งโดย Dave Hakkens ชาวเนเธอแลนด์ ซึ่งโครงการนี้มีแบบแผนของการสร้างเครื่องบด และเครื่องหลอมพลาสติก ให้ดาวน์โหลดฟรี (พิมพ์เขียว) และสามารถนำไปประกอบเองได้ ผมจึงนำมาลองทำบ้าง และเลือกวิธีนี้เพราะเป็นการรีไซเคิลที่ง่าย และราคาถูก เพราะใช้เพียงฝาขวดพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว นำมาบดให้ละเอียด ก่อนนำมาหลอม และขึ้นรูปทรงต่างๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่ม Trash Hero ในเวลาต่อมา

โดยเดินทางไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และวิธีการเปลี่ยนรูปขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ และใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า

คุณกู้กล่าวตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า
“การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายครั้งต้องมีราคาที่ต้องจ่ายสูง หลายคนจึงเลือกทางที่ง่ายแทน”



แต่แนวทางของโครงการ Precious Plastic ไม่ต้องจ่ายแพงเลย แค่มีเครื่อง และฝาขวดพลาสติก โดยผมดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 9 เดือนที่แล้ว ซึ่งเริ่มแปรรูปฝาขวดและนำผลิตภัณฑ์มาขายได้ประมาณ 6 เดือน ช่วงแรกเป็นในขั้นของการทดลอง จะทำเป็นถ้วย ต่อมาเริ่มทำเป็นกระถางต้นไม้ และภาชนะรูปทรงที่หลากหลายมากขึ้น


โดยใช้กระบวนการแปรรูป 3 แบบ คือ Extrusion (หลอมละลายพลาสติกให้เป็นเส้นๆ ก่อนนำมาขึ้นรูปตามแบบ) Injection (หลอมละลายพลาสติก แล้วอัดฉีดใส่ลงบล็อก) และ Compression (นำพลาสติกที่บดแล้วใส่ลงบล็อก ก่อนกดอัดด้วยความร้อน)


ปัจจุบันได้ตั้งจุดรับฝาขวดประมาณ 10 แห่งทั่วเมือง เพื่อให้คนนำฝาขวดมาทิ้ง อีกทางหนึ่งผู้สนใจสามารถรวบรวมฝาขวดแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ (ตามแผนที่นี้ในลิ้งค์นี้)

ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ก็คือการรีไซเคิลฝาขวดน้ำ ที่เป็นพลาสติกประเภท 2 หรือที่เรียกว่า HDPE (High Density Polyethylene) เพราะหากนำส่วนที่เป็นขวดซึ่งเป็นพลาสติกประเภท PET (Polyethylene terephthalate) มาละลายในอุณหภูมิ 160 – 180 องศาเซลเซียส มันจะเกิดการไหม้ แต่สำหรับฝาขวดจะไม่เกิดการไหม้ เพราะเป็นพลาสติกที่มีคุณภาพสูง ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพขณะหลอมละลาย จึงเป็นที่มาของโครงการ Precious Plastic

ผลตอบรับตั้งแต่เริ่มโครงการ Precious Plastic

จนถึงตอนนี้รวบรวมฝาขวดมาได้ประมาณ 100 กิโลกรัม ผมมองว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างเยอะพอสมควร ถือเป็นตัวแสดงว่า คนเริ่มจะตระหนักว่าตัวเองกำลังสร้างมลพิษให้แก่โลกอยู่ และคนไทยก็อยากจะเป็นส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน



แต่ฝาขวดจำนวน 100 กิโลกรัม ยังถือว่าน้อยมากหากเทียบกับจำนวนพลาสติกที่เราใช้กันทั้งหมด เป็นเพียง ‘หยดน้ำ ในมหาสมุทร

ส่วนคำดูหมิ่นเรื่องนิสัยของคนไทยที่ยากจะเปลี่ยนแปลงนั้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกระบวนการแบบทีละเล็กทีละน้อย และจำนวนฝาที่ได้รับมาขนาดนี้ มันหมายความว่า ‘คนตระหนักรู้มากขึ้นแล้ว

“เราไม่ได้พยายามจะสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบมโหฬารขนาดนั้น เพราะหากเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดไป จะทำให้คนรู้สึกต่อต้าน ฝาขวดเป็นสิ่งเล็กๆ แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงได้ คนเราเปลี่ยนข้ามคืนไม่ได้”

Visitors: 628,877