Cheww.co ยาสีฟันแบบเม็ดที่อยากลดขยะหลอดยาสีฟัน 10,000 หลอดให้หายไปในปีแรก

 
แหล่งที่มา : https://adaymagazine.com
วันที่โพสต์ :  10 เม.ย. 2562
       
Cheww.co ยาสีฟันแบบเม็ดที่อยากลดขยะหลอดยาสีฟัน 10,000 หลอดให้หายไปในปีแรก

Highlights

  • - Cheww.co คือแบรนด์ยาสีฟันชนิดเม็ดที่ต้องการลดขยะจากหลอดยาสีฟัน เพราะเป็นขยะพลาสติกรีไซเคิลยากที่ไปจบลงที่ทะเลจำนวนมหาศาลในแต่ละปี มีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นคือ หลิว–เกวลิน ศักดิ์สยามกุล
  •  
  • - วิธีคิดในการทำแบรนด์คือการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นการหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่งและการใช้งานจริง
  •  
  • - นอกจากจะไม่ต้องใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ แบรนด์ Cheww.co ยังมีระบบการสมัครสมาชิกเพื่อส่งรีฟิลให้ถึงบ้านในห่อกระดาษ และสามารถพกภาชนะของตนเองไปเติมได้ที่ร้านอีโคโปรดักต์อีกหลายแห่ง

1.5 ล้านล้าน คือจำนวนของขยะหลอดยาสีฟันที่เราทิ้งกันทั่วโลก

และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรีไซเคิลหลอดยาสีฟันเหล่านี้ เพราะมันถูกผลิตโดยใช้ส่วนผสมจากวัสดุหลายชนิด ทำให้ยากในการแยกส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิลตามประเภทวัสดุ หลอดยาสีฟันจำนวนมหาศาลเลยกลายเป็นหนึ่งในพลาสติกจำนวนกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงทะเลในแต่ละปี

แถมนี่ยังไม่รวมถึงกล่องกระดาษที่เราซื้อมาปุ๊บก็แกะทิ้งปั๊บ แม้จะพอนำไปรีไซเคิลได้ แต่ก็ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองรวมถึงมลพิษในกระบวนการผลิตและการจัดการขยะอีกต่างหาก

ครั้นจะแก้ปัญหาด้วยการไม่ยอมแปรงฟัน ก็ดูไม่ค่อยถูกหลักสุขอนามัยสักเท่าไหร่นัก

เพราะเหตุนี้ เมื่อเห็นทางเลือกใหม่ในการแปรงฟันอย่าง ‘ยาสีฟันชนิดเม็ด’ ของแบรนด์ Cheww.co (อ่านว่าชิวว์ดอทโค) ที่ไม่ต้องง้อหลอดยาสีฟันพลาสติก สามารถเก็บใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เมื่อไหร่ที่ต้องการแปรงฟันก็หยิบขึ้นมาเคี้ยวให้ละเอียดแล้วแปรงตามปกติก็เป็นอันเรียบร้อย และนอกจากนี้ยังมีระบบซัพพอร์ตต่างๆ ที่ถูกคิดมาเพื่อลดขยะโดยเฉพาะ เราจึงสนอกสนใจเป็นอย่างยิ่ง และอยากทำความรู้จักกับมันให้ดีขึ้น จึงถือโอกาสชวนหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งอย่าง หลิว–เกวลิน ศักดิ์สยามกุล ที่รับผิดชอบเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และมาร์เก็ตติ้ง มาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเบื้องหลังยาสีฟันเม็ดดูสักที

รวมทีมคนอยากแปรงฟัน (แบบไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม)

ไอเดียการลงมือทำแบรนด์ยาสีฟันชนิดเม็ด เกิดจากสองเภสัชกรวัยใกล้เลขหกที่เป็นญาติของหลิว มาสะกิดชักชวนหญิงสาวในช่วงเวลาที่เธอเพิ่งออกจากงานดิจิทัลเอเจนซีเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อด้าน sustainable management ตามความสนใจของเธอ

หลิวบอกกับเราว่า อันที่จริงยาสีฟันชนิดเม็ดไม่ใช่ไอเดียที่ Cheww.co คิดค้นขึ้นเองเสียทีเดียว ในต่างประเทศก็มีแบรนด์ยาสีฟันชนิดเม็ดออกมาให้เห็นหลายเจ้า เพราะคนจำนวนมากเริ่มตระหนักและตื่นตัวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

แต่สาเหตุที่เธอตัดสินใจร่วมมือกับญาติ เพราะเธอเห็นว่าเรายังไม่มีทางเลือกเดียวกันนี้ในประเทศไทย และการต้องสั่งผลิตภัณฑ์อีโคมาใช้จากต่างประเทศ ก็จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงสักเท่าไหร่

พอตั้งใจจะผลักดันโปรเจกต์จริงจัง หลิวจึงติดต่อญาติอีกคนที่เป็นผู้จัดการด้านการขนส่งสินค้า และอาจารย์ของเธอที่เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนมาร่วมทีมกันในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

“ในทีมมีคนจากทุกเจเนอเรชั่นเลย ตั้งแต่เบบี้บูมฯ ถึงเจนฯ วายตอนปลาย พูดกันเล่นๆ ว่า ประสบการณ์ทำงานทุกคนรวมกันได้ 150 ปี มันเลยเกิดขึ้นได้เร็วมาก เป็นส่วนผสมของคนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เราเรียนดีไซน์ เขาเรียนเภสัชฯ อีกคนก็การจัดการจ๋าๆ มีจุดร่วมคือความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คิดว่าทำสิ่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเรา อยากใช้แต่ไม่มี” หลิวเล่าถึงจุดเริ่มต้น

“ก่อนที่เราจะทำ เราใช้ Life Cycle Assessment (LCA) เป็นตัวตั้งต้นว่าสิ่งที่เราทำกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ตั้งแต่ขั้นตอนที่จะได้มาซึ่งวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การขนส่ง ลูกค้าใช้แล้วต้องใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟ เพิ่มขึ้นหรือเปล่า การเอาไปทิ้งมันลำบากเขาหรือเปล่า ถ้า 5 ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรกระทบ เราถึงลงมือทำ” หญิงสาวเล่าถึงหลักการตั้งต้น

อัดแน่นเท่าที่จำเป็น

หน้าที่ของยาสีฟัน คือการรักษา ทำความสะอาดเหงือกและฟัน กำจัดเชื้อแบคทีเรีย และทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น การพัฒนาสูตรยาสีฟันเม็ดของ Cheww.co จึงคำนึงถึงความต้องการดังกล่าวโดยตัดส่วนผสมที่ไม่จำเป็นออก และที่สำคัญคือ ส่วนผสมทั้งหมดคัดสรรมาจากภายในประเทศเพื่อให้กระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อผลิตขึ้นมาได้สมใจก็ทดลองใช้กันภายในก่อนออกสู่ตลาดเพื่อทดสอบอาการแพ้

“ส่วนผสมหลักๆ ที่จำเป็นคือเกลือ ช่วยรักษาเหงือก มินต์และเมนทอล ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น และมีสารกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเคมีแต่เราดูแลไม่ให้ปริมาณมากเกินไป” หลิวอธิบาย

“ตัวที่วางขายเป็นเวอร์ชั่นที่ 7 และล่าสุดเพิ่งมีเวอร์ชั่นที่ 8 เป็นสูตรที่มีฟอง ออกมาได้ประมาณ 1 อาทิตย์ เพราะแบบเดิมไม่มีฟองแล้วคนไม่ชิน รู้สึกเหมือนไม่สะอาด เราก็อยากให้คนได้ใช้อะไรที่เขาชิน ไม่รู้สึกกลัว” เธอว่า

ส่วนรูปทรงของเม็ดยาสีฟันนั้น หลิวบอกว่าเป็นรูปทรงจากการรียูสโมลด์ขึ้นรูปยาเม็ดที่ทางโรงงานยามีอยู่ โดยเธอเลือกใช้โมลด์จากขนาดที่ต้องการ ในทีแรกเธอทำออกมาในขนาด 1,000 มิลลิกรัม แต่พบว่าเป็นปริมาณที่มากเกินไป ทดลองใช้แล้วต้องหักครึ่ง จึงเปลี่ยนมาใช้โมลด์ขนาด 700 มิลลิกรัมแทน โดยแบบไม่มีฟองจะเป็นรูปทรงคล้ายเมล็ดข้าว ส่วนแบบมีฟองจะเป็นทรง 6 เหลี่ยมที่มีตราประทับรูปตัว P แถมมาจากโมลด์เดิมแทนนั่นเอง

เติมยาสีฟันใหม่ในบรรจุภัณฑ์เดิม

จริงอยู่ที่พอไม่ได้มีลักษณะเป็นครีม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หลอดพลาสติก แต่หันมาใช้ขวดแก้วในการใส่ยาสีฟันแทน

แต่มันจะต่างไปจากเดิมอย่างไรหากผู้ใช้ต้องซื้อแพ็กเกจจิ้งที่เป็นขวดแก้วซ้ำๆ

ด้วยโจทย์นี้ Cheww.co จึงคิดค้นระบบการสมัครสมาชิกรายปีขึ้น โดยในครั้งแรกจะจัดส่งในขวดแก้วที่บรรจุยาสีฟันจำนวน 180 เม็ด สำหรับใช้เป็นเวลา 90 วัน แล้วส่งยาสีฟันสำหรับรีฟิลไปในซองกระดาษครั้งละ 180 เม็ด ทุกๆ 3 เดือน ให้ไปเติมในขวดเดิม โดยในส่วนนี้ก็ได้ความเชี่ยวชาญของผู้จัดการด้านการขนส่งสินค้ามาช่วยเฟ้นหาวัสดุสำหรับแพ็กและจัดส่งที่ปราศจากพลาสติก

“ระบบนี้เราได้มาจากการศึกษา case study ที่เมืองนอก แต่นำมาปรับ เพราะเมืองนอกเขาจะส่งช้ากว่านี้ ครึ่งปีส่งที แต่บ้านเราเป็นประเทศร้อนชื้น แม้เราจะมีกันชื้นให้ก็อาจจะอยู่ไม่ได้นาน เราจึงผลิตครั้งละน้อยๆ แล้วส่งทุก 3 เดือนเพื่อให้ลูกค้าได้ของที่มีคุณภาพ โดยช่วงเวลา 3 เดือนมีที่มาคือเป็นครึ่งหนึ่งของอายุกันชื้น น่าจะกำลังพอดี กันชื้นยังมีคุณภาพพอจะรักษาของข้างในเอาไว้ได้” หลิวอธิบาย

สำหรับคนที่อยากทดลองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีขวดเล็กขนาด 60 เม็ด ใช้ได้เป็นเวลา 1 เดือน และขวดจิ๋วขนาด 30 เม็ด ใช้ได้เป็นเวลา 15 วัน ที่หลิวตั้งใจให้เป็นไซส์ที่เหมาะกับการพกติดตัวเมื่อต้องเดินทางท่องเที่ยวแทนการซื้อยาสีฟันหลอดเล็กได้ด้วย

นอกจากนี้ หากใครมีร้านค้าขายสินค้าอีโคอยู่ใกล้บ้าน ก็สามารถหอบหิ้วขวดโหลหรือภาชนะของตัวเองไปตามร้านแล้วซื้อยาสีฟันชนิดเม็ดในปริมาณที่พึงพอใจได้เช่นกัน โดยในเวลานี้หลิวได้ติดต่อร้านค้าอีโคทั้งหมด 7 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

“เราโชคดีที่ธุรกิจสายสิ่งแวดล้อมจะต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่มีเซนส์ของการแข่งขันสูง เพราะไม่ว่าเดินไปทางไหนก็มีแต่คนอ้าแขนรับ ทุกคนน่ารักมาก เป็นพื้นที่ที่อบอุ่น ผิดกับที่เคยเจอ” หลิวยิ้ม

เป้าหมายคือการลดหลอดยาสีฟัน

“เป้าหมายในปีแรกของเรา คือการลดหลอดยาสีฟัน 10,000 หลอดให้หายไปจากวงจรขยะ” หญิงสาวพูดอย่างมุ่งมั่น

แต่เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบว่า ยาสีฟันในหลอดบีบหลอดหนึ่งนั้น ใช้ได้ยาวนานเท่าไหร่

เพราะแต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้ยาสีฟันที่แตกต่างกัน บ้างก็บีบยาวเต็มแปรงเหมือนในโฆษณา บ้างก็เชื่อฟังทันตแพทย์ บีบขนาดเท่าเมล็ดถั่ว แถมบางคนยังแชร์ยาสีฟันกับรูมเมต หรือคู่รักอีกต่างหาก

เพราะแบบนี้ เธอจึงวัดผลตามน้ำหนักของยาสีฟันที่เขียนข้างหลอด เทียบกับน้ำหนัก 0.7 กรัมของยาสีฟันชนิดเม็ดนั่นเอง

“ถ้าจะทำตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ เดือนแรกเราต้องมีคนใช้ร้อยกว่าคน ซึ่งเราทำได้แล้ว เดือนต่อไปต้องเพิ่มจำนวนคนใช้ให้ได้มากขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือน ถ้าเราทำได้ มีนาคมปีหน้าก็จะครบ 10,000 คนพอดี” ดวงตาของหลิวเปล่งประกาย

“แล้วเราก็อยากให้มันดับเบิลขึ้นไปทุกปี โคตรฝันสูงเลยเนอะ ถ้าเป็นไปได้ตามนี้อีก 5 ปีข้างหน้าก็จะลดไปได้ประมาณ 300,000 หลอดเลย จะดีมาก” เธอตั้งความหวัง

หลิวมองว่า ความท้าทายด้านการผลิตหรือราคาที่สูงเมื่อเทียบกับราคายาสีฟันทั่วไปนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะเธอไม่ได้แข่งกับแบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาด แต่แข่งกับความคิด ความเชื่อในการรักษาสิ่งแวดล้อมของคน รวมถึงเชื่อว่าอนาคตราคาการผลิตจะถูกลง ไม่ว่าจะทั้งจากการผลิตจำนวนมากขึ้นและการมีคู่แข่งมาตัดราคา ซึ่งหากเกิดขึ้นก็นับเป็นผลดีกับผู้ใช้

สำหรับเธอแล้ว ความท้าทายที่แท้จริงคือการรักษาคลื่นของการเปลี่ยนแปลง

“เราไม่อยากให้สิ่งนี้เป็นเทรนดี้โปรดักต์ ที่คนมาซื้อขนาดเล็กๆ แล้วก็ลืมมันไป แต่อยากให้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมจริงๆ ความท้าทายของเราคือทำอย่างไรให้เขารู้สึกชินกับมัน รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ทุกคนก็ใช้กัน ทำอย่างไรให้เรารักษาคนใหม่ๆ ที่เข้ามาลองใช้หันมาใช้เป็นประจำได้” เธอว่าอย่างนั้น

Cheww.co

ก่อนจะจากกัน เรานึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ถามถึงที่มาของชื่อแบรนด์

หญิงสาวหัวเราะเขินก่อนจะตอบว่า เธอใช้คำว่า chew ที่แปลว่าเคี้ยว เพราะขั้นตอนในการใช้ยาสีฟันชนิดเม็ดคือการเคี้ยวให้ละเอียดก่อนแปรง และสื่อถึงความต้องการให้ผู้ใช้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมกันแบบชิลล์ๆ ไม่รู้สึกว่ายากจนอยากยอมแพ้ และที่เติมจนเป็น Cheww.co นั้น เพราะเป็นเว็บไซต์ของแบรนด์ที่อยากให้คนเข้ามาเยี่ยมเยียนกันนั่นเอง

Visitors: 619,827