2 ปี EEC ผนึกกำลัง เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

 
แหล่งที่มา : www.eeco.or.th/ วันที่โพสต์ :  28 มี.ค. 2562
       
2 ปี EEC ผนึกกำลัง เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น
 

เลขาธิการ EEC แถลงผลงาน 2 ปี ของสำนักงานคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มั่นใจสามารถผลักดันประเทศไทยให้กลับมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้ง 5 โครงการ มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ครบทุกโครงการภายในเมษายน 2562 นี้ และตั้งเป้าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี รวมมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แถลงผลการดำเนินงาน 2 ปี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการวางกรอบการทำงานของ EEC ให้ชัดเจน โดยมีการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ทำให้เกิดการขับเคลื่อน EEC อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการวางผังการใช้พื้นที่ การร่วมทุนรัฐบาลและเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างสังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ในปี 2562 ซึ่งถือเป็นปีที่ 3 ของแผนการขับเคลื่อน EEC จึงยังต้องเดินหน้าภารกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบด้วย ​

         1. ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้ง 5 โครงการ มูลค่ารวม 650,000 ล้านบาท ผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่จะก่อสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี โดยมั่นใจว่าทุกโครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา), สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO), ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะได้ผู้ลงทุนและเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2562 นี้ และลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ทันก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สำหรับธุรกิจ MRO นั้น การบินไทยจะร่วมมือกับแอร์บัส ซึ่งเป็นเพียงเจ้าเดียวที่มีเทคโนโลยีซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส เอ380 โดยจะเป็นการลงทุนเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในสมาร์ทแฮงการ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสัญญาขั้นสุดท้าย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญของเอเชียอีกครั้ง

         2. เร่งรัดการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ได้ 500,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งจะสร้างงานใหม่ ไม่น้อยกว่า 475,000 ตำแหน่ง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในภาพรวมขยายตัวดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสามารถดึงโครงการลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากปี 2560 ที่มีมูลค่าการลงทุน 300,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 670,000 ล้านบาท ในปี 2561 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 เป็นประมาณ 4.2% ในปี 2561 และการลงทุนเอกชนขยายตัว 3 ปีต่อเนื่อง โดยขยายตัว 5.5% ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนจริงใน EEC 

         นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อยกระดับความสามารถดูแลประเทศ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IoT และสตาร์ทอัพรวมทั้งสานต่อการใช้การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว 

  

 

        3. เดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม (อากาศ น้ำ ของเสีย) ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ และพลังงาน ส่วนการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ของ EEC ทั้ง 3 จังหวัด ทางสำนักงาน EEC จะพยายามเร่งรัดให้ประกาศใช้ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 คาดว่าร่างแรกจะแล้วเสร็จเมษายนนี้ จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำความเห็นมาประกอบการพิจารณาและปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ก่อนประกาศใช้ 

       4. จัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยี และเมืองอัจฉริยะ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ Digital Park Thailand ให้เดินหน้าต่อตามแผนงาน รวมทั้งวางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบัง และเกาะสำคัญ เช่น เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด ทั้งนี้ มีแผนจะนำร่องการวางผังเมืองของทั้ง 3 เกาะดังกล่าวใหม่ จากเดิมเป็นเพียงการวางผังการใช้พื้นที่ ซึ่งยังไม่ตอบสนองความขัดแย้งและความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ เช่น เกาะสีชัง เดิมวางแผนให้เป็นพื้นที่เก็บพลังงานแต่ประชาชนในพื้นที่ต้องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น 

 

 

 

        5. สร้างประโยชน์ให้ถึงประชาชนและทำความเข้าใจกับชุมชนและประชาชน ให้เกิดความรู้และความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกัน  ทั้งนี้ เลขาธิการ EEC เชื่อมั่นว่า โครงการ EEC จะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 5 ปีนี้ หรือนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป หรือรวมมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และจะสร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% ต่อปี และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพฯและประชาชนใน EEC ที่สำคัญ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน 

 

ไม่หวั่นการเลือกตั้งกระทบแผนขับเคลื่อน EEC  

        ส่วนการเลือกตั้งของประเทศ เลขาธิการ EEC มองว่า แม้จะได้รัฐบาลใหม่แต่ EEC ยังเดินหน้าต่อ เพราะมีกฎหมายรองรับและนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการ EEC โดยตำแหน่ง คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน 2562 นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การลงทุนทั้ง 5 โครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการแล้วเสร็จ และเชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะสานต่อเพราะเป็นโครงการที่สร้างงประโยชน์ให้แก่ประเทศ สำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนหลักอย่างญี่ปุ่น ไม่มีความกังวลต่อการเมืองไทย เนื่องจากทำธุรกิจในไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว เช่นเดียวกับนักลงทุนยุโรปมีความเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี และนักลงทุนจีนที่พร้อมเข้ามาลงทุนเมื่อเห็นความชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

จีน-ญี่ปุ่น จัดสัมมนาใหญ่ในกรุงเทพฯ 2 เม.ย.นี้ ดึงเงินลงทุนสู่ EEC  

        นายคณิศ กล่าวว่า ในวันที่ 2 เมษายนนี้ องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade : CCPIT) จะจัดสัมมนาที่กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงาน EEC โดยเชิญนักธุรกิจญี่ปุ่น 100 คน และนักธุรกิจจีน 100 คน รวมทั้งนักธุรกิจจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน ซึ่งนอกจากการประชุมสัมมนา ยังจะมีการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเอกชนไทยกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือ (MOU) การลงทุนของจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่ 3 ซึ่งได้เลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือกับเอกชนไทยในโครงการต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ร่วมมือกับอมตะพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะที่รัฐบาลไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้โครงการความร่วมมือของเอกชนทั้ง 3 ประเทศ เกิดขึ้นได้จริง 

 
Visitors: 630,606