จุฬาฯเดินหน้าเก็บค่า ‘ถุงพลาสติก’ ทั่วมหา’ลัย รวมพื้นที่พาณิชย์-ชี้รณรงค์อย่างเดียวลดไม่ได้

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency
วันที่โพสต์ :  26 มี.ค. 2562
       
จุฬาฯเดินหน้าเก็บค่า ‘ถุงพลาสติก’ ทั่วมหา’ลัย รวมพื้นที่พาณิชย์
ชี้รณรงค์อย่างเดียวลดไม่ได้

จุฬาฯประกาศเป้าหมายมหาวิทยาลัยปลอดโฟม ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เดินหน้ามาตรการเก็บค่าถุงพลาสติก 2 บาททุกร้านค้าในเขตพื้นที่ เริ่ม 26 มี.ค.นี้

น.ส.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะมีการห้ามใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable โดยเด็ดขาด แต่จะมีการอนุญาตให้ใช้เพียง 3 ประเภท คือ 1.ถุงกระดาษ 2.ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามมารตฐานการย่อยสลายเป็นปุ๋ย (Compostable) 3.ถุงที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% และจะงดการให้ถุงพลาสติกฟรี โดยเปลี่ยนเป็นการเก็บเงิน 1-2 บาท ยกเว้นสำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารร้อนพร้อมทานเท่านั้น

ขณะเดียวกัน แก้วน้ำในโรงอาหารจะเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นแก้วที่สามารถนำไปล้างและใช้ซ้ำได้ หรือใช้แก้ว Zero Waste Cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน รวมถึงลดการแจกช้อนส้อมหรือหลอดพลาสติก และอนุญาตให้ต่อเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น โดยมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ในเขตพื้นที่การศึกษา ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป และในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พ.ย. 2562 เป็นต้นไป

น.ส.สุจิตรา กล่าวว่า มาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ทางโครงการเคยรณรงค์เชิงสมัครใจให้ลดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้น โดยจากความสำเร็จที่ผ่านมาของมาตรการเก็บค่าถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินมากว่า 2 ปี ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560 สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกไปได้ถึง 90% หรือรวมเป็นปริมาณถุงพลาสติกที่ป้องกันไม่ให้เกิดเป็นขยะได้ประมาณ 3 ล้านใบ

“90% ของผู้ใช้บริการมักจะไม่ยอมเสียเงินซื้อถุงพลาสติก ยกเว้นความจำเป็นที่ต้องซื้อของจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งรายได้ที่ได้จากการขายถุงพลาสติกจะถูกนำเข้ากองทุนของมหาวิทยาลัย และถูกจัดสรรไปใช้ในส่วนต่างๆ เช่น กองทุนเต่าบาดเจ็บ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ หรือสนับสนุนชมรม Chula Zero Waste ต่อไป” น.ส.สุจิตรา กล่าว

น.ส.สุจิตรา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปี หรือเท่ากับ 1 คนใช้ถุงพลาสติก 8 ใบต่อวัน ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังจะออกกฎหมายในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกว่า 10 ประเภท ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประกาศการจัดการขยะพลาสติก และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ประเภท เมื่อปลายปี 2561

ด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการเป็นเขตปลอดภาชนะโฟม รวมทั้งถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable ที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น รวมถึงการเลิกใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงอาหารให้ได้ 100% ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกร้านค้าในเขตการเรียนการสอนให้ได้ 80% และลดปริมาณหลอดและช้อนพลาสติกลงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20% ทั้งนี้หากลดขยะพลาสติกเหล่านี้ลงได้ จะลดขยะพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 8 ล้านชิ้นต่อปี หรือเทียบเท่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ไม่น้อยกว่า 900 ตัน

Visitors: 634,541