นักวิจัยอังกฤษติดเซ็นเซอร์บนตัวนกพิราบเพื่อใช้เก็บข้อมูลสภาพอากาศ

 
แหล่งที่มา : www.facebook.com/The MATTER วันที่โพสต์ :  18 มี.ค. 2562
       
นักวิจัยอังกฤษติดเซ็นเซอร์บนตัวนกพิราบเพื่อใช้เก็บข้อมูลสภาพอากาศ

นกพิราบเป็นสัตว์ที่เราต่างเห็นกันจนชินตาเป็นประจำ หลายๆ คนยังมองว่ามันเป็นสัตว์ที่สกปรกอีกด้วย แต่นักวิจัยในอังกฤษได้เล็งเห็นช่องทางในการนำนกพิราบมาทำประโยชน์ โดยใช้เป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลสภาพอากาศ


กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ นำโดย Rick Thomas ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วขึ้นมาเพื่อติดไว้บนหลังของนกพิราบ เป้าหมายหลักคือการตระเวนเก็บข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น เมืองนี้เป็นต้น โดยจะวัดจากข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น และลม ในพื้นที่แต่ละบล็อกถนน ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเมือง


Thomas บอกว่าตัดสินใจเลือกใช้นกพิราบแทนโดรน เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาโดรนได้สร้างปัญหาพอสมควรในอังกฤษ และนกพิราบก็สามารถบินไปไหนก็ได้อย่างอิสระ อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งมีราคาชิ้นละ 250 ดอลลาร์ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อให้ได้ข้อมูลในบริเวณที่เข้าถึงยาก


เมื่อนกพิราบกลับรังหลังจากที่ออกไปในแต่ละวัน ข้อมูลจะถูกดึง และดาวน์โหลดไป รวมถึงตำแหน่งจากจีพีเอส และความกดอากาศด้วย ข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถช่วยให้นักวิจัยคาดคะเนถึงวิธีการเดินทางของมลพิษทางอากาศในรอบๆ เมือง และช่วยพิจารณาว่าสิ่งก่อสร้างอย่างโรงพยาบาล หรือโรงเรียน ควรมีขึ้นที่ไหน การหาพิกัดจุดที่มีความร้อนยังสามารถช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการคิดมาตรการปรับตัวสู่อุณหภูมิที่สูงขึ้นในทุกๆ ปี 


มาถึงตอนนี้คงเกิดคำถามว่าการติดเซ็นเซอร์นี้ไว้บนหลังนกพิราบ จะเป็นการเบียดเบียนสัตว์หรือไม่ พวกเขาบอกว่าไม่เลย นกพิราบเหล่านี้มาจากการร่วมมือกับกลุ่มอาสาท้องถิ่น ที่เพาะเลี้ยงนกพิราบที่มีความสามารถในการหาทางกลับบ้านเองได้ นอกจากนี้การติดตั้งเซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ไปวุ่นวายกับขนนกแต่อย่างใด และยังมีน้ำหนักน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวนกพิราบอีกด้วย


“ถ้าเจ้าของนกพิราบไม่ชอบใจในการที่ต้องติดเซ็นเซอร์ พวกเขาก็เลือกได้ที่จะไม่ส่งนกพิราบของพวกเขาไป พร้อมมอบสวัสดิการที่ดีอย่างแน่นอน” กล่าวโดย Thomas


ขณะนี้มีนกพิราบ 5 ตัวอยู่ในโครงการ ซึ่งได้ออกไปทำภารกิจมารวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 41 เที่ยว และครอบคลุมได้แล้วอย่างน้อย 1,000 กิโลเมตร ในการที่จะขยายเส้นทางไปในเมืองอื่นๆ คงต้องมีการขอความร่วมมือจากเหล่าอาสาสมัครเพิ่มอีก 


ในอนาคต Thomas อยากนำแผงเซลล์พลังแสงอาทิตย์มาใช้กับอุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อความยั่งยืน และเป็นโอกาสที่จะใช้นกตามธรรมชาติได้ด้วย แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ตัวอุปกรณ์หนักเกินที่จะติดไว้กับนกพิราบ จึงมีความคิดที่จะเอาไปติดกับนกนางนวลแทน เซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นของจำนวนมลพิษทางอากาศ เพื่อที่จะคิดหาแนวทางรับมือได้ง่ายขึ้นต่อไป


อ้างอิงจาก

https://gizmodo.com/pigeons-with-tiny-backpacks-are-gathering-climate-data-1833207515

https://www.birmingham.ac.uk/staff/profiles/gees/thomas-rick.aspx

Visitors: 631,065