ขยะที่จีนไม่ต้องการ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสื่อสิ่งพิมพ์ของอินเดียได้อย่างไร

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  18 มี.ค. 2562
       
ขยะที่จีนไม่ต้องการ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
และสื่อสิ่งพิมพ์ของอินเดียได้อย่างไร

สงสัยกันหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระดาษใช้แล้วในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ถูกโยนทิ้งเพื่อเตรียมนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูป หรือรีไซเคิล แล้วนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากเมื่อต้นปีที่แล้วจีน ผู้เคยเป็นเจ้าพ่อด้านการรีไซเคิลกระดาษของโลก ได้จำกัดมาตรการนำเข้ากระดาษใช้แล้วจากต่างประเทศ ตอนนี้ขยะกองพะเนินดังกล่าวก็เริ่มถูกโยกย้ายไปผ่านการรีไซเคิลที่ประเทศอินเดียแทนเสียแล้ว

ณ โรงงานรีไซเคิล NR Agarwal ภูเขากระดาษใช้แล้วกองสูงท่วมหัวจนเกือบถึงเพดาน โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของเมืองวาปิ ทางทิศตะวันตกของรัฐคุชราต ถือเป็นหนึ่งในโรงงานที่ดำเนินการแปรรูปกระดาษใช้แล้วที่มากที่สุดในอินเดีย

คนงานใช้รถแทรกเตอร์แบ่งก้อนกระดาษขนาดยักษ์ออก จากนั้นกลุ่มผู้หญิงในชุดส่าหรีสีสันสดใสจึงเข้ามาคัดแยกกระดาษใช้แล้วให้เป็นประเภทเดียวกัน ในภูเขาขยะเหล่านั้น หนังสือพิมพ์อังกฤษอย่าง Sunday Telegraph หรือแม้กระทั่ง Forest of Dean and Wye Valley Review ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์จากชนบทอันห่างไกลในอังกฤษอย่างกลอสเตอร์เชียร์ (Gloucestershire) ต่างปะปนรวมกันอยู่ด้วย

"กระดาษส่วนใหญ่ เรานำเข้ามาจากอังกฤษแล้วก็อเมริกาครับ" อโชก บันซัล ผู้บริหารบริษัทแห่งนี้ กล่าวกับบีบีซี

 
หนังสือพิมพ์อังกฤษเป็นส่วนสำคัญในกองกระดาษเหลือทิ้งที่อินเดียนำเข้าประเทศ

เขาพาไปชมกรรมวิธีคัดแยกประเภทกระดาษ ก่อนที่มันจะถูกลำเลียงไปตามสายพานเพื่อเตรียมผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ต่อจากนั้นเจ้าก้อนสีฟ้าอ่อนที่ได้จะถูกนำไปใส่สารเคมีและนำเข้าเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่จะม้วนและปั่นจนกลายเป็นกระดาษสีขาวสะอาดที่พร้อมใช้งานอีกครั้ง

ระหว่างที่บันซัลกำลังอธิบายเรื่องนี้ รถบรรทุกขนกระดาษใช้แล้วกองใหม่จากเบลเยียมก็เข้ามาจอดในโรงงาน ปัจจุบันรถเหล่านี้ขนกระดาษจากท่าเรือใกล้เคียงแล้วมุ่งหน้ามายังโรงงานรีไซเคิลของบันซัลมากขึ้นทุกที ภูเขากระดาษใช้แล้วยิ่งสูงขึ้น ๆ เป็นทวีคูณ

ขยะจากจีนมีคุณค่า

ต้นเหตุที่ทำให้การรีไซเคิลกระดาษล้นทะลักเช่นนี้สืบเนื่องมาจากประเทศจีนที่เคยรับแปรรูปเศษกระดาษ เหล็ก และพลาสติกกว่าครึ่งหนึ่งของเพื่อนร่วมโลกนั้นได้ประกาศข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับการนำเข้าขยะ เพราะต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศนั่นเอง

 
หญิงชาวอินเดียในชุดส่าหรีหลากสีกำลังคัดแยกประเภทของกระดาษก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

ตั้งแต่มาตรการนี้ถูกนำมาใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2018 เหล่าประเทศตะวันตกต่างต้องตระเวนหาแหล่งพักพิงแห่งใหม่ให้กับขยะรีไซเคิลของตัวเอง บ้างก็เลือกฝังไว้ใต้ดินหรือไม่ก็เผาทิ้ง จนกระทั่งวันหนึ่ง โรงงานรีไซเคิลของชาวอินเดียเช่นบันซัลได้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 สมาคมผู้ผลิตกระดาษในยุโรป (Confederation of European Paper Industries) เปิดเผยว่า การนำเข้ากระดาษใช้แล้วจากยุโรปสู่อินเดียพุ่งสูงขึ้นกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ ในปีเดียวกันนี้ กระดาษใช้แล้วจากอเมริกาถูกส่งไปยังอินเดียระหว่างเดือนมกราคม - ตุลาคม มากขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2017 จากรายงานของสถาบันรีไซเคิลขยะนานาชาติ (International Scrap Recycling Institute)

"ตอนนี้เรากำลังใช้เรือขนาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อส่งออกไปยังอินเดีย เพราะปริมาณกระดาษใช้แล้วเพิ่มขึ้นสูงมากครับ" รันจิต บาซิ ประธานบริษัท J and H Sales ผู้นำด้านการรีไซเคิลของอังกฤษกล่าวกับบีบีซี "และผมมองว่า อินเดียจะกลายเป็นตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากพวกเรา"

สำหรับบริษัทของชาวอินเดียแล้ว สถานการณ์เช่นนี้นับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย "ประเทศเราขาดแคลนวัตถุดิบ" บันซัลกล่าว "เราไม่มีต้นไม้หรือป่าเยอะนักที่จะนำมาทำเยื่อกระดาษ ส่วนใหญ่แล้วเราต้องพึ่งกระดาษเหลือใช้พวกนี้ และประเทศตะวันตกก็สามารถมอบให้เราได้ครับ"

สื่อสิ่งพิมพ์ขายดี

ในตลาดขายกระดาษที่วุ่นวายของกรุงเดลี ผู้ซื้อและผู้ขายต่างเบียดเสียดกันบนทางเท้าแคบ ๆ และสินค้าอย่างกระดาษนั้นก็เป็นที่ต้องการอย่างเห็นได้ชัด ที่นี่ขายตั้งแต่นวนิยาย คู่มือออกกำลังกาย ไปจนถึงกระดาษสำหรับงานออกแบบเฉพาะทาง

"ผู้คนที่นี่เยอะขึ้นทุกทีครับ" ชาเบียร์ ฮุสเซน พ่อค้าขายหนังสือกล่าว "บางครั้งผมเองยังขายไม่ทันเลย"

ส่วนใหญ่แล้วกระดาษที่ผลิตในอินเดียจะถูกนำมาทำหนังสือให้ประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วได้อ่านกัน นอกจากนี้ ก็ยังนำมาผลิตลังกระดาษหรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อรองรับการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่กำลังขยายตัวอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น กระดาษจำนวนมากก็ยังกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีอันล้ำหน้า แต่วงการสื่อยุคเก่าอย่างสิ่งพิมพ์ทั้งหลายก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน โดยองค์กร Audit Bureau Circulation ของอินเดียชี้ว่า ยอดขายของหนังสือพิมพ์รายปีและนิตยสารทะยานจาก 40 ล้านรูปี เมื่อปี 2006 เป็นเกือบ 63 ล้านรูปี ในปี 2016

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เหตุที่วงการสื่อในอินเดียสวนทิศทางกับกระแสโลกเช่นนี้เป็นเพราะประชาชนยังชื่นชอบการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่จะมาส่งถึงบ้านทุก ๆ เช้า นั่นเอง แม้ว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ได้อย่างสะดวกแล้วก็ตาม


การรีไซเคิลในอินเดียป้อนความต้องการสินค้าประเภทกระดาษของทั้งประเทศได้แค่ 30% เท่านั้น

ต้องเลือกขยะคุณภาพ

กระดาษเหลือใช้จำนวนมหาศาลที่นำเข้าจากต่างประเทศนี้ได้ช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมในอินเดียที่ซบเซาลงอย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งสืบเนื่องมาจากกระดาษใช้แล้วหายากและมีราคาแพงเกินจะนำมารีไซเคิล

"ในปีที่ผ่านมา โรงงานผลิตกระดาษปิดตัวไปกว่าหนึ่งในสี่ เนื่องจากราคากระดาษใช้แล้วสูงขึ้น" นายอามัน เซธี เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งกล่าว "แต่ตอนนี้ ด้วยปริมาณกระดาษใช้แล้วที่ถูกนำเข้ามาเยอะมาก ราคาก็ปรับตัวลดลงตาม โรงงานจึงเริ่มทยอยเปิดอีกครั้งหนึ่งแล้วครับ"

สำหรับเศรษฐกิจในท้องถิ่นแล้ว นี่หมายถึงตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในโรงงานรีไซเคิลกระดาษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานในท่าเรือ และบริษัทขนส่งกระดาษอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ก็ดูเหมือนจะลงตัวแล้ว อย่างน้อยก็สำหรับตอนนี้

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมรีไซเคิลของอินเดียต้องการกระดาษใช้แล้วในปริมาณมากถึง 14 ล้านตัน แต่การรีไซเคิลภายในประเทศสามารถตอบสนองได้เพียง 30% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังเทียบเท่าแค่ครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยโลก ดังนั้น ความต้องการกองขยะเหล่านี้จากต่างประเทศจึงยังอยู่ในระดับสูงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ผู้นำเข้าขยะชาวอินเดียต้องเผชิญ คือ จะบังคับใช้กฎที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างไรในการเลือกประเภทขยะที่ประเทศพร้อมโอบรับเอาไว้ เนื่องจากกระดาษหลายกองเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วนั้นนำมาใช้งานไม่ได้ เพราะมีพลาสติกผสมหรือไม่ก็มาจากโรงกระดาษที่ถูกขึ้นบัญชีดำในอังกฤษและอเมริกา

"ใครก็ตามที่ต้องการส่งออกกระดาษใช้แล้วให้อินเดียจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเราอย่างเคร่งครัด" สุจิต ซามัดดาร์ ผู้บริหารระดับสูงจาก National Institution for Transforming India (Niti Aayog) องค์กรระดับชาติเพื่อการปฏิรูปอินเดีย ที่กำลังดูแลนโยบายการรีไซเคิลของประเทศบอกกับบีบีซี "ไม่ใช่ว่าอินเดียจะเปิดประตูพร้อมรับเศษกระดาษทุกชนิดเข้าประเทศหรอกนะครับ"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Visitors: 630,644