รัสเซีย เตรียมทดสอบตัดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตโลก เพื่อป้องกันการโจมตีไซเบอร์
|
|||
แหล่งที่มา : www.bbc.com | วันที่โพสต์ : 10 มี.ค. 2562 | ||
รัสเซีย เตรียมทดสอบตัดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตโลก เพื่อป้องกันการโจมตีไซเบอร์ |
|||
![]() |
|||
ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐบาลรัสเซียจะทดลอง 'ถอดปลั๊ก' ประเทศจากการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโลก วันที่จะทดสอบระบบยังไม่ได้ระบุชัดเจน แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เม.ย. เพราะวันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่สมาชิกรัฐสภาจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เรียกว่า โครงการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Economy National Program) การทดสอบดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียในการสร้าง 'อินเทอร์เน็ตที่มีอธิปไตย' (sovereign internet) เพื่อปกป้องตัวเองจากการโจมตีทางไซเบอร์ในช่วงวิกฤต ยกตัวอย่างเช่น ช่วงสงคราม แม้ว่า รัสเซียจะมีความกังวลอยู่ แต่การทดสอบนี้จะเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ควบคู่ไปกับแนวทางในการสร้างอินเทอร์เน็ตที่ควบคุมได้ หรือมีความเข้มงวดมากขึ้น คล้ายกับการควบคุมเนื้อหาด้วย 'เกรต ไฟร์วอลล์' (Great Firewall) ของจีน ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า 'สปลินเทอร์เน็ต' (splinternet) ซึ่งอินเทอร์เน็ตยังคงมีอยู่ แต่จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายคำถามเกี่ยวกับแผนการตัดการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโลกของรัสเซีย
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะ 'ถอดปลั๊ก' ประเทศจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับชาวโลก?ตอบสั้น ๆ ว่า เป็นไปได้ เมื่อพิจารณาลักษณะทางกายภาพของ อินเทอร์เน็ต ถ้าคุณตัดสายที่เชื่อมต่อประเทศกับเครือข่ายทั่วโลก ประเทศก็จะถูกตัดขาด เรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วจากความผิดพลาดในปี 2018 เมื่อสายเคเบิลไฟเบอร์ใต้ทะเลที่เชื่อมต่อประเทศมอริเตเนียขาดจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีรายงานว่าเป็นเพราะเรืออวนลาก ทำให้ผู้คน 4 ล้านคนในชาติแอฟริกาตะวันตกชาตินี้ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ 2 วัน รัสเซีย ไม่ต้องการจะถอดปลั๊กตัวเองอย่างสิ้นเชิง รัสเซียต้องการให้อินเทอร์เน็ตยังใช้งานได้ในประเทศ เพียงแต่ปิดกั้นการเข้าถึงทั้งขาเข้าและขาออก ประเทศหนึ่งจะตัดขาดตัวเองจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เหลืออย่างไร?มันเป็นระบบที่คล้ายกับเครือข่ายอินทราเน็ต ซึ่งมักใช้ในองค์กรและสถาบันขนาดใหญ่ต่าง ๆ อย่างเช่น รัฐบาล หรือมหาวิทยาลัย
แมต ฟอร์ด ผู้จัดการโครงการเทคโนโลยีเพื่อสังคมอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า "สมมุติว่า มันทำได้สำเร็จ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในรัสเซียจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตและติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่ใช้บริการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในรัสเซียได้ แต่จะไม่สามารถติอต่อสื่อสารกับบริการใด ๆ ที่อยู่นอกรัสเซียได้" การทำเช่นนี้ในระดับประเทศ มีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบอินทราเน็ตอื่น ๆ แต่มีความซับซ้อนกว่ามาก มันจะได้ผลหรือไม่ในทางหลักการ?ในทางทฤษฎีมีอุปสรรคหลักที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้ 2 ประการ ประการแรกคือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย จะต้องเชื่อมต่อ การสัญจรบนเว็บไซต์ (web traffic) ซึ่งหมายถึงจำนวนคนและเวลาที่คนเข้าเว็บ ไปยังจุดที่มีการส่งข้อมูลต่าง ๆ (routing points) ภายในประเทศ หมายความว่า บริษัทต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในรัสเซียจะต้องทำให้มั่นใจว่า ข้อมูลทุกอย่างต้องถูกส่งผ่านจุดแลกเปลี่ยนที่ควบคุมโดย Roskomnazor หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมของรัสเซีย ประการที่สองคือ รัสเซียจะต้องทำสำเนาระบบโดเมนเนม (Domain Name System--DNS) ของตัวเอง ซึ่งเป็นสารบบโดเมนและที่อยู่ของอินเทอร์เน็ตโลก ระบบดีเอ็นเอส เป็นสิ่งที่ช่วยแปลงรหัสปลายทางที่ซับซ้อนของแต่ละเว็บไซต์และเซิร์ฟเวอร์ ให้เป็น URL ที่มนุษย์เข้าใจได้ง่ายกว่า ยกตัวอย่างเช่น ที่อยู่ของเว็บไซต์ 'www.example.com' จริง ๆ แล้ว คือ 192.168.1.1.
การสร้างสารบบใหม่ของแต่ละเว็บไซต์และเซิร์ฟเวอร์ในโลก เป็นส่วนสำคัญของแผนการนี้ของรัสเซีย เพราะว่าไม่มีองค์กรที่มีข้อมูลสารบบดีเอ็นเอสเหล่านี้เป็นของรัสเซีย การทำเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสามารถแยกประเภทบริการเป็น ภายในประเทศและ 'ปลอดภัย' กับ ระหว่างประเทศ และ 'ไม่ปลอดภัย' นี่คือจุดที่มีความกังวลว่า จะเกิดการตรวจสอบเนื้อหาเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลรัสเซียตัดสินใจเพียงแค่ย้ายการสัญจรบนเว็บไซต์ไปผ่านสารบบที่อยู่ดีเอ็นเอสของตัวเอง เพราะจะทำให้รัสเซียสามารถปฏิเสธการเข้าถึงเว็บไซต์ใดก็ได้ ยากแค่ไหนที่จะทำเช่นนั้นได้? แมต ฟอร์ด ระบุว่า จะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลรัสเซียในการบอกได้ว่า เว็บไซต์และเซิร์ฟเวอร์ใดที่เป็นของรัสเซียอย่างแท้จริง เพราะมีบริการจำนวนมากที่พึ่งรหัสเลขฐานสอง (bits of code) ที่พบได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตโลก นอกจากนี้ รัสเซียจะเผชิญกับความยุ่งยากในการบริหารจัดการจุดเข้าและออกของข้อมูลหลายร้อยจุดทั่วประเทศ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้องให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย โดยรายงานหลายแหล่งระบุว่า รัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือแก่บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ จากการที่พวกเขาต้องเผชิญกับความยุ่งยากทางเทคนิค
มันจะได้ผลไหม? การสร้างพรมแดนเทียมรอบประเทศในระดับนี้ คงจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากคาดว่า การทดสอบนี้จะทำให้เกิดปัญหาสำคัญหลายอย่างขึ้น แมต ฟอร์ด กล่าวว่า "อาจจะมีความติดขัดที่คาดไม่ถึงหลายอย่าง ผมคิดว่าบริการหลักของรัสเซียจะใช้งานได้ แต่ธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ต้องมีการพึ่งพากันทั่วโลก จะทำให้บริการหลายอย่างถูกปิดกั้นหรือใช้งานไม่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย มันจะเป็นการเรียนรู้ แน่นอนว่า เมื่อการทดสอบเกิดขึ้น" |