'พอล ครุกแมน'นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เตือนรัฐบาลทุกประเทศและประชาชนรับมือวิกฤตภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกปลายปีนี้

 
แหล่งที่มา : www.thaitribune.org วันที่โพสต์ :  28 ก.พ. 2562
       
'พอล ครุกแมน'นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เตือนรัฐบาลทุกประเทศและประชาชนรับมือวิกฤตภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกปลายปีนี้
'พอล ครุกแมน'นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2551 กล่าวในงานสัมมนา World Government Summit 2019 ที่นครดูไบ ว่า มีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ หรือ ปีหน้า จึงเตือนรัฐบาลทุกประเทศเตรียมหามาตรการรับมือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
 

15 กุมภาพันธ์ 2562-"พอล ครุกแมน" นักเศรษศาสตร์ชื่อดัง คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ผู้เคยทำนายวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียได้อย่างแม่นยำกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ได้กล่าวระหว่างการบรรยายในหัวข้อ "Global Trade : Future Foresight and Analysis for Goverments" ว่า มีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปีนี้ เมื่อดูจาก

- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคที่ปรับตัวลง
- ค่าจ้างแรงงานที่แทบจะไม่ปรับขึ้น
- ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงขยายตัว และ
- การขาดความมั่นใจของบรรดาผู้นำกลุ่มธุรกิจ

พร้อมทั้งอ้างถึงช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ในปี 2562 และ 2563 ว่า น่าจะขยายตัวในอัตราลดลงจาก 1.9% ในปี 2561 เหลือเพียง 1.3% ในปีนี้ (2562) จากนั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นที่อัตรา 1.6% ในปี 2563

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขณะนี้เริ่มแผ่วลง แต่บรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่าง ๆ ยังคงคาดหวังว่า เศรษฐกิจจะไม่ถดถอยอย่างรุนแรง การที่บรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ไม่มีเครื่องมือเหลืออยู่สำหรับการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลง อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจขาลงที่เกิดขึ้นแล้วยิ่งเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม เขากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมักจะขาดความเตรียมพร้อมสิ่งที่น่าเป็นห่วงโดยหลัก ๆ คือ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว เรามักจะรับมืออย่างไร้ประสิทธิภาพ และดูเหมือนจะขาดมาตรการรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบอยู่เสมอ (Safety Net)

บ่อยครั้งที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ขาดเครื่องมือป้องกันแรงกระแทก เมื่อตลาดเกิดความปั่นป่วน นอกจากนี้ การวางแผนป้องกันความเสี่ยงก็มีน้อยมาก ยิ่งโลกกำลังเผชิญภาวะสงครามการค้าและนโยบายตั้งกำแพงปกป้องตัวเอง ก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้น รัฐบาลต่าง ๆ ก็มักจะถูกดึงความสนใจและทรัพยากรต่าง ๆ ออกไปจากสิ่งที่เป็นปัญหาจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง "ดูเหมือนจะมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมอยู่ แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่มีนโยบายที่ดีมารับมือ" ครุกแมน กล่าวและว่า เฟดเหลือช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยลงได้อีกไม่มาก ส่วนนโยบายการคลังถ้าเตรียมให้พร้อม ก็ยังจะพอมีพื้นที่ (ให้รับมือ) เหลืออยู่บ้าง แต่ในช่วงเวลานี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะเห็นการตอบสนองอย่างฉับไวได้ ดังนั้น จึงเดิมพันได้เลยว่า โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาอย่างแน่นอน

ครุกแมน วิเคราะห์ด้วยว่า กลุ่มยูโรโซนเผชิญกับภาวะชะลอตัว ที่อีกนิดเดียวก็จะเป็นการถดถอยแล้วอย่างชัดเจน และไม่เหลือเครื่องมือที่จะนำมาใช้ จะลดดอกเบี้ยลงอีกก็ไม่ได้แล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ตกอยู่ในแดนลบอยู่แล้ว "ยุโรปกำลังเป็นจุดอันตรายที่อาจจะรุนแรงขึ้นเทียบเท่ากับจีน" ครุกแมนทำนาย

อนึ่ง "Recession" คือ "ภาวะถดถอย" ทางเศรษฐกิจ โดยเทคนิค คือ การเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละไตรมาส เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น ถ้าติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ก็ถือว่าเป็นเศรษฐกิจถดถอย

ด้าน นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในงานสัมมนาเดียวกันว่า รัฐบาลนานาประเทศควรเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากเหตุปัจจัยหลัก 4 ประการ ซึ่งได้แก่
 - ความขัดแย้งทางการค้าและการตั้งกำแพงภาษี
 - การเพิ่มความเข้มงวดด้านการเงิน
 - ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเบร็กซิทและผลกระทบที่จะตามมา
 - รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นายไมเคิล สโตรแบค หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลกของธนาคารเครดิต สวิส เปิดเผยว่า เครดิต สวิส ได้ปรับลดมุมมองต่อหุ้นทั่วโลกสู่ระดับ Neutral จากเดิมที่ระดับ Overweight ซึ่งการปรับลดมุมมองดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่ตลาดเผชิญความเสี่ยงระยะสั้นจากหลายปัจจัย รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรป พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปีนี้ ถูกผลักดันจากการปรับการประเมินมูลค่าหุ้นใหม่ มากกว่าที่เกิดจากแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส

"ถึงแม้ว่า เรายังคงคาดการณ์ว่า ผลตอบแทนโดยรวมจากการลงทุนในหุ้นทั่วโลกยังคงน่าดึงดูดใจในปีนี้ แต่เราก็ยอมรับว่า มีความเสี่ยงระยะสั้นหลายประการ"

Visitors: 618,728