จากกากตะกอนขยะรีไซเคิลสู่ก้อนอิฐลดโลกร้อน

 
แหล่งที่มา : www.mtec.or.th วันที่โพสต์ :  
       
จากกากตะกอนขยะรีไซเคิลสู่ก้อนอิฐลดโลกร้อน

ภาพจาก https://www.rmit.edu.au/news/all-news/2019/jan/recycling-biosolids-sustainable-bricks

ทีมวิจัยจาก RMIT University เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เสนออิฐดินเผาผสมกากตะกอนขยะ (biosolids) เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับการบำบัดน้ำเสียและอุตสาหกรรมการผลิตอิฐ

กากตะกอนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน หรือเป็นวัสดุก่อสร้าง แต่ละปีกากตะกอนขยะของทั่วโลกประมาณ 30% ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์แต่ถูกเก็บไว้ และนำไปฝังกลบ ในขณะที่ดินมากกว่า 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรถูกขุดขึ้นมาเพื่อใช้ผลิตอิฐ ดังนั้น การใช้กากตะกอนขยะมาผลิตอิฐจึงเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทางหนึ่งที่ทำได้จริง


Associate Professor Abbas Mohajerani

ทีมวิจัยทดสอบสมบัติเชิงกล สมบัติทางเคมี และสมบัติทางกายภาพของอิฐเผาที่ผสมกากตะกอนขยะในปริมาณต่างๆ ได้แก่ 10%, 15%, 20% และ 25% โดยใช้กากตะกอนขยะจาก 3 แหล่งพบว่า ผลการทดสอบความแข็งแรงกด (compressive strength) อยู่ระหว่าง 35.5 MPa และ 12.04 MPa ซึ่งจัดว่าผ่านการทดสอบ ส่วนการทดสอบน้ำชะ (leachate analysis) จากอิฐก่อนเผาและอิฐหลังเผามีโลหะหนักถูกตรึงอยู่ภายในอิฐคิดเป็น 43% และ 99% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปริมาณโลหะหนักที่มีในกากตะกอนขยะ แต่ในกากตะกอนขยะมีสมบัติเฉพาะทางเคมีที่แตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของน้ำเสียและวิธีการบำบัด ดังนั้น ทีมวิจัยแนะนำว่าควรต้องวิเคราะห์น้ำชะของกากตะกอนขยะเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำมาผลิตอิฐในปริมาณมาก ส่วนภาพอิฐภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิงแสดงให้เห็นว่า อิฐมีความพรุนตัวสูงทำให้มีค่าการนำความร้อนที่ต่ำ

งานวิจัยนี้เสนอให้ผสมกากตะกอนขยะอย่างน้อย 15% ต่อปริมาณการผลิตอิฐ 15% เพื่อให้เกิดการใช้กากตะกอนขยะประมาณ 5 ล้านตันที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ผลิตขึ้นในแต่ละปีได้อย่างสมบูรณ์ อิฐผสมกากตะกอนขยะ (25%) ใช้พลังงานในการเผาลดลงถึง 48.6% เนื่องจากมีสารอินทรีย์ในกากตะกอน ส่งผลให้ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของบริษัทผลิตอิฐได้

ผลเปรียบเทียบการประเมินวัฏจักรชีวิตและค่าการปลดปล่อยทำให้เชื่อมั่นได้ว่าอิฐจากกากตะกอนของเสียเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในเรื่องการจัดการกากตะกอนขยะและการผลิตอิฐ

สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่

  1. https://www.rmit.edu.au/news/all-news/2019/jan/recycling-biosolids-sustainable-bricks
  2. Abbas Mohajerani, Aruna Ukwatta, Tristan Jeffrey-Bailey, Michael Swaney, Mohtashim Ahmed, Glen Rodwell, Simon Bartolo, Nicky Eshtiaghi, Sujeeva Setunge. A Proposal for Recycling the World’s Unused Stockpiles of Treated Wastewater Sludge (Biosolids) in Fired-Clay Bricks. Buildings, 2019; 9 (1): 14 DOI: 10.3390/buildings9010014
Visitors: 629,943