ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีวินัย? 5 วิธีสร้างคนมีคุณภาพจากห้องเรียนญี่ปุ่น

 
แหล่งที่มา : www.facebook.com/TheMatter
วันที่โพสต์ :  26 ก.พ. 2562
       
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีวินัย? 5 วิธีสร้างคนมีคุณภาพจากห้องเรียนญี่ปุ่น

“เวลาเราต้องการจะรู้ว่าแต่ละประเทศ เขาอยากสร้างคนแบบไหน วิธีที่ง่ายที่สุดคือเราต้องไปดูโรงเรียนที่หล่อหลอมลูกหลานของพวกเขา” — ศาสตราจารย์ วรินทร วูวงศ์

คนส่วนใหญ่มักยกให้ชาวญี่ปุ่นเป็นเชื้อชาติที่มีวินัยในทุกๆ สิ่งที่พวกเขาทำ ตั้งแต่เรื่องความตรงต่อเวลา หรือการรักษาความสะอาด แต่วินัยเหล่านี้ จู่ๆ ก็คงไม่ได้จะเกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่เป็นผลมาจากการบ่มเพาะในหัวใจมาเป็นเวลานาน จน 'วินัย' กลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของการสร้างคนญี่ปุ่น แน่นอนว่าทำให้ห้องเรียนแรกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดด้วย

งานวิจัย 'การสร้างคนคุณภาพแบบญี่ปุ่น' ของ ศาสตราจารย์ วรินทร วูวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวไทยที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้ตั้งคำถามว่า คนที่มีคุณภาพแบบญี่ปุ่นนั้นสร้างขึ้นได้อย่างไรในห้องเรียน เราจะลองถอดบทเรียนมาใช้บ้างได้หรือไม่ มีมิติไหนที่เราน่าจะได้ประโยชน์ในการสร้างวินัยที่ไม่ต้องถึงกับเลียนแบบเขา แต่สามารถหยิบจับไอเดียมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนหรือครอบครัวในไทยได้

The MATTER จึงได้สรุปแง่มุมที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้ รวมถึงพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ วรินทร วูวงศ์ เพื่อไขข้อข้องใจต่างๆ ซึ่งอาจจะได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจและนำเอาไปปรับใช้กับที่บ้านหรือโรงเรียนในไทยก็ได้

https://thematter.co/…/japanese-ways-of-molding-quali…/71399
สร้างเป้าหมายในห้องเรียน

แนวคิดการสร้างชาติของญี่ปุ่นต้องการ 'ความสามัคคี' เมื่อเดินเข้าไปในห้องเรียนญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่มักสะดุดตา คือ ตั้งแต่หน้าห้องจนถึงหลังห้องจะมีการเขียนเป้าหมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายประจำวัน เป้าหมายประจำสัปดาห์ เป้าหมายประจำเดือน เป้าหมายประจำปี 
.
เป้าหมายของญี่ปุ่นจะเหมือนกับที่เราเห็นในหนังที่มีคำพูดประมาณว่า 'มาร่วมมือ…กันเถอะ' ห้องเรียนในญี่ปุ่นจึงอุดมไปด้วยเป้าหมายต่างๆ ทำให้เด็กๆ คุ้นชินกับการมีจุดหมายในใจและร่วมมือกันทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ

ซึ่งเป้าหมายของโรงเรียนในการปลูกฝังเด็กของญี่ปุ่น ก็เช่น อยากให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเด็กที่อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือต้องการให้เด็กรู้จักคิดด้วยตนเอง รวมถึงสามารถเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ ได้
ทำความสะอาดให้เป็นนิสัย
.
โรงเรียนและห้องเรียนของญี่ปุ่นจะปลูกฝังเรื่องการทำความสะอาดกันอย่างจริงจัง โดยให้นักเรียนปฏิบัติตลอดการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนในญี่ปุ่นก็ไม่มีนักการภารโรง แต่เป็นหน้าที่ของเด็กๆ และครูทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำความสะอาดทุกวัน โดยจะแบ่งหน้าที่กันในพื้นที่ต่างๆ ของห้องเรียน โดยใช้เวลาทำความสะอาดครั้งหนึ่งประมาณ 15-20 นาทีก็เสร็จ
.
นอกจากนี้โรงเรียนยังกวดขันกับเรื่องการแยกขยะ โดยจะต้องแยกขยะตามกฎเกณฑ์ของแต่ละท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด โดยมีการแบ่งขยะ เช่น แบ่งขยะรีไซเคิล (เช่น ขวดพลาสติก หรือถุงพลาสติก) รวมถึงแยกเป็นขยะเผาได้กับขยะเผาไม่ได้ หากเป็นหนังสือพิมพ์และกระดาษอื่นๆ ก็จะมัดรวมกัน ส่วนกล่องนมก็จะเอาไปล้างแล้วนำกลับมารีไซเคิลใหม่ 
.
ซึ่งการแยกขยะแบบนี้จะทำให้เด็กๆ ได้สำรวจสิ่งที่พวกเขาบริโภคในแต่ละวัน และจะได้พิจารณาว่าเมื่อตนเองใช้สิ่งของเหล่านั้นเสร็จแล้ว ควรจะนำไปไว้จุดไหนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และรบกวนผู้อื่นน้อยที่สุด
.
คนญี่ปุ่นจึงมีสำนึกเรื่องความสะอาดอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อคนญี่ปุ่นมีจิตสำนึกด้านสาธารณะสูง อย่างพื้นที่สาธารณะหน้าบ้านก็ถือเป็นขอบเขตบ้านของคนนั้นๆ ด้วย ดังนั้นแม้จะเป็นถนนของหลวง แต่หากอยู่หน้าบ้านของพวกเขาแล้ว ก็จะทำความสะอาดให้กับพื้นที่สาธารณะส่วนนี้ด้วยเช่นกัน 
.
นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่มีการใช้พื้นที่สาธารณะทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและสร้างความรำคาญใจให้เพื่อนบ้านเป็นอันขาด
เน้นย้ำเรื่องการตรงต่อเวลา
.
ห้องเรียนญี่ปุ่นจะมีกฎเกณฑ์เขียนไว้ว่าในหนึ่งวันว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วครูก็จะเป็นคนกำหนดตารางเวลาว่าแต่ละช่วงควรจะทำอะไร เด็กก็จะทำตามที่ครูกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กตรงต่อเวลาไปโดยปริยาย 
.
นอกจากนี้ ห้องเรียนของญี่ปุ่นมักจะมีเบรก 5-10 นาที ก่อนเริ่มต้นคาบใหม่เพื่อให้เด็กได้มีเวลาเตรียมตัวเรียนในวิชาต่อไป แต่ในห้องเรียนไทยกลับไม่มีช่วงพักเบรกเลย ดังนั้นพอคาบแรกจบ คาบที่ 2 ก็ต้องเสียเวลาคอย 5-10 นาทีเพื่อให้เด็กเขาเตรียมตัว

ธรรมชาติของคนญี่ปุ่นจึงมักจะไปตรงตามเวลานัดหมายเสมอ ถ้านัดไว้ 7 โมง ก็มักจะมารอ 5-10 นาทีก่อนเวลานัดหมายเสมอ หรือหากไปไม่ทันก็จะติดต่อแจ้งอีกฝ่ายก่อนทุกครั้ง เมื่อมาช้าก็จะขอโทษและรีบออกเดินทางทันที หากถึงวันที่นัดหมายไว้แล้วก็จะไม่มีใครที่เบี้ยวนัดไปเฉยๆ 
.
หรือถ้าเป็นในกรณีการนัดหมายทางธุรกิจ ก็อาจเดินทางไปถึงที่นัดหมายก่อนประมาณ 15 นาที หากเป็นการเข้าเรียนศิลปะแขนงต่างๆ เช่น การชงชานั้น ก็ต้องห้ามมาสายเด็ดขาด หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ทำให้มาสายก็ต้องติดต่อแจ้งไว้ก่อนเสมอ นอกจากนี้ เวลาเลิกก็จะเลิกตรงเวลา หรือไม่ก็จะแถมเวลาเรียนเพิ่มอีกเล็กน้อย
ให้ความสำคัญเรื่องการรับประทานอาหาร
.
ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันของญี่ปุ่นจะมีโครงการอาหารกลางวันที่ให้เด็กระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทานอาหารในห้องเรียน โดยโรงเรียนจะจัดสรรอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน โดยนักเรียนจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากเป็นระดับมัธยมตอนปลาย เด็กญี่ปุ่นก็จะเอาข้าวกล่องมารับประทานด้วยกัน
.
ในชั้นประถมศึกษา คุณครูและนักเรียนจะรับประทานร่วมกันในห้องเรียน โดยก่อนจะเริ่มทานอาหาร ครูจะสอนรายละเอียดเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร เช่น ต้องทานเงียบๆ ห้ามคุยเสียงดัง ในขณะที่ทานก็ห้ามพูดเรื่องไม่ดีของคนอื่น และต้องทานให้หมด
.
คนญี่ปุ่นจะได้รับการอบรมว่า ไม่ว่าจะที่บ้านหรือโรงเรียนก็ควรทานข้าวให้หมด ไม่ให้เหลือแม้แต่เม็ดเดียว ซึ่งสอนผ่านทั้งความเชื่อที่ว่าในข้าวเมล็ดเดียวมีเทพเจ้าอยู่เจ็ดองค์ หรือสอนผ่านเรื่องความยากลำบากของชาวนาที่กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดนั้นเหนื่อนยาก 
.
นอกจากนี้ยังมีวิธีคิดที่ว่า ถ้ารู้ตัวว่าจะทานไม่หมดก็ให้แบ่งข้าวครึ่งหนึ่งไว้ก่อน และไม่ควรแตะอาหารส่วนที่ไม่สามารถทานหมดได้ วิธีการนี้จะช่วยให้คนทิ้งอาหารน้อยลง และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกผิดจากความเสียดายเมื่อต้องแบ่งอาหารให้เพื่อนช่วยทาน ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากญี่ปุ่นมีทรัพยากรอาหารน้อยกว่าประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต จึงมีแนวคิดปฏิเสธการทิ้งอาหารแบบทิ้งๆ ขว้างๆ
สอดแทรกจริยธรรมในแบบเรียน
.
เนื้อหาในแบบเรียนจริยศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ 4 ประเด็นใหญ่ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต และสิ่งที่มีคุณค่าสูงส่ง รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มและสังคมที่ตนสังกัด.
.
เนื้อหาในตำราทั้ง 4 เล่มล้วนมีความสอดคล้องต่อเนื่องกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลายไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
.
วิชาจริยศึกษามีรูปแบบตัวอย่างหลากหลาย แต่เน้นย้ำประเด็นเดิมๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังเยาวชนในระดับประถมศึกษามากเป็นพิเศษ อย่างในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ซึ่งเป็นเด็กเล็ก เนื้อหาในตำราจะนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูน หรือบทความที่มีภาพประกอบเข้าใจง่าย เป็นรูปธรรมชัดเจน 
.
เนื้อหาจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทำให้นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการเสริมเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวหรือความคิด รวมถึงคำพูดของบุคคลสำคัญ ทั้งที่เป็นคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติเอาไว้ด้วย และยิ่งเรียนสูงขึ้นๆ ไปตำราก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้นไป
Visitors: 619,252