ฝันไกล ต้องไปให้ถึง ปฏิวัติรถไฟไทย ที่ 1 อาเซียน

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  15 ก.พ. 2562
       
ฝันไกล ต้องไปให้ถึง ปฏิวัติรถไฟไทย ที่ 1 อาเซียน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาติวเข้มพนักงานระดับ 8 ขึ้นไป กว่า 800 คนทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ Change to the Future เปิด-ปรับ-เปลี่ยน : สู่อนาคตรถไฟไทย

ดูแล้วน่าสนใจไม่น้อยกับภารกิจพลิกฟื้นกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย องค์กรเก่าแก่ 129 ปี มีภาระหนี้ติดตัวพอกพูนเฉียด 200,000 ล้านบาท ให้เป็นรถไฟยุค 4.0 หวังล้างภาพลักษณ์จากองค์กรที่ได้ชื่อว่า “แดนสนธยา” ทำงานในสไตล์ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ก้าวสู่อนาคตใหม่ กับการเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570 โดยจะขับเคลื่อนผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ที่กำลังจะขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)

ปัจจุบันกำลังเดินสายปลุกพลังคนรถไฟทั่วประเทศ ให้รับรู้ รับทราบ ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ยังไม่รู้ท้ายที่สุดแล้วจะฉลุย หรือเป็นแค่ “วาทกรรม” ที่สวยหรู ล่องลอยไปตามกาลเวลาและการเมืองที่เปลี่ยนผ่าน

เพราะหากพลิกโฉมรถไฟไทยได้ง่าย คงไม่ถูกปล่อยปละละเลยมาอย่างยาวนาน มีหนี้สินสะสมเพิ่มจาก 50,000 กว่าล้านบาท เป็น 141,986 ล้านบาท เพียงช่วงเวลา 5 ปี นับว่าเป็นงานใหญ่ ท้าทายฝีมือ

“กุลิศ สมบัติศิริ” ประธานบอร์ด จะเร่งคลอดแผนกู้ซากรถไฟ ให้ทันก่อนวาระรัฐบาล คสช.จะสิ้นสุดอีกไม่กี่เดือน เพราะหากยังไม่ผ่านการประทับตรารัฐบาลนี้ ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา จะสานต่อหรือนับหนึ่งใหม่
สำหรับแผนฟื้นฟู ถูกนำเสนอให้ “คนร.” พิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2561 ซึ่งปรับอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียวแผนฟื้นฟูที่ยกร่าง เป็นแผนระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2570มี 3 ยุทธศาสตร์


1.เพิ่มขีดความสามารถจากการที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้นับแสนล้าน ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟความเร็วสูง และซื้อรถจักรและรถโดยสารใหม่ ที่จะทยอยเสร็จในปี 2562-2566

2.การพัฒนาองค์กรรองรับระบบและเทคโนโลยีที่เปลี่ยน หลังคณะรัฐมนตรีปลดล็อกให้รับคนเพิ่มได้ 19,241 คน นำร่องปีนี้ 1,904 คน

3.พัฒนาการบริการเพิ่มรายได้ จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จากที่ดินในมือให้มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งมักกะสัน สถานีแม่น้ำ ย่าน กม.11 บางซื่อ ย่านสถานีสายสีแดงและรถไฟทางคู่ เปลี่ยนการเดินรถเป็นระบบรถไฟฟ้า และเพิ่มการขนส่งสินค้า

“ผมถูก คนร.ต่อว่า แผนฟื้นฟูที่เสนอไปตั้งแต่ 5 เดือนที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังเป็นแผนเหมือนเดิม ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็น ถ้าเราไม่ลงมือทำวันนี้ ทุกอย่างจะยังคงเป็นแผนอยู่เหมือนเดิม”

ฟังจากน้ำเสียงประธานบอร์ดแล้ว ปฏิบัติการครั้งนี้งานคงเดินเร็วขึ้น

ขณะที่ “วรวุฒิ มาลา” รักษาการเบอร์หนึ่ง ที่ทำงานเป็นลูกหม้อมา 33 ปี และมีคิวเกษียณปีหน้าก็พยายามฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่คนรถไฟต้องเผชิญ จากประสบการณ์ที่ทำงานองค์กรแห่งนี้มานานกว่า 3 ทศวรรษ หวังปลุกเร้าความฮึกเหิมให้คนรถไฟเปิดใจยอมรับกับโลกและบริบทที่เปลี่ยน จากโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยน มีการพัฒนารถไฟทางคู่ ทางสายใหม่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง

คู่แข่งเปลี่ยน จากรถทัวร์ โลว์คอสต์ และรถตู้ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ เศรษฐกิจเปลี่ยน จากผู้ผลิต-ส่งออกรายใหญ่ของโลกสู่เศรษฐกิจชะลอตัว เทคโนโลยีเปลี่ยน จากรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้า และไฮบริด

ผู้โดยสารเปลี่ยน เพราะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ต้องคิดกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

“คนรถไฟต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ทั้งตนเองและองค์กรอยู่รอดและยั่งยืน ถ้าไม่เปลี่ยนจะล้าสมัยโดยอัตโนมัติ ถูกโอนให้คนอื่นเข้ามาบริหารแทน และตกงานไม่มีเงินเดือนจ่าย”

พร้อมสร้างแรงกระตุ้น… อย่าปล่อยให้รถไฟอ่อนแอ การเมืองจะเข้ามาง่าย เพราะประตูไม่ได้ล็อก วันนี้ที่อ่อนแอเพราะโดนยาซึม โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้รับคนเพิ่มมานาน เมื่อมีคน มีเครื่องมือพร้อมแล้ว ก็ต้องสร้างภัยคุกคามนี้ให้เป็นโอกาส

“ฐานะการเงินรถไฟปี 2562 มีรายได้ 9,760 ล้านบาท รายจ่าย 17,199 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 21,845 ล้านบาท มีหนี้สินสะสม 141,986 ล้านบาท ถ้าไม่ทำอะไรเลยในปี 2566 จะมีรายได้ 10,601 ล้านบาท รายจ่าย 19,481 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 25,646 ล้านบาท หนี้สินสะสมจะพุ่งขึ้นเป็น 199,279 ล้านบาท”

เมื่อโอกาสมาถึงแล้ว ก็ต้องเปิดใจรับ ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ ไม่รู้จะเปลี่ยนตอนไหน

ไม่ใช่แค่รถไฟ ทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง

ไม่งั้นจะถูกกลืนโดยไม่รู้ตัว !

Visitors: 615,744