ส่องนโยบาย Electric Vehicle ในประเทศอื่น

 
แหล่งที่มา : https://thematter.co
วันที่โพสต์ :  19 ก.พ. 2562
       

เมื่อไหร่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ จะวิ่งทั่วถนนไทย?
ส่องนโยบาย Electric Vehicle ในประเทศอื่น


ก่อนหน้านี้ถ้าใครพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า ก็คงนึกถึงรถคันจุ๋มจิ๋ม วิ่งเอาแค่น่ารักๆ จนหลายคนบอกว่า มันใช้ในชีวิตจริงไม่ได้หรอก วิ่งไปไม่กี่กิโลฯ แบตก็คงหมด แถมยังใช้เวลาชาร์จนานอีกต่างหาก แต่ว่าในปัจจุบัน ค่ายรถยักษ์ใหญ่ต่างแข่งขันกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบสู้ยิบตา จนทำให้มีสมรรถนะเทียบเท่าหรือดีกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเสียอีก และยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Fast charge’ ทำให้การชาร์จไฟแต่ละครั้งใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง

 

แต่การจะให้คนยอมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยท้าทายมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ดังนั้นนโยบายที่ผลักดันต้อง ‘ร่างจริง ทำจริง’ โดยรัฐและเอกชนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมไปพร้อมๆ กับลดกำแพงทางราคา

เรามาดูกันว่านโยบายในประเทศที่เขาทำสำเร็จและอยู่ในสถานะ ‘ผู้นำ EV’ เขาผลักดันนโยบายกันอย่างไร

The MATTER ได้มาพูดคุยกับ ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าแต่ละประเทศเขามีวิธีการหรือมาตรการอย่างไรให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และในประเทศไทยมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการผลักดันเรื่องนี้

 

ศึกษานโยบาย ต้องใช้ ‘งานวิจัย’

รถที่ใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้อย่างเครื่องยนต์ดีเซล ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 ที่ประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ละประเทศจึงพยายามผลักดันนโยบายให้มีการใช้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ ‘รถ EV’ (Electric Vehicle) ซึ่งการหันมาใช้รถ EV จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน อีกทั้งยังทำให้ค่าการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็น 0 เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของโลกลง

งานวิจัย โครงการประเมินมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ต่อการยอมรับของผู้บริโภคและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ของ ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยร่วมโดย สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ให้ศึกษาถึงแนวทาง มาตรการของภาครัฐในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านผู้ใช้และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ว่าทางภาครัฐของแต่ละประเทศได้มีวิธีการใดในการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และศึกษาผลลัพท์จากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นว่าช่วยให้มลพิษทางอากาศลดลงหรือไม่

 

ประเทศนอร์เวย์

ในประเทศนอร์เวย์ ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษีจดทะเบียน และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งรัฐยังลดภาษีรถยนตร์รายปีลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป พร้อมกับมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยรัฐให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า และผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนในประเทศสามารถชาร์จไฟฟ้าในแท่นชาร์จสาธารณะได้ ‘โดยไม่มีค่าใช้จ่าย’

รัฐยังมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยยกเว้นค่าผ่านทางในถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง และอนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าใช้ช่องทางสำหรับรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ (Bus and taxi lanes) พร้อมทั้งให้จอดรถในพื้นที่สาธารณะทุกแห่งได้โดยไม่เสียค่าจอด รวมถึงอนุญาตให้รถยนต์ไฟฟ้าโดยสารโดยเรือข้ามฟากภายในประเทศได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ประเทศเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีกำลังมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยทุ่มงบประมาณไปกับการวิจัย การผลิตเทคโนโลยีคุณภาพ การพัฒนาระบบสารสนเทศ ระบบอัจฉริยะต่างๆ ในตัวรถ แบตตอรี่ และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการในการจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ยกเว้นการเก็บภาษียานยนต์เป็นระยะเวลา 5-10 ปี ตามช่วงเวลาที่ออกรถตามแผนนโยบายของรัฐที่ตั้งไว้ และสนับสนุนเงินให้แก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะให้เงินชดเชยสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้ส่วนตัวสูงสุด 5,000 ยูโร หรือหากเป็นรถยนต์ของบริษัทก็จะชดเชยให้ 3,000 ยูโร

ผู้ใช้ยังได้รับสิทธิพิเศษที่รัฐบาลมอบให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell EV) หากเข้าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งไม่ต้องเสียค่าที่จอดรถ หรือมีที่จอดรถเฉพาะสาหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสิทธิในการใช้ช่องทางเดินรถพิเศษ สิทธิในการเข้าพื้นที่จำกัดซึ่งเปิดให้เฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า

 

ประเทศญี่ปุ่น

มาดูในฝั่งเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น ภาครัฐนั้นให้เงินสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมุ่งให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งเรื่องของโมเดลรถและแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นในเรื่องของ ‘แท่นชาร์จ’ ให้รถทุกยี่ห้อสามารถใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ตามก็ต้องใช้หัวชาร์จแบบเดียวกัน

รวมถึงยังมีการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษีจากผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีมาตรการนำรถยนต์ทั่วไปคันเก่า มาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดไว้ อีกทั้งมีการจัดตั้ง ‘เมืองยานยนต์ไฟฟ้า EV/PHEV town’ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย

 

ประเทศไทย

การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเรียกได้ว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการจัดซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่อง ส่วนมาตรการทางด้านภาษีได้กำหนดให้อัตราการจัดเก็บภาษีของยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ไว้ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง

ประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ โดยผู้ผลิตต้องยื่นเข้ารับการส่งเสริมแก่ BOI และยังมีมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต  ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และทำให้ผู้บริโภคหาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง โดยภาครัฐมีเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคันในปี พ.ศ. 2579 แต่จะทำสำเร็จไหมต้องมาคอยลุ้นกันต่อไป…

ในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมีจำนวนน้อยมาก อาจเป็นเพราะราคาที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับสมรรถนะและความสะดวกสบายที่ได้รับ แถมแบรนด์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าก็ยังมีให้เลือกไม่มากนัก บวกกับทัศนะคติของคนทั่วไปที่มีความกังวล และไม่เข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ

 

สรุปนโยบายอนาคต รถ EV ในไทย เป็นจริงได้ไหม


หลายๆ ประเทศได้มีมาตรการในส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า โดยทำกันทุกวิถีทางเพื่อให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทั้งมาตรการทางด้านการยกเว้นภาษี การให้เงินสนับสนุนทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุม และในบางประเทศได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่ครอบครองรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การไม่เสียค่าที่จอดรถ การใช้เลนพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีเป้าหมายว่าอยากให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ในอนาคต

ในด้านมาตรการส่งเสริมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า

“เราต้องมีเป้าที่ชัดเจน นโยบายที่เป็นขั้นเป็นตอน แล้วก็ทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ ประเทศไทยลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเยอะมากจนตอนนี้มีสถานีชาร์จ แต่ไม่มีรถไปชาร์จ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมีราคาค่อนข้างสูง”

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “รัฐควรหันมาใช้มาตรการในด้านการใช้ให้มากขึ้น อาจจะส่งเสริมเรื่องเงินสนับสนุน หรือจะเป็นมาตรการในด้านภาษี รัฐต้องกล้าตัดสินใจให้มากขึ้น” รวมถึงเสริมว่าอยากให้รัฐช่วยประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมคือ ทำให้คนเห็นว่าการใช้รถไฟฟ้ามันไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดทั้งในเรื่องการที่เราจะบำรุงรักษารถ เรื่องบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนมากยังกังวลอยู่

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กระแสการใช้รถ EV ก็จะมาแน่นอน และโลกจะสร้างกระแสกดดันให้เราต้องเปลี่ยนตามกระแสธารแห่งเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประเทศไทยเองก็ต้องเปลี่ยนด้วยความพร้อม ไม่เอาแบบฉุกละหุก ไม่สะเทือนกระเป๋าตังค์ของพวกเราจนรัฐไม่ยื่นมือมารับผิดชอบอะไร

อ้างอิงงานวิจัย
โครงการประเมินมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ต่อการยอมรับของผู้บริโภคและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง โดย ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร และคณะ

ขอขอบคุณ

ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร

คณะเศษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (ศูนย์รังสิต)

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 

เรียบเรียง

Napatarachai Reethasri

Visitors: 631,151