อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 
แหล่งที่มา : www.thairath.co.th วันที่โพสต์ :  28 ม.ค. 2562
       
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ปัจจุบันคือยุคแห่งการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่ บริษัทรถยนต์เกือบทุกแบรนด์เน้นไปที่การเชื่อมต่อ (connectivity) และระบบดิจิทัล (digitization) เป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2018-2019 จากผลสำรวจ “20th KPMG Global Automotive Executive Survey (GAES)” เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยผู้ผลิตรถยนต์แต่ละแบรนด์จำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง สร้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารค่ายรถส่วนใหญ่ยังไม่มีความกังวลมากนักถึงผลกระทบต่อกำไรที่จะลดลง ทั้งนี้ เคพีเอ็มจีได้เตือนผู้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ (original equipment manufacturers – OEMs) ว่าหากผู้รับจ้างผลิตยังไม่ได้วางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต จะส่งผลต่อกำไรที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมทางการตลาดที่มีมากขึ้น และความต้องการของตลาดที่หดตัวลง

ผลสำรวจอื่นๆ ของ KPMG GAES ประจำปี ซึ่งมาจากการสำรวจผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีเกือบ 1,000 ราย และผู้บริโภคประมาณ 2,000 รายทั่วโลก พบว่า

อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงถูกขับเคลื่อนโดยนโยบายของทางการ  กฎข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษและการใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัด 

แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะพัฒนาระบบส่งกำลังยานยนต์ (powertrain) ที่ตรงกับวัตถุดิบ (raw material) ที่ประเทศนั้นมี เช่น สหรัฐอเมริกาจะมุ่งพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engines – ICEs) และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles – FCEVs) ในขณะที่ประเทศจีนจะเน้นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e-mobility)

1-ไม่มีบริษัทรถยนต์แบรนด์ไหนที่สามารถคุมห่วงโซ่แห่งคุณค่าได้ทั้งหมด แต่ละแบรนด์จะมีความร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต

2-ผู้บริโภคทั่วโลกส่วนใหญ่มองว่าจะซื้อรถยนต์ไฮบริดเป็นคันต่อไป

3-ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (battery electric vehicles – BEVs) กลับมาครองเทรนด์การผลิตอันดับ 1 ของปี แซงหน้ายานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles : FCEVs) แบบไม่เห็นฝุ่น

4-โตโยต้าได้รับเลือกจากผู้บริหารให้เป็นแบรนด์ที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีที่สุด ตามมาด้วย BMW และ Tesla

 

ในยุคของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวที่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกได้หมด ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ต่างมีการจัดการที่แยกจากกันเป็นส่วนๆ แม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกันบ้าง องค์กรเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลง ควบรวม หรือเปลี่ยนสภาพเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี บริษัทที่เป็นซับพลายเออร์รับจ้างผลิตชิ้นส่วนให้กับแบรนด์ต่างๆ (OEMs) สามารถปรับใช้แพล็ตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้บริการแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ บริษัทรถยนต์ที่ลงทุนในสินทรัพย์/อุปกรณ์ทั้งหมดด้วยตัวเอง จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในการครองตลาด และการแข่งขันกับองค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อนของการแข่งขันในตลาดยานยนต์”

ผู้ออกกฎหมายหรือรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
ผู้ออกกฎหมายหรือรัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการออกนโยบายและกฎข้อบังคับ ซึ่งเข้ามาแทนที่บทบาทของ OEMs ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่านโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปเอเชียและในประเทศสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เกือบทั้งหมดใช้แผนงานของบริษัทรถยนต์จากยุโรป คือการลดขนาดเครื่องยนต์ ลดการปล่อยมลพิษและเน้นไปที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดก่อนที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้

ไม่มีระบบขับเคลื่อนระบบเดียวที่ครองตลาด
ภายในปี พ.ศ.2583 ระบบขับเคลื่อนแต่ละระบบจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเป็น BEVs 30%, ระบบไฮบริด 25%, FCEVs 23% และ ICEs 23% โดยมี BEVs เป็นผู้นำตลาด ในส่วนของผู้บริโภคนั้นไม่ต้องการเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนทางเลือกแบบเต็มรูปแบบ ระบบไฮบริดจะเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของผู้บริโภคสำหรับรถยนต์คันต่อไป โดยมี ICEs เป็นตัวเลือกที่ตามมา

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ต่างกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ดังนั้น ผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง ยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า (Electric Vehicles – EVs) สามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ เนื่องจากความต้องการ EVs ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EVs และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิต EVs ในประเทศไทยต่างเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเพิ่มความหลากหลายในการผลิต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด

ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการประกอบชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ต้องพึ่งพาเทคนิคใหม่ๆ และแรงงานมีฝีมือสูง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้น ระดับความสามารถในการแข่งขัน และจำนวนช่างเทคนิคและนักวิจัย จะเป็นกุญแจหลักไปสู่ความสำเร็จในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ โดยคุณสมบัติหลักของบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่คือ มีความรู้หลายศาสตร์ เนื่องจากชิ้นส่วนของรถยนต์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยไฟฟ้า หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุม นอกจากนี้ การผลิตแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ และการเกิดขึ้นของตลาดรถยนต์อัตโนมัติจะเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มคนที่มีทักษะด้านไอที ซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อ

พิจารณาจากระดับความสามารถในการแข่งขันและจำนวนของแรงงานที่มีฝีมือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค ขณะที่จำนวนนักวิจัยและช่างเทคนิคของไทยเพิ่มขึ้นช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใกล้กัน ประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้คือ ญี่ปุ่น ในขณะที่เวียดนามมีการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานฝีมือเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต


รถยนต์อนาคตจะมาพร้อมกับชิ้นส่วนใหม่ๆ การขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยระบบไฟฟ้าจะทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่และระบบส่งกำลังมากขึ้น นอกจากนี้ กระแสโลกที่เน้นการเชื่อมต่อไร้สาย ระบบอัตโนมัติ และความสำคัญของข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเก็บข้อมูล (data logging devices) และเซมิคอนดักเตอร์เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ยังสามารถทำหน้าที่จัดหารถยนต์ให้กับธุรกิจให้เช่าและแบ่งปันได้อีกด้วย โดยข้อได้เปรียบของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คือ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทอยู่แล้ว การที่ผู้ผลิตเหล่านี้ผันตัวไปทำธุรกิจใหม่ๆ ในตลาดที่ตนคุ้นเคยจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและช่วยรักษาพื้นที่ของตนในธุรกิจได้ (ข้อมูลจาก https://thaipublica.org/2018/11/krungsri-research-future-automotive-industry03/)


การปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มลภาวะที่เกิดจากการใช้รถยนต์สร้างอากาศที่เป็นพิษและเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ปริมาณมหาศาลของรถยนต์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนใหญ่ปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้สูงเกินกว่ามาตรฐานกำหนดและกลายเป็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา ตราบใดที่รัฐยังคงมุ่งไปที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เราก็ต้องหายใจเอาอากาศที่เป็นพิษเข้าไปอยู่วันยังค่ำ เมื่อมองไปที่รถไฟฟ้า รัฐก็ต้องหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดสำหรับชาร์จมาใช้ทดแทนการเผาเชื้อเพลิงหรือถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟในแบบเก่า รวมถึงการกำจัดแบตเตอรี่ที่หมดอายุและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาลอีกด้วย. 

Visitors: 630,171