เสนา Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า หมู่บ้านโซลาร์ฯตอบโจทย์พลังงานยั่งยืน

 
แหล่งที่มา : www.khaosod.co.th วันที่โพสต์ :  26 ธ.ค. 2561
       
เสนา Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า หมู่บ้านโซลาร์ฯตอบโจทย์พลังงานยั่งยืน

เสนา Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า / ธุรกิจสีเขียวหรือ Go Green เราอาจจะได้ยินกันมาเมื่อหลายปีก่อนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างตื่นตัวกับการดำเนินธุรกิจนี้กันมากขึ้น เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่าเราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หากปราศจากสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ทุกคนจะสนใจที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งจะสนใจบริษัทที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

จากเทรนด์ของผู้บริโภคที่มุ่งใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีการปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันความสามารถการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) กำลังมาแรงในต่างประเทศและแม้แต่ในประเทศไทยกระแสตอบรับเริ่มมีมากขึ้น ตัวอย่างของบริษัทที่นำร่องเป็นรายแรกๆในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบคือ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ (SENA)  ผู้คว่ำหวอดในวงการอสังหาฯในเมืองไทยมากว่า 30 ปี

“เริ่มต้นศึกษาอย่างทุ่มเทและมุ่งมั่นในแนวความคิดที่จะหาพลังงานมาทดแทนสำหรับบ้านทุกหลัง เพื่อระงับการทำร้ายโลกในระดับครัวเรือน ซึ่งคำตอบก็คือโซลาร์รูฟท็อปซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องใหม่และเราก็เป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆและมีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้บ้านทุกหลัง คอนโดมิเนียมทุกอาคารของเสนาจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และวันนี้ทุกคนยอมรับ หากเรามีการติดตั้งโซลาร์ฯ เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีส่วนช่วยในการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วย”ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ชี้ให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของเสนานั้นมุ่งสู่ Go Greenอย่างมีนัยสำคัญ

                                                    ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

บทพิสูจน์กว่า 10 ปีที่เสนาได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ผ่านการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้าง โดยมีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการออกแบบพื้นที่สีเขียวภายในตัวโครงการ การจัดวางผังให้สามารถรับแสงสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และติดตั้งระบบระบายอากาศ รวมถึงการติดตั้งหลอดไฟ LED ทั้งโครงการ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนกระทั่งปัจจุบันเสนามีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมรวม 12 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวม 266 กิโลวัตต์ สามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 44.7 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 26 ต้น

ขณะเดียวกันจากเทรนด์ของโลกที่ยานยนต์จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งทั่วโลกต่างเร่งวิจัยและพัฒนากันมากขึ้น เสนายังตอบรับกระแสดังกล่าวเพื่อเป็นการตอกย้ำในการดำเนินธุรกิจสีเขียวที่ใช้พลังงานสะอาด 100 % โดยวางเป้าหมายที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station) ภายในโครงการของเสนาทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียมภายใต้ชื่อ EV ready รองรับยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด(PHEV) รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ (BEV) ให้กับลูกค้าอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าวันนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีจะยังมีกลุ่มผู้ใช้รถไม่มากแต่ก็เชื่อมั่นว่าเทรนด์ของโลกในอีก 4-5 ปีข้างหน้ามาแน่นอน

 

ปัจจุบันมีโครงการที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station) ภายในโครงการของเสนาฯทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมเพื่อบริการให้กับลูกบ้านไปแล้ว ได้แก่ เสนาพาร์คแกรนด์ รามอินทรา, เสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา – วงแหวน, เสนาวิลล์ ศาลายา, เสนาอเวนิว บางกะดี – ติวานนท์ ,เสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน – คูคต, เสนาช็อปเฮ้าส์ ลำลูกกา – คลองสอง, เสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค – เทอดไท และคอนโดมิเนียม ได้แก่ นิช โมโน สุขุมวิท 50, นิช โมโน พีค บางนา,และมีเป้าหมายที่จะขยายให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมการบริการมากขึ้นในอนาคต

ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปที่ขณะนี้ต้นทุนต่ำลงมากส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลงต่อเนื่องและกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะภาคธุรกิจหันมาติดตั้งเพื่อใช้ในอาคารสำนักงานในการประหยัดไฟจำนวนมาก และเริ่มมีรูปแบบของการขายไฟฟ้าระหว่างกันเองกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งเสนายังมีแผนจะให้บริการผู้อยู่อาศัยในโครงการที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือจากการใช้ในตัวบ้าน สามารถขายไฟฟ้าให้กับบ้านหลังอื่นในโครงการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้อีกด้วย

แนวคิดนี้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2018 (ปี 2561-2580) ของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่กำหนดรับซื้อบรรจุไว้ในแผนพีดีพีใหม่ถึง 10,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของแผนดังกล่าวได้ในต้นปี 2562 จะเห็นว่าอนาคตของโซลาร์รูฟท็อปนั้นมาแรงแซงโค้งทีเดียวเพราะลำพังแค่ไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้าแค่ผลิตเองก็ถือว่าเริ่มคุ้มทุนมากขึ้นแล้ว และหากยังขายเข้าระบบได้ด้วยก็จะยิ่งทำให้โอกาสเป็นของผู้ที่กล้าติดตั้งมากขึ้น

เมื่อโลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งดิจิทัลที่นำให้สังคมก้าวสู่การเรียนรู้ด้วยแหล่งข้อมูลที่มากมายในอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ความเป็นเมืองและฐานประกอบการทางธุรกิจขยายไปสู่ชานเมืองและต่างจังหวัด ประกอบกับคนตื่นตัวกับการดูแลโลกใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าทุกประเทศมุ่งสู่ Green Economy อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร ด้วยเทรนด์เหล่านี้ทำให้เชื่อว่าการพัฒนาหมู่บ้านในอนาคตจะต้องตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้และโซลาร์ฯจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะพบได้ในหลังคาบ้านของคนไทยมากยิ่งขึ้น

Visitors: 630,136