ห่วงรายใหญ่ล้มระเน! ฟองสบู่แตก ชงแบ่งโควตา แก้ซัพพลายล้น

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  27 ม.ค. 2562
       

ห่วงรายใหญ่ล้มระเน! ฟองสบู่แตก ชงแบ่งโควตา แก้ซัพพลายล้น


การเพิ่มขึ้นของจำนวนหน่วยเกิดใหม่และมูลค่ารวมสูงสุดในรอบ 25 ปี แตะ 5.6 แสนล้านบาท ของตลาดที่อยู่อาศัยไทยในช่วงปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งความกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ช็อกตลาด เพราะซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ เสี่ยงสุดไม่ใช่รายเล็กเงินทุนไม่หนา กลับเป็นบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่ยอดขายกระจุกตัว 3 ใน 4 หวั่นตลาดฟุบ ล้มระเนระนาด ชงทางออก แบ่งโควตาพัฒนา

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่า หลังจากเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของซัพพลายที่อยู่อาศัยใหม่ รวมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มากถึง 1.25 แสนหน่วย (450 โครงการ) ขยายตัว 9.3% จากปี 2560 ส่งผลให้ตลาดช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา เติบโตอย่างผิดปกติ ทั้งในแง่จำนวนหน่วยและมูลค่าสูงสุดในรอบ 25 ปี (ตั้งแต่ปี 2537) 5.65 แสนล้านบาท ไม่ต่างจากราคาขายเฉลี่ยปรับสูง 17% จาก 3.8 ล้านบาทต่อหน่วย ขยับมาอยู่ที่ 4.5 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตดังกล่าวกระจุกตัวมากสุดในตลาดคอนโดมิเนียม มีหน่วยเปิดใหม่ทั้งสิ้น 7.5 หมื่นหน่วย ก่อให้เกิดความน่ากังวล ว่า ตลาดคอนโดฯ อาจเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น เพราะแม้อัตราดูดซับในช่วงที่ผ่านมาจะสูงประมาณ 60% แต่ยังมีหน่วยเหลือขายสะสมคงค้างในตลาดและที่จะทยอยออกมาอีกจำนวนมาก




ขณะที่ "ดีมานด์หลัก" กำลังซื้อต่างชาติชาวจีนที่ตลาดพึ่งพา ส่วนใหญ่ 20% เป็นนักลงทุน เก็งกำไร มีความไม่แน่นอน โดยอัตราการขาย 35-40% ที่กระจุกตัวในบริษัทมหาชนใหญ่ ๆ หลายบริษัทมีความเสี่ยงสูง หากกำลังซื้อจีนลดตํ่าลง เพราะสงครามการค้า อาจทำให้ระยะเวลาโอนหลังซื้อมีโอกาสลากยาวนานถึง 40 เดือน ส่งผลต่อภาวะการเงินของบริษัทนั้น ๆ รวมถึงสถาบันการเงินด้วย ทำให้ภาวะฟองสบู่เกิดเร็วขึ้น ไม่เกิน 1 ปีหลังจากนี้ ซึ่งแตกต่างจากภาวะปกติที่มักเกิดปัญหาขึ้นหลังจาก 2-3 ปี

"ฟองสบู่รอบนี้จะแตกเพราะกำลังซื้อจีน นอกจากจะชะลอลงทุนในต่างประเทศลง อาจวางดาวน์ไปแล้วก็ไม่มาโอน หรือ โอนแล้วก็นำออกมาขายแข่ง เอาเงินกลับประเทศ เกิดภาวะฟุบและแตกอย่างรวดเร็ว น่าเป็นห่วงบริษัทใหญ่ที่ขายต่างชาติ เพราะปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 3 ใน 4 เพิ่มขึ้นจากอดีตที่ 2 ใน 4"

การเปิดตัวโครงการไม่หยุดยั้ง อาจทำให้ฟองสบู่ของตลาดคอนโดฯ ยิ่งพองตัวและแตกได้เร็วขึ้น นายโสภณจึงแนะว่า นอกจากข้อเสนอที่ให้สถาบันการเงินร่วมกับผู้ประกอบการจัดมหกรรมขายทรัพย์สินเพื่อระบายสต๊อกเหลือขายของตลาด รวมถึงให้นำ พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้กับผู้ซื้อและผู้ประกอบการทุกราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตลาด แล้วผู้ประกอบการควรมีการปรึกษาหารือในการแบ่งโควตาการพัฒนาโครงการให้ชัดเจน เพื่อไม่ก่อให้เกิดซัพพลายส่วนเกินมากเกินไป และเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตลาดในระยะยาวด้วย แม้แนวโน้มน้าววิธีการดังกล่าวทำได้ยาก แต่จะช่วยกระจายทำเลและโปรดักต์ให้มีความเหมาะสมได้

ทั้งนี้ คาดว่าจากสัญญาณฟองสบู่ต่าง ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายชะลอตัวเปิดโครงการลงบ้าง ส่งผลหน่วยเกิดใหม่ในตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมของปี 2562 น่าจะหดตัวประมาณ 15% แต่แนวโน้มราคาเปิดตัวยังสูง คาดยังเฉลี่ยเกิน 4 ล้านบาทต่อหน่วย เพราะปัจจัยราคาที่ดินที่ปรับตัวสูง 
   
Visitors: 619,408