ฝุ่น : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก

 
แหล่งที่มา : www.bbc.com วันที่โพสต์ :  15 ม.ค. 2562
       
ฝุ่น : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก

อังกฤษประสบปัญหาฝุ่นละอองพิษเช่นกัน

ปัญหามลพิษทางอากาศกำลังเป็นภัยคุกคามผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากมาย ด้วยเหตุนี้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกจึงพยายามหาทางออกในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามสุขภาพของชาวเมือง

เมืองผู้ดีก็เจออากาศสกปรก

ที่อังกฤษ รัฐบาลเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์อากาศสะอาด (Clean Air Strategy) วานนี้ (14 ม.ค. 2561) ให้คำมั่นว่าจะกำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 ที่ปัจจุบันเมืองกว่า 40 แห่งในสหราชอาณาจักร มีค่าพีเอ็ม 2.5 ในระดับเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด หรือสูงกว่า

รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าว่าจะเป็น "แกนนำโลก" ในการควบคุมพีเอ็ม 2.5 อย่างไรก็ดี ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนหรือลำดับแผนงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าภายในปี 2030 เมืองต่าง ๆ ทั่วอังกฤษจะมีค่าพีเอ็ม 2.5 ต่ำกว่าที่ดับเบิลยูทีโอกำหนดดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายแห่งจึงไม่มั่นใจและไม่เชื่อว่ายุทธศาสตร์อากาศสะอาดจะเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหามลพิษในเมือง

 
ช่วงเช้าในลอนดอน ต่างจาก กทม. ไหม

อังกฤษจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ?

กิจกรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กคือการเผาเชื้อเพลิงทั้งไม้และถ่านหินทั้งกลางแจ้งและที่ใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้การทำเกษตรยังเป็นอีกปัญหาหลัก เนื่องจากการระเหยของก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น ก๊าซชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับสารเคมีชนิดอื่นในชั้นบรรยากาศและก่อให้เกิดอนุภาคมลพิษที่ถูกลมพัดพาไปยังบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้

ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจะห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือน และตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป เตาหุงหาอาหารที่ใช้จะเป็นประเภทที่ไม่ก่อเกิดมลพิษ นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างปรึกษาหารือว่าจะค่อย ๆ เลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในบ้านและจำกัดการขายไม้เปียก ที่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย

สำหรับเกษตรกรนั้น รัฐบาลจะออกมาตรการกำหนดให้ใช้วิธีทำเกษตรที่ส่งผลให้มีการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียน้อยลง โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือในการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะจำกัดการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียได้

 
เกาหลีใต้ใช้มาตรการฉุกเฉินแก้ปัญหามลพิษในกรุงโซล โดยจัดให้บริการขนส่งมวลชนฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน

เกาหลีใต้ ให้บริการขนส่งมวลชนฟรีและเทคโนโลยี

เมื่อต้นปี 2017 ทางการเกาหลีใต้ใช้มาตรการฉุกเฉินแก้ปัญหามลพิษในกรุงโซล ด้วยการจัดให้บริการขนส่งมวลชนฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

ปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงโซลเชื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ถ่านหินและน้ำมันดีเซล ประกอบกับการได้รับหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ทางการเกาหลีใต้ยังใช้วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอื่น ๆ เช่น การจำกัดการใช้รถยนต์รุ่นเก่า การจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลของลูกจ้างรัฐ การปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐ 360 แห่ง และการลดการก่อสร้างของโครงการที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ได้ประกาศใช้โครงการนำร่อง โดยใช้โดรนติดกล้องบินตรวจตราพื้นที่แถบชานกรุงโซล เพื่อตรวจสอบว่าโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ลักลอบปล่อยควันเสียที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ตรวจพบผู้ลักลอบปล่อยควันเสียได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน

มาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในยุโรป
 
มาตรการในสเปนให้ความสำคัญกับผู้ใช้จักรยานและคนเดินถนน มากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์
กรุงมาดริด

เมื่อปลายปี 2018 ทางการสเปนเริ่มใช้มาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศย่านใจกลางกรุงมาดริด ซึ่งทางการหวังว่าจะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ถึง 40% ช่วยลดมลพิษทางเสียง และกระตุ้นให้ผู้คนใช้รถจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

มาตรการนี้ ผู้ใช้รถจะต้องนำรถไปตรวจวัดการปล่อยไอเสีย ซึ่งรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากที่สุดจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุมที่อยู่ใจกลางกรุงมาดริด ขณะที่รถยนต์ไฮบริดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับอนุญาตให้สัญจรได้อย่างเสรี เป็นต้น

กรุงปารีส

ทางการห้ามรถที่ผลิตก่อนปี 1997 ขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.00-20.00 รวมทั้งห้ามรถยนต์ดีเซลทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 ขับเข้าพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางการฝรั่งเศสยังใช้กลยุทธ์เพื่อห้ามรถรุ่นเก่าและรถดีเซลขับเข้าย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการอุดหนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวางแผนให้ย่านใจกลางเมืองเป็นเขตถนนคนเดิน

 
สวีเดนแก้ปัญหามลพิษในเมืองด้วยการลงทุนในระบบรถโดยสารประจำทาง รถราง และรถไฟใต้ดิน

กรุงสตอกโฮล์ม

ทางการสวีเดนใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ขับรถเข้าไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่นย่านใจกลางเมืองหลวง รวมทั้งจัดจุดให้ประชาชนจอดรถส่วนบุคคลในย่านชานเมืองแล้วขึ้นรถโดยสารเข้าเมืองแทน

นอกจากนี้ทางการยังใช้แผนการคมนาคมในเขตเมือง Urban Mobility Strategy โดยเพิ่มการลงทุนในระบบรถโดยสารประจำทาง รถราง และรถไฟใต้ดิน

ภัยของฝุ่นละอองพิษ

แคเธอรีน เบเซลล์ บรรณารักษ์ที่เกษียณแล้วชาวอังกฤษเป็นอีกคนที่เป็นโรคหอบหืด รวมถึงอาการที่เรียกว่า โรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis)

โรคหลอดลมพอง หรือที่บางครั้งเรียกว่า โรคมองคร่อ คืออาการที่หลอดลมภายในปอดขยายตัวถาวรอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดการสั่งสมของมูกมากขึ้น ทำให้ปอดเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

 
แคเธอรีน เบเซลล์ ป่วยด้วยโรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis)
"คนเราไม่ได้รับอากาศสกปรกตลอดเวลา แต่มันก็มีอยู่" เธอกล่าว

"มันน่าผิดหวังมาก ฉันเหนื่อยง่ายมาก หน้าอกมันบีบรัด หายใจยาก มันทำให้คุณต้องหยุดทำทุกอย่างที่คุณอยากทำ"

"คุณเห็นประกาศเตือน และประกาศมันก็บอกว่าวันนี้อากาศเป็นพิษมาก คุณจำเป็นต้องอยู่ให้ห่างมลพิษ มันทำให้ฉันโกรธ เพราะทำเราเราต้องอยู่แต่ในบ้าน"

"เราจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างกับมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ตามปกติ"

 
ชีวิตที่ต้องใส่หน้ากากอนามัย

5 วิธีหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ

       1.
หลีกเลี่ยงการเดินทางในถนนที่มีการจราจรคับคั่ง เพราะระดับความเข้มข้นของมลพิษมักพบอยู่โดยรอบพื้นที่เหล่านี้

       2.ใช้ถนนที่ไม่ใช่เส้นหลัก เพราะมีรถสัญจรน้อยกว่าจึงทำให้มีมลพิษน้อยกว่า

       3.หลีกเลี่ยงแหล่งกระจุกตัวของอากาศเป็นพิษ ซึ่งหมายถึงบริเวณที่รถจอดนิ่งโดยที่ติดเครื่องยนต์ไว้ โดยเฉพาะบริเวณรถติด หรือจุดที่รถจอดติดไฟแดง ส่งผลให้บริเวณนี้มีมลพิษทางอากาศหนาแน่น ดังนั้นหากต้องรอข้ามถนนในแถบนี้ จึงควรกดสัญญาณไฟคนข้าม แล้วถอยให้ห่างจากถนนจนกว่าสัญญาณไฟให้ข้ามถนนจะปรากฏขึ้น

       4.เมื่อเดินขึ้นเขา ให้เลือกเดินฝั่งที่รถวิ่งลงเขา เพื่อหลีกเลี่ยงการรับควันจากท่อไอเสียในปริมาณมา

       5.หน้ากากกันฝุ่นละอองแบบธรรมดาไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองเป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หน้ากากป้องกันมลพิษแบบเต็มประสิทธิภาพก็มักเทอะทะไม่สะดวกในการใช้งาน นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงถนนที่มีการจราจรคับคั่งแทน

Visitors: 664,229