#สงครามการค้า จากมุมมองนักกฎหมาย Harvard Law School

 
แหล่งที่มา : www.facebook.com/ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ-มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วันที่โพสต์ :  11 ม.ค. 2562
       
#สงครามการค้า จากมุมมองนักกฎหมาย Harvard Law School

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ (11 มกราคม 2562) คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โดยการประสานงานของ อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ Arm Tungnirun ได้เชิญ Professor Mark Wu ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายที่ดำรงตำแหน่ง Henry L. Stimson Professor of Law จากมหาวิทยาลัย Harvard มาบรรยายสาธารณะในหัวข้อ The US-China Trade War หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ Wu ผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์การการค้าโลก (WTO), เคยทำงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั้งกับ World Economic Forum และ the World Bank และที่สำคัญท่านยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและนักเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และท่านยังมีประสบการณ์อื่นๆ อีกมากร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ และองค์การระหว่างประเทศ ด้านประสบการณ์การศึกษา ศาสตราจารย์ Wu จบจากทั้ง Yale, Oxford และ Harvard ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี หรือภาคปฏิบัติ เมื่อศาสตราจารย์คนนี้บรรยายเรื่อง สงครามการค้า เราจำเป็นต้องฟังและคิดตามอย่างตั้งใจครับ

ศาสตราจารย์ Wu เริ่มต้นการบรรยายโดยตั้งคำถามกับผู้ฟัง 2 ข้อครับ ข้อแรก ท่านรู้สึก ตื่นเต้น (Excited +) หรือหวาดกลัว (Frightened -) กับผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน (China’s Economic Rise) ที่มีต่อระเบียบโลก (Global Order) และ ข้อสอง ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพลังจากภายนอกประเทศจีน (Outside Forces) จะสามารถยับยั้ง (Prevent) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน หลังจากผู้ฟังในห้องยกมือแสดงความคิดเห็นของตนแล้ว ศาสตราจารย์ Wu ก็บอกว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ทำนโยบายการค้าของสหรัฐ คือผู้ที่ตอบว่า หวาดกลัว และเชื่อว่าพลังจากภายนอก (นั่นคือ สหรัฐ, ผู้เขียน) จะสามารถยับยั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนได้ หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ Wu จึงบรรยายต่อถึงสถานการณ์โดยย่อของภาวะสงครามการค้าตลอดปี 2018 และสิ่งที่เราต้องรู้ 3 ข้อเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีนในครั้งนี้ โดยทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

1. สถานการณ์และความพยายามของสหรัฐในการยับยั้งการเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วและจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็เพียงแค่รูปแบบของการดำเนินนโยบายเท่านั้น ส่วนหลักคิดและยุทธศาสตร์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

โดยศาสตราจารย์ Wu ยกเหตุผลให้เห็นว่า จีน คือภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐ เนื่องจาก

1) จีนมีการใช้เงินอุดหนุนและมาตรการของรัฐอย่างมากมายมหาศาล เพื่อปกป้องธุรกิจและเศรษฐกิจจีน และอาจจะไปทำลายธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐ

2) จีนมีทรัพยากรธรรมชาติที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมหาศาล โดยเฉพาะ แร่ธาตุกลุ่ม Rare Earth แต่จีนก็มีมาตรการห้ามส่งออกทรัพยากรเหล่านี้ ทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร

3) จีนมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Theft) ที่ซับซ้อนผ่านการควบรวมกิจการหลากหลายรูปแบบ

4) นโยบาย Made in China 2025 คือนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะสร้างโอกาสและสกัดกั้นประเทศอื่นๆ ในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม

จากนั้นศาสตราจารย์ Wu ก็บรรยายว่า ความพยายามในการยับยั้งและจำกัดการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนมีมาก่อนหน้าสมัยของประธานาธิบดี Trump แล้ว เช่น ในสมัยของประธานาธิบดี Obama เครื่องมือหลักที่ใช้คือข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) แต่ในกรณีของ Trump เขาไม่ต้องการใช้ TPP เพราะเขาพิจารณาว่า ข้อตกลงที่มีหลายประเทศในระดับภูมิภาคเช่นนี้มีความยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูงเกินไปในการที่สหรัฐจะต้องไปเจรจาและยอมผ่อนปรน ลดหย่อน และให้สิทธิประโยชน์กับหลายๆ ประเทศ Trump คือคนที่มองว่าการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้าจะสามารถทำได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือแม้แต่การใช้นโยบายในลักษณะฝ่ายเดียว (Unilateral) ก็จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐมากกว่า เราจึงเห็นการประกาศสงครามการค้า นั่นนำไปสู่ข้อที่ 2

2. การดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี Trump จึงเป็นการหวังผลทางยุทธศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง (ในขณะที่มีการหวังผลทางการเมืองเป็นผลได้อันดับรอง) โดยการดำเนินนโยบายนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่จำเป็นต่อสหรัฐ โดย Professor Wu ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ภาคการผลิตที่จีนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษในนโยบาย Made in China 2025 (Information technology, Numerical control tools and robotics, Aerospace equipment, Ocean engineering equipment and high-tech ships, Railway equipment, Energy saving and new energy vehicles, Power equipment, New materials, Medicine and medical devices และ Agricultural machinery) มีหลายภาคการผลิตมากที่สามารถต่อยอดทางการทหาร โดยเฉพาะการผลิตอาวุธได้ ดังนั้นการออกนโยบายตอบโต้ Made in China จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐ และเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐศูนย์เสียสถานะผู้จัดระเบียบโลกด้านความมั่นคง

และในขณะเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจเอง จีนก็เป็นภัยคุกคาม เพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในปีหลังๆ มานี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกขึ้นกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างยิ่ง และในภาคธุรกิจเอง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ธุรกิจจีนขยายตัวและมีอิทธิพลในตลาดอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางความมั่นคงยิ่งต้องทำให้ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต้องสกัดกั้นจีน โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าต้นทุนในการสกัดกั้นครั้งนี้จะสูงเพียงใด (ทำให้นึกถึง Truman Doctrine ที่สหรัฐประกาศจะขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุน และ Plaza Accord 1985 ที่สหรัฐขัดขวางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น, ผู้เขียน) และนั่นนำไปสู่ข้อที่ 3

3. กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถเข้ามาจัดการหาทางออกให้กับปัญหาสงครามการค้า ณ ขณะนี้ได้ ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนทางกฎหมาย (ซึ่งผมเองไม่มีความถนัด) แต่สามารถสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ในกรณีของเรื่องภายในประเทศ องค์การการค้าโลกไม่สามารถเข้าไปวางกฎเกณฑ์ในเรื่องบางเรื่องได้ โดยเฉพาะ 6 เรื่องของประเทศจีน ดังนี้

1) รัฐบาลจีนเข้าไปเป็นเจ้าของ Holding Company ที่ทำการผลิตอุตสาหกรรมหลักๆ หลายอุตสาหกรรม

2) รัฐบาลจีนผ่านทาง Central Huijin Investment เป็นผู้ลงทุนที่สามารถควบคุมสถาบันการเงินหลักภายในประเทศจีนได้

3) National Development and Reform Commission (NDRC) หรือหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของจีนมีอิทธิพลและสามารถควบคุมการดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างกว้างขวาง

4) ภาคธุรกิจและภาครัฐมีสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

5) รัฐบาลสามารถเข้าไปควบคุมการแต่งตั้งผู้บริหารและการบริหารงานของภาคเอกชนได้ และ

6) ผู้บริหารเอกชนของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Jack Ma และอีกหลายๆ คนก็เป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับรัฐบาล เหล่านี้ทำให้สหรัฐมองว่าการแข่งขันกับจีน คือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ใช่เอกชนแข่งกับเอกชน แต่เป็นเอกชนต้องไปต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ขององค์การการค้าโลกยังไม่สามารถเข้ามาจัดการประเด็นเหล่านี้ได้

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ Wu ก็สรุปว่า นั่นหมายความว่าทุกฝ่าย ทุกประเทศต้องปรับตัวกับภาวการณ์เช่นนี้ ซึ่งถือเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน

Visitors: 634,149