โอน 4 สนามบินภูมิภาค โอนธุรกิจผูกขาดสู่มือ 'นายทุนหน้าเดิมๆ'

 
แหล่งที่มา : http://news1live.com/ วันที่โพสต์ :  1 ม.ค. 2562
       
โอน 4 สนามบินภูมิภาค โอนธุรกิจผูกขาดสู่มือ"นายทุนหน้าเดิมๆ"

ว่าด้วยเรื่อง นโยบายการโอนท่าอากาศยาน 4 แห่ง ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่  อุดรธานี  สกลนคร  ตาก และ ชุมพร ไปให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
       
 “ข้อสั่งการนายกฯ ให้เร่งดำเนินการ โดยถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย”
       
    กระทรวงคมนาคมนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณา วิธีการและแนวทางในการปฏิบัติ ได้คำตอบเบื้องต้น ที่ชัดเจนว่า สนามบินของกรมท่าอากาศยานเป็นทรัพย์สินของรัฐ จึงไม่สามารถโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้ทอท. ที่ปัจจุบันได้แปลงสภาพเป็น บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว  ขณะที่ คงต้องใช้วิธีให้สิทธิ์บริหาร ภายใต้เงื่อนไข... ส่วนทอท.จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่ เพื่อความชัวร์ ...ต้องรอคำตอบ จากกฤษฎีกา  
       
    ประเด็นที่ต้องเคลียร์ให้ชัด คือ กรณีโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) ต้องจ่ายค่าก่อสร้างคืน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ...โอนสนามบินที่รัฐลงทุนด้วยงบประมาณ ทอท. ควรจะต้องจ่าย เหมือนกันหรือไม่?


***เปิดข้อมูล โอนสนามบินรัฐ...กระทบบริการและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
       
    มีการวิเคราะห์นโยบายในเชิงลึก พบว่า การโอนสนามบินของราชการไปให้ ทอท. ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน จะทำให้ประชาชนและประเทศเสียประโยชน์อย่างมาก กล่าวคือ 1.ประชาชนต้องจ่ายค่าใช้บริการสนามบินแพงขึ้น เนื่องจาก ทุกๆ เที่ยวบินผู้โดยสารต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) เพิ่ม  เมื่อเปรียบเทียบกัน โดย ทย.จัดเก็บPSC ผู้โดยสารเส้นทางในประเทศ 50บาท ระหว่างประเทศ 400 บาท ขณะที่ ทอท.จัดเก็บ 100 บาท / 700 บาท ตามลำดับ  ภายใต้บริการที่เหมือนกัน อาคารผู้โดยสาร ห้องน้ำ ที่จอดรถ และในความเป็นจริง สนามบินทอท.บางแห่งบริการแย่กว่าอีกด้วย
       
    ส่วนสายการบิน ก็ต้องอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน คือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม การขึ้น-ลงอากาศยาน / จัดเก็บอากาศยาน  (Landing/  Parking  Fee) เพิ่มขึ้น  จากที่ ทอท.เก็บอัตราที่สูงกว่า สนามบินราชการประมาณ  2 เท่า  รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ที่สายการบินต้องจ่าย ทำให้มีต้นทุนสูง แล้วจะเป็นศูนย์กลางการบินได้อย่างไร


*** โอทอป - ผู้ประกอบการท้องถิ่น หมดอาชีพ
       
       ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้รับผลกระทบ โดย ทย.บริหารสนามบินในต่างจังหวัดโดยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น เปิดร้านค้า โดยเก็บค่าเช่าในอัตราที่เหมาะสมเป็นธรรม  นโยบายการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทย.ใช้หลักเปิดประมูล 70 % โดยเงื่อนไขหลัก ราคาขายต้องเท่ากับในเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดังแค่ไหน “ซื้อกาแฟในสนามบิน จ่ายราคาเดียวกับในเมือง” อีก 30%  ให้พื้นที่กับท้องถิ่น โดยใช้วิธีคัดเลือกและให้มีการหมุนเวียนเข้ามา
       
       แตกต่างจาก ทอท. ที่เหมารวมพื้นที่ผูกเป็นสัมปทานให้เอกชนรายเดียว กุมเค้กก้อนใหญ่ โดยอ้างรูปแบบมาตรฐานสากล  เมื่อเรียกเก็บค่าตอบแทนสูง ค่าเช่าพื้นที่ก็แพง ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าไม่ถึง ที่สุดต้องตั้งราคาสินค้าสูงเพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย  จึงมีข่าว ราคา สินค้าและอาหาร สนามบิน ทอท.แพง!  
       
        ทอท.เน้นร้านค้าแบรนด์เนม ยี่ห้อดัง ...ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสูญเสียโอกาสทำมาหากิน  “รัฐบาลต้องดูแลชาวบ้านท้องถิ่น ไม่ใช่ปล่อยให้หมดอาชีพ...แบบนี้”
       
        ก่อนหน้านี้ ได้มีการโอนสนามบินภูมิภาค 4 แห่งของกรมการบินพาณิชย์ ให้ ทอท. ได้แก่ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ในปี 2531 และ  เชียงราย เมื่อปี 2541 โดย ทอท.ไม่มีการลงทุนพัฒนาใดๆ ใช้ของเดิมที่มี จนเกิดความแออัด over capacity หลายล้านคนไปแล้วจึงค่อยเริ่มลงทุน จะมองว่าเป็นบริหารล้มเหลวก็ได้ ค่าบริการที่สูง หวังกำไรแบ่งผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เป็นคนไทย
       
       “ดอนเมืองเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวอย่างมาก บริการมีปัญหา นี่ขนาดสนามบินของ ทอท.เอง ยังบริหารให้ดีไม่ได้”
       
       ประเด็นสำคัญ...การจัดซื้อจ้างที่ล่าช้า บางอย่างเก่าสมควรเปลี่ยน แต่ดื้อซ่อม ...กระทบบริการ มีประเด็นแอบแฝง ครหาไม่โปร่งใส ล็อกสเปก เพียบ!  ขยายสนามบินภูเก็ตล่าช้าอย่างมาก ,ดอนเมือง สะพานเทียบเครื่องบินเก่าจนไม่รู้จะเก่าอย่างไร แต่ไม่เปลี่ยน ใช้วิธีซ่อม ใช้เจ้าเดิมๆ ราคาแพง เรียกว่าซื้อใหม่คุ้มกว่า อาคารจอดรถเต็ม เปิดประมูลให้เอกชนมาก่อสร้าง ท่ามกลางครหา ไม่โปร่งใส


***ทอท.ตั้งท่าลงทุน 3.5 พันล. ปั้น 4 สนามบิน รับบินตรงจากยุโรป
       
       ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  ทอท. ระบุว่า จะใช้งบลงทุน 3,500 ล้านบาท ในการปรับปรุง 4 สนามบิน ที่รับโอนจาก ทย.ได้แก่ สนามบินอุดรธานี ชุมพร ตาก และสกลนคร ซึ่งคาดว่าจะเข้าบริหารทั้ง 4 สนามบินได้ในไตรมาส 3 ปี 2562
       
       โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 ระยะ ช่วงแรกใช้เงิน 1,500 ล้านบาท  โดยเน้นการปรับปรุงสนามบินอุดรธานี 1,200 ล้านบาท ให้ได้มาตรฐาน ICAO เพื่อสามารถเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศจากยุโรปมายังอุดรธานี จังหวัดที่มีเขยฝรั่งมาก ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางถึงปีละ  3.5 แสนคน  ตลาดมีอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างอะไร แค่ทำให้สะดวก บินตรงได้ เป้าหมายตารางบินฤดูหนาวปี 2563 หรือในเดือน ต.ค. 2562”
       
       “การปรับปรุงแบ่ง 2 ระยะ ระยะแรกใช้เงิน 1,500 ล้านบาท ระยะที่ 2 ประมาณ 2,000 ล้านบาท หลัก ๆ จะนำไปปรับปรุงสนามบินอุดรธานี 1,200 ล้านบาท ให้ได้มาตรฐาน ICAO เพื่อเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศจากยุโรปมายังอุดรธานีที่มีชาวต่างชาติเดินทางมา 3.5 แสนคนต่อปี จากทั้งหมด 5 แสนคนต่อปี เพราะเป็นจังหวัดที่มีเขยฝรั่งอยู่มาก ตั้งเป้าจะเริ่มเปิดตารางบินฤดูหนาวปี 2563 หรือในเดือน ต.ค. 2562”
       
        กระทรวงคมนาคม ย้ำว่า จะนำความเห็นของทั้ง ทย.และทอท. มาพิจารณาประกอบการนำเสนอฝ่ายนโยบายแน่นอน   
       
       แง่ข้อกฎหมาย หน้าที่ของกรมท่าอากาศยาน ให้ศึกษาความเหมาะสม เป็นไปได้ในการมีสนามบินใหม่ ทำการก่อสร้าง และบริหาร มีสนามบินรับผิดชอบ 28 แห่ง หากต้องหายไป 4 แห่ง ต้องไม่ให้ผิดกฎหมายรับ ว่า ทย.ไม่ต้องทำสนามบิน 4 แห่งดังกล่าว
        
       กรณี หน่วยงานราชการ บริหารงานอาจจะล่าช้า แต่ปัจจุบัน ทย.มีกองทุนหมุนเวียนทำให้การดูแลบริหารสนามบินมีความคล่องตัวมาก ลดการพึ่งพางบประมาณได้มาก  ซึ่ง ทย.ได้เริ่มStart เมื่อปี 2558 จาการผ่าตัดกรมการบินพลเรือน หลังถูกธงแดง ICAO การทำงานคล่องตัว วันนี้สนามบิน ทย.เริ่มมีกำไร นโยบายยกสนามบินให้ ทอท. เหมือนเป็นการฉีกกระเป๋าให้กลับไปของบประมาณแผ่นดินอีกเหมือนเดิม จึงอาจมองได้ว่า เป็นนโยบายที่ “ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ต่อผู้โดยสาร ผู้ประกอบการท้องถิ่น ชุมชน”
       
       ”เพราะ ส่อโอนอำนาจผูกขาด ไหลสู่มืออภิมหานายทุน หน้าเดิมๆ”

Visitors: 621,602