“วอลมาร์ท” เปลี่ยนวิชั่นเพื่อโลก! ทำธุรกิจในแบบหมุนเวียนตามกรอบ Circular Economy

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  1 เม.ย. 2561
       
“วอลมาร์ท” เปลี่ยนวิชั่นเพื่อโลก! ทำธุรกิจในแบบหมุนเวียนตามกรอบ Circular Economy

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาคงมีกระแสข่าวการเคลื่อนไหวในเชิงการพัฒนาแนวทางธุรกิจกรีนสู่ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง


แต่ที่เป็นข่าวและเรื่องราวใหม่ในวันนี้ คือการที่ทั่วโลกสนใจกับกิจกรรมใหม่ของหนึ่งในห้างค้าปลีกที่เป็นต้นแบบของแนวคิดใหม่เรื่องกรีน คือ ห้างวอลมาร์ท ได้ประกาศธีมใหม่สอดคล้องกับแนวทางระดับภาพรวมใหม่ทางเศรษฐกิจประเทศในชื่อ "Vision of Creating a True Circular Economy" ซึ่งเน้นพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานประจำวันบนงานรีไซเคิลในแนวทางใหม่ๆ ที่เรียกว่า Circular Economy


ความหมายของ Circular Economy คือ ระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของการประกอบการรูปแบบใหม่ ที่ปรับรื้อ ปรับปรุงและสร้างแนวทางธุรกิจใหม่ ตั้งแต่วิสัยทัศน์และการออกแบบการดำเนินงานที่ประหยัดและไร้ขยะตั้งแต่แรก ให้มีลักษณะของการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน ตั้งแต่พลังงานทดแทน ลดการใช้สารเคมีที่สร้างมลพิษ เพื่อเป็นการยกระดับจากการใช้ Reuse สู่การใช้แบบ Biosphere ลดการสิ้นเปลือง สูญเปล่าผ่านการออกแบบให้วัสดุ วัตถุดิบ ระบบการผลิตและการวางโมเดลธุรกิจเป็นแบบใช้ซ้ำได้ 
   
ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจใหม่ "vision of creating a true circular economy" นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่


ประการแรก ลำพังเพียงการรีไซเคิลไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องเป็นไปได้ทั้งหมด สมเหตุสมผล ประหยัดค่าใช้จ่ายดำเนินงานจริง ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับลูกค้าด้วย อย่างเช่น วัตถุดิบที่ออกแบบใหม่ให้ใช้ได้ในการปกป้องงานผลิต ขนส่ง ส่งมอบและนำไปครอบครองและใช้ของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สดเสมอ และรู้ว่าปลายทางจะไปทำการใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลที่ไหนทุกชิ้น และเป็นวัสดุแบบที่ทำเป็นธุรกิจแบบไร้ขยะหรือการสูญเปล่า


ประการที่สอง การดำเนินงานของวอลมาร์ท ต้องอาศัยความร่วมมือกับซัปพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ที่จะทำให้ธีมที่เป็นตัวอักษรนี้เป็นจริงให้ได้ โดยวางตำแหน่งของห้างวอลมาร์ทว่าอยู่ตรงกลางระหว่างซัปพลายเออร์ที่เป็นผู้ป้อนผลิตภัณฑ์ฝ่ายหนึ่ง และผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์อีกฝ่ายหนึ่ง  


หน้าที่สำคัญของผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลาง คือ สร้างข้อความสื่อสารและสร้างข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง เหมาะสมให้กับทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ข้อความการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำกับผู้ซื้อทุกราย และการใช้ซ้ำและรีไซเคิลในฝั่งการออกแบบและพัฒนารูปแบบธุรกิจการใช้หมุนเวียนในด้านของผู้ผลิต เพื่อไปให้ถึง Circular Econmony ที่เหนือกว่าเพียงการรีไซเคิลเป็นรายครั้งรายคนเท่านั้น


ในการนี้ ห้างวอลมาร์ทได้เปิดโครงการที่เรียกว่า Gigaton มีเป้าหมายการสร้างผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000 ล้านเมตริกตัน ภายในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากการติดตั้งระบบพลังงานโซลาร์ใน 21 ห้างที่เปิดอยู่ในรัฐอิลลินอยส์เป็นต้นแบบก่อนทำการขยายผลออกไปมากขึ้น เพื่อให้พลังงานที่ใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2025


จากรายงานของหน่วยงานรัฐในสหรัฐฯพบว่า ราวๆ 130 ล้านตันของวัตถุดิบถูกนำมารีไซเคิลในแต่ละปี ทำให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่วัดเป็นรายได้ประชาชาติราว 117,000 ดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานมากกว่า 500,000 ตำแหน่งงาน และไม่ถึง 30% ของวัสดุที่นำมารีไซเคิลมาจากภาคครัวเรือน


ที่ผ่านมา วัสดุรีไซเคิลที่ว่านี้ ราว 38 ล้านเมตริกตันของขยะ คิดเป็นมูลค่ากว่า 17,900 ล้านดอลลาร์ ส่งไปดำเนินการที่จีน การที่จีนแบนการนำเข้าขยะมารีไซเคิลจึงเป็นประเด็นปัญหาใหม่ของโลกที่ต้องหาทางส่งไปประเทศปลายทางอื่นทดแทน แต่ยังไม่ดีพอและไม่ถือว่าเป็นไปตามกรอบแนวคิดของ Circular Economy ที่ต้องการให้ก้าวหน้าไปถึงขั้นนำขยะและของเสียทั้งหมดกลับมาเข้ากระบวนการผลิตและวงจรการค้าใหม่ทั้งหมด หรือ Zero waste นั่นเอง


นอกจากห้างวอลมาร์ทแล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆที่ไม่ใช่กิจการค้าปลีก อย่างเช่น ไนกี้ และแอปเปิ้ล หรือซีเมนส์ ต่างก็มีแผนที่จะทำให้วัสดุที่ใช้ดำเนินงานเป็น Zero waste ทั้ง 100% ในระดับการวางแผนและการผลิตจริงเช่นเดียวกัน


ดังนั้น ในโลกของนวัตกรรมกรีนในปัจจุบัน Circular Economy ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุด เป็นคำปริศนาใหม่ในเชิงนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการลดระดับคาร์บอนและสร้างสังคมบนแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน จึงทำให้การตีความ การให้นิยาม การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่คิดว่าดีแตกต่างกัน ซึ่งทำให้แนวคิดนี้ยังต้องถกเถียงกันต่อไป
การที่สหภาพยุโรปนำเอากรอบแนวคิดของ Circular Economy เป็นแพกเกจใหม่ในปี 2018 ทำให้บางประเทศในยุโรป รวมทั้งบริษัทข้ามชาติเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากโมเดลที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจเชิงธุรกิจ
Visitors: 633,756