มองเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป ลาว..กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย..

 
แหล่งที่มา : www.naewna.com วันที่โพสต์ :  15 ธ.ค. 2561
       
มองเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ สปป ลาว..กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย..

ภาพประกอบไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาภาพในข่าว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นเขตเศรษฐกิจของรัฐบาลลาว จัดตั้งขึ้นในประเทศลาว ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยเคยประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 9 เขต ตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะที่เขตเศรษฐกิจของประเทศไทยได้สลายหายไปตามสายลมนานแล้ว โดยมีการผุด EEC หรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกขึ้นมาแทนที่ จนประหนึ่งว่า EEC คือประเทศไทย และประเทศไทยก็คือ EEC

ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่ามีการลงทุนอะไรบ้าง มีสิ่งก่อสร้างทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรืออาคารโรงงาน หรือการลงทุนใดๆ ที่เป็นชิ้นเป็นอันให้เห็น คงมีแต่เรื่องของนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ที่เปิดอ้ารับนักลงทุนในเขต EEC ซึ่งคงจะทำมาค้าขายได้ดีเป็นพิเศษ

รวมความก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เคยประกาศในช่วงเดียวกันคือของไทย 9 เขต ของลาว 19 เขต ของพม่า 21 เขตนั้น ทั้งลาวและพม่าเขาทำกันอย่างคึกคัก ในขณะที่ของไทยทั้ง 9 เขตหายไปกับสายลม และผุด EEC ขึ้นมาแทนที่ในพื้นที่สามจังหวัดเล็กๆ ภาคตะวันออก

สำหรับเขตเศรษฐกิจในลาวและพม่านั้นมีการจัดตั้งตามแบบแผนต้นแบบเดิม คือต้นแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นของจีน ซึ่งเป็นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแห่งแรกของโลก ตามแนวความคิดของเติ้ง เสี่ยว ผิง และได้ให้ผลพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กับประเทศจีน ทำให้ประชาชนจีนพ้นจากความยากจนได้อย่างชัดเจนแล้ว

ใครที่คิดจะศึกษาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษจากฝรั่งก็ควรจะรู้เสียก่อนว่า ฝรั่งไม่ได้เป็นต้นคิดต้นแบบเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ จีนต่างหากซึ่งเป็นแม่บทแม่แบบในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และขณะนี้ประเทศลาวก็ได้จำเริญรอยตาม โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่ห่างจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพียงแค่ข้ามแม่น้ำโขง 3-5 นาทีเท่านั้น

อย่าได้ไปหลงเชื่อการแซงก์ชั่นข้างเดียวของชาติมหาอำนาจ แต่ควรศึกษาหาความจริงจากสิ่งที่เป็นอยู่ และจากการศึกษาความเป็นไปในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของลาวนั้น ปรากฏชัดเจนจากการบรรยายและนำดูสภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของท่าน จันทร์สมร ประธานสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลลาวได้ตรากฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำขึ้น มีพื้นที่กว้างขวางตามประกาศของรัฐบาลลาว อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับอำเภอเชียงแสน ของจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย คืออยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขงเท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่รกร้าง มีราษฎรลาวอาศัยอยู่อย่างลำบากยากจนข้นแค้น และกระจัดกระจายกันไปรวมทั้งสิ้นประมาณ 300 ครอบครัว

ประการที่สอง ตามกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำนั้น ได้จัดตั้งสภาบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นองค์กรบริหารสูงสุด มีอำนาจบริหารจัดการพื้นที่เขตเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน มีอำนาจออกระเบียบให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายสำหรับเขตเศรษฐกิจนั้นได้ ส่วนเรื่องความมั่นคง เรื่องการต่างประเทศ และเรื่องกฎหมายทั่วไปเป็นอำนาจของรัฐบาลลาว

ประการที่สาม เพื่อเป็นกลไกในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบในเขตเศรษฐกิจให้เป็นไปตามระเบียบของสภาบริหารเขตเศรษฐกิจ รัฐบาลลาวได้จัดส่งกองตำรวจและกองทหารให้มาสังกัดและขึ้นตรงกับสภาบริหารเขตเศรษฐกิจ และอยู่ภายใต้การกำกับของแขวงที่บังคับบัญชาพื้นที่เขตเศรษฐกิจนั้น

ประการที่สี่ สภาบริหารเขตเศรษฐกิจได้จัดสรรพื้นที่ตั้งชุมชนใหม่ และให้ผู้ลงทุนก่อสร้างบ้านพักเป็นคอนกรีต ทดแทนบ้านเดิมที่มีลักษณะเป็นกระท่อมให้กับราษฎรทุกราย โดยให้มีขนาด 3 เท่าของกระท่อมหลังเดิม และแบ่งเป็น 3 ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จัดทำโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งชุมชน รวมทั้งการสร้างวัดและโรงเรียนขึ้นประจำชุมชนด้วย นอกจากนั้น ยังได้จัดพื้นที่ทำการเกษตรให้กับทุกครอบครัวของชุมชน

ประการที่ห้า ราษฎรที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ซึ่งแม้ย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่ในชุมชนในเขตเศรษฐกิจแล้ว มีสิทธิที่จะได้ทำการงานกับผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจนั้นก่อนแรงงานจากที่อื่น และสำหรับประชาชนที่มีอายุเกิน 70 ปี ผู้ลงทุนก็จะจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษให้คนละ 3,000 บาทต่อเดือน

ประการที่หก สภาบริหารเขตเศรษฐกิจมุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าทุกพื้นที่ของประเทศลาว และใช้มาตรการทุกรูปแบบในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถิติอาชญากรรมและยาเสพติดลดต่ำที่สุดในประเทศลาว เป็นผลให้พื้นที่ตลอดริมแม่น้ำโขงของเขตเศรษฐกิจนี้พ้นสภาพพื้นที่อาชญากรรมและยาเสพติดเกือบจะสิ้นเชิงแล้ว

เพราะผลจากการพัฒนาดังกล่าวและแนวทางที่คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักเช่นนี้ การลงทุนจึงขยายตัวไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เพียงไม่นานเงินลงทุนหลั่งไหลเข้าพื้นที่กว่า 40,000 ล้านบาทแล้ว และยังคงหลั่งไหลเข้าไปเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้ง

จนกระทั่งเล็งเห็นได้ว่าในไม่ช้าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ก็จะไม่ต่างกับเซินเจิ้นในอดีตที่ดูดซับความเจริญของฮ่องกงจนแทบกลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว และความเจริญรุ่งเรืองกลับไปเฟื่องฟูอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น

ขืนงมมะงาหรากันต่อไป พื้นที่ฝั่งประเทศไทยอาจจะเป็นได้แค่ที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะข้ามไปท่องเที่ยวที่เขตเศรษฐกิจในอนาคตก็ได้

 

สรุปรวมความ ก็คือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน”ของไทย ยังมีความสำคัญและจำเป็นต้องทำ

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้า - การท่องเที่ยว - การขนส่ง - การลงทุน และอื่นๆในพื้นที่ชายแดน

อีกทั้งยังเป็นการลดความแออัดของชุมชนในเขตเมือง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอาชญากรรมในพื้นที่เขตเมืองได้ ด้วย

แต่ด้วยการที่ไม่มีความตั้งใจและเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการที่ดีพอของฝ่ายราชการของไทย จึงทำให้การส่งเสริมการค้าชายแดนในลักษณะของ”เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” จึงยังไปไม่ถึงไหนซะที

อุปสรรคและปัญหา ตลอดจนความขัดแย้งทั้งในมิติของการส่งเสริมการค้าและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ยังคงมีอยู่ให้เห็นในทุกพื้นที่ หน่วยงานที่มีเอกภาพในการจัดการชายแดนก็ไม่มี ที่มีอยู่ก็ทำไปแบบลูบหน้าปะจมูก ไปวันๆเท่านั้น

ก็ได้แต่หวังผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการชายแดนที่ดีขึ้นและเป็นรูปธรรมมากกว่าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้...นะครับ

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.กิตติวัฒน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (หัวหน้าคณะเดินทางและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร)

Visitors: 634,759