ต้นแบบ ‘ฟาร์มดิจิทัล’ นวัตกรรมอัจฉริยะ เอาชนะทุกข้อจำกัดการทำเกษตรในประเทศ ‘สิงคโปร์’

 
แหล่งที่มา : www.salika.co วันที่โพสต์ :  21 พ.ย. 2561
       
ต้นแบบ ‘ฟาร์มดิจิทัล’ นวัตกรรมอัจฉริยะ เอาชนะทุกข้อจำกัดการทำเกษตรในประเทศ ‘สิงคโปร์’

แม้ว่าสิงคโปร์จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทันสมัยเป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทว่า ในอีกด้าน ความท้าทายที่สิงคโปร์ต้องเผชิญหน้ามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้สร้างประโยชน์ให้คนในชาติได้สูงสุด ซึ่งหลักการสำคัญที่สิงคโปร์ได้นำมาปรับใช้คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาสร้างประสิทธิภาพให้กับการบริหารจัดการแทบทุกด้าน อย่างในภาคการเกษตร ฟาร์มดิจิทัล นวัตกรรมเกษตรกรรมยุคใหม่ ก็ถูกนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย

จากเอกสารเผยแพร่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เรื่อง ‘ฟาร์มดิจิทัล (Digital Farming) ในสิงคโปร์ ได้ถอดบทเรียนเรื่องราวความสำเร็จของการทำฟาร์มดิจิทัลในสิงคโปร์ในประเด็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ


ย้อนอดีตมอง ‘กสิกรรมในสิงคโปร์’ ความพยายามเพื่อปลดแอกทุกข้อจำกัดในการทำเกษตรกรรม

นับแต่ปี 2513 มีจำนวนเกษตรกรชาวสิงคโปร์ในขณะนั้นอยู่ราว 175,400 คน คิดเป็นแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่ทำอาชีพเกษตรกรและชาวประมง 

ในช่วงเวลานั้น การเกษตรกรรมของสิงคโปร์ยังเป็นวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ผลผลิตที่ออกมาจึงไม่ได้มาตรฐานและปริมาณอย่างที่คาดการณ์ กอปรกับในการทำการเกษตรนั้นต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเงินทุนและเวลา

ในเวลานั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการเกษตรในสิงคโปร์จึงได้จัดตั้ง The Primary Production Department (PPD) ขึ้น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ ด้วยการจัดฝึกอบรม จัดตั้งโครงการต่างๆ รวมถึงการวางรากฐานด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development R&D) ด้านเกษตรกรรมให้กับประเทศชาติด้วย

นอกจากนั้น การพัฒนาครั้งนี้ยังมุ่งไปเพื่อตอบสนองจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเมืองที่พัฒนาขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว จำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่โหมดการทำฟาร์มพาณิชย์ที่เน้นผลลัพธ์เชิงผลผลิต จึงต้องเน้นการพัฒนาสวนในแบบ Agrotechnology ที่ต้องมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รองรับการทำฟาร์มเชิงการผลิตนับแต่นั้นมา


ต้นแบบ ‘Living Lab @ Singapore’ ความสำเร็จที่สานต่อสู่การทำ ฟาร์มดิจิทัลในสิงคโปร์

แนวคิดหลักของการพัฒนาเมืองสิงคโปร์ คือ การวางแผนและพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจและพักอาศัย โดยการพัฒนาที่พักอาศัยในเขตเมืองหลายแห่งให้เหมาะสมและมีคุณภาพสำหรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เช่น การออกแบบผังเมือง การขนส่ง เป็นไปเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวสิงคโปร์ 

ไม่ว่าจะเป็น การสร้างที่พักอาศัยให้มีสีเขียว อาคารพาณิชย์สีเขียว ซึ่งรวมถึงการทำเกษตรในเขตเมืองด้วยเทคโนโลยีใหม่ กับการทำ Living Lab ในรูปแบบฟาร์มดิจิทัล

โดย ‘Living Lab’ พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และนำเสนอรูปแบบการทำเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดของสิงคโปร์ จึงทำได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับ Agri-Food Veterinary Authority (AVA) ที่มีนโยบายกระจายแหล่งนำเข้า เพิ่มการพึ่งพาตนเอง และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น

ที่ผ่านมา การทำการเกษตรแบบ Living Lab ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุประมาณ 20-30 ปี เพราะต้องการสร้างแหล่งอาหารคุณภาพ ปราศจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงในอีกด้าน กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ก็ยึดเอาการทำเกษตรแบบ Living Lab เป็นงานอดิเรก ผ่อนคลายความเครียดจากงานประจำด้วย

ปัจจุบัน Living Lab ในสิงคโปร์ มุ่งเน้นการปลูกผักเป็นหลัก โดยล่าสุดมีฟาร์มในเมืองจำนวน 62 แห่ง ในเขตเมือง Lim Chu Kang ได้รับการต่อสัญญาไปอีก จากปี 2560-2562 แล้ว และในอนาคตอันใกล้ คาดว่าจะมีพื้นที่ใหม่สำหรับทำฟาร์มเกษตรเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลย


ในเอกสารเผยแพร่นี้ยังมีตัวอย่างต้นแบบฟาร์ม Living Lab ที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ ให้ศึกษาด้วย
  • Aquaponics แบบไม่ใช้ดินของบริษัท Com crop

จากจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก บนดาดฟ้าอาคาร Scape ในย่านหรู Orchard ใจกลางเมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกษตรแนวตั้งรายแรกของสิงคโปร์ที่นำเอาระบบ Aquaponics มาใช้ในการทำการเกษตร โดยพัฒนาระบบนิเวศในการทำเกษตรควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา ด้วยการรีไซเคิลน้ำ เริ่มที่การนำน้ำเสียจากการเลี้ยงปลาส่งผ่านระบบหินกรอง ส่งต่อไปยังรากพืช ซึ่งน้ำที่ไปหล่อเลี้ยงพืชนี้ก็จะถูกส่งต่อมายังอ่างเลี้ยงปลา จึงเป็นน้ำที่มีความสะอาดเหมือนเดิม


  • Green house แบบใช้ดินของบริษัท Kok Fah Technology Farm (KFTF)

ฟาร์มขนาดใหญ่นี้ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรผสมผสานระหว่างวิถีดั้งเดิมและระบบอัตโนมัติในเรือนกระจก หรือ green house โดยใช้ดิน ซึ่งได้ปรับใช้เทคโนโลยีการเกษตรหลากหลายเข้ากับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น เครื่องใส่ดินให้พอดีกับภาชนะปลูก เครื่องมือฝังเมล็ดพืชผลอัตโนมัติ


  • ฟาร์มดิจิทัล แบบไม่ใช้ดินของบริษัท Sustenir Agriculture Singapore Pte.Ltd.

บริษัทนี้ประสบความสำเร็จจาก การทำฟาร์มดิจิทัล ระบบเกษตรแนวตั้ง ด้วยการใช้ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ Controled-Environment Agriculture โดยควบคุมปริมาณและความถี่ของการให้สารอาหารแก่พืช และวางระบบการปลูกพืชในอาคาร (In door) เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและศัตรูพืช เพื่อควบคุมอุณหภูมิและแสงเพื่อการควบคุมการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งการกระตุ้นให้พืชสังเคราะห์แสงนั้น ทำผ่านหลอดไฟ LED ที่ผ่านการคำนวณความเข้มของแสง คลื่นความถี่ และระยะเวลาของแสงให้คล้ายคลึงกับแสงอาทิตย์ที่พืชใช้สังเคราะห์แสงทั่วไป และด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้เอง ที่ทำให้ในตอนนี้ Sustenir เป็นบริษัทเดียวในวงการทำฟาร์มดิจิทัลของสิงคโปร์ที่สามารถปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้



Salika’s Says :

ในส่วนของบทสรุปจากเอกสารเผยแพร่ชิ้นนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะกับภาคการเกษตรไทย ที่สามารถนำต้นแบบและไอเดียของการทำฟาร์มดิจิทัลที่สิงคโปร์ไปใช้ได้ ตามแนวทางต่อไปนี้

“การเกษตรของไทยมีรูปแบบไม่ต่างกับการทำการเกษตรตามวิถีดั้งเดิมของสิงคโปร์ ดังนั้น หากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดโครงการให้ความรู้ จัดการอบรม เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปปรับใช้เพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพให้กับการทำเกษตรของไทย เพื่อเกษตรกรจะสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี พึ่งพาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช น้อยลง ย่อมจะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น แถมตัวเกษตรกรเองก็จะมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย และถ้าทำได้จริงก็ย่อมสอดคล้องและเป็นการปรับตัวไปสู่เกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการทำเกษตรเคมีในรูปแบบเดิมได้หลายเท่าตัวด้วย”


อ้างอิงข้อมูลจาก : เอกสารเผยแพร่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เรื่อง “ฟาร์มดิจิทัล (Digital Farming) ในสิงคโปร์” (กันยายน 2561)

http://www.ditp.go.th/contents_attach/311511/311511.pdf

Visitors: 621,502