ทส.ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ภายใน 2 ปี

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  1 เม.ย. 2561
       
ทส.ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ภายใน 2 ปี

โฆษก ทส. แจงเริ่มสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และลดการนำเข้าเศษพลาสติก ภายใน 2 ปี ประเทศไทยไม่มีขยะนำเข้า หลังสื่ออออนไลน์ได้เผยแพร่ข่าวปริมาณขยะพลาสติกรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการระบายออกไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้ง เข้า ASEAN ทั้งประเทศ มาเลยเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยด้วย

วันที่ 14 พ.ย.2561 นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์ และขยะปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานอนุกรรมการฯ

ได้มีการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง รวม 4 ครั้ง ซึ่งล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ข้อสรุปสำคัญ ดังนี้

1.) ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 422 รายการ

2.) ยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นรายการตามที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า มีความจำเป็นต้องใช้และมีระยะเวลาใช้งานยาวนาน และรายการตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอ

3.) สินค้าที่ใช้แล้วอื่น ๆ มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณาแหตุผลความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าใช้แล้วอื่นๆ

4.) อนุญาตให้นำเข้าเศษโลหะ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องคัดแยกมาแล้ว สะอาด และไม่มีผสมชนิดกัน รวมทั้งต้องมีใบรับรองจากประเทศต้นทาง และให้เป็นไปตามมาตรฐาน


5.) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี (ปี ‭2562 – 2563‬) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

– ปีที่ 1 กำหนดโควตานำเข้าไม่เกิน 70,000 ตัน (PET 50,000 ตัน และอื่น ๆ 20,000 ตัน) โดยมีเงื่อนไขให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

– ปีที่ 2 นำเข้าไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

– ปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ เงื่อนไขการนำเข้าเศษพลาสติก ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อน มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร รวมทั้งมอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดตั้งโรงงาน การขออนุญาตนำเข้า การนำเข้า การขนส่ง การประกอบกิจการ การนำไปใช้ประโยชน์ การกำจัดเศษซากส่วนเกิน

6.) มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำหนดแนวทางการจัดการขยะปนเปื้อนกัมมันตรังสี ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยประสานกับกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับรังสีให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้ครบถ้วน

7.) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ครอบคลุมทุกประเภทและทุกขนาด

8.) กรณีตู้บรรทุกสินค้าที่นำเข้ามาแล้ว ประมาณ 2,000 ตู้ มอบหมายให้กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาตรวจสอบทุกตู้ หากพบการปนเปื้อน การสำแดงเท็จ การลักลอบนำเข้า ให้ผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ขยะขวดพลาสติก / AFP

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้มีการรายงานผลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความโปร่งไส สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นไปตามเงื่อนไขของระเบียบ กฎหมาย ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้ามาในประเทศ ที่ผ่านมา จะได้รับการแก้ไขปัญหาและการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยมีการรวบรวมและเรียกคืนเข้าสู่ระบบการจัดการได้ ตามมาตรการและแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบริหาร และการปฏิบัติ รวมถึงภาคเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการ ก็จะทำให้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและจะเป็นไปตามกลไกการหมุนเวียนของขยะดังกล่าวที่เป็นจริง รวมถึงจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชนจากการคัดแยกขยะ และมีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและผลกระทบ ต่อสุขภาพของผู้คัดแยกและประชาชน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“สำคัญที่สุด คือประเทศไทยจะหยุดการเป็นถังขยะโลกที่รองรับขยะจากต่างประเทศต่อไปในอีก 2 ปี” โฆษก ทส.กล่าว

Visitors: 619,438