ภาษีลิงก์คืออะไร? จับตากฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป ที่อาจกระทบพลเมืองเน็ตทั่วโลก

 
แหล่งที่มา : https://themomentum.co
วันที่โพสต์ :  4 ต.ค. 2561
       
 ภาษีลิงก์คืออะไร? จับตากฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป
ที่อาจกระทบพลเมืองเน็ตทั่วโลก

IN FOCUS

- ‘ภาษีลิงก์’ (link tax) บอกว่า หากเราแปะหรือแชร์ลิงก์ข่าวบนเว็บไซต์ตัวเอง แล้วเลือกประโยคที่น่าสนใจในข่าวโพสต์ควบคู่ด้วย เราห้ามคัดลอกเกิน 1 คำ

- ก่อนหน้านี้การอ้างลิขสิทธิ์ในผลงานใดๆ เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น บริษัทผลิตเพลง วิดีโอ งานเขียน แต่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรปบอกว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของเว็บไซต์อย่าง ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่ต้องไม่ปล่อยให้งานที่ถูกลิขสิทธิ์ถูกแชร์อย่างผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มของตนเอง

- กฎหมายนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ ตัวแทนของสมาชิกอียูแต่ละรัฐจะลงมติในประเทศของตัวเองอีกครั้ง ก่อนที่จะมาหาข้อสรุปต่อในสภายุโรปอีกครั้งปลายปี 2018

การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป (European Union Copyright Directive) เมื่อ 12 กันยายนที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เน็ตทั่วโลกไปด้วย

ทุกวันนี้ เราสามารถแชร์ภาพจากหนังหรือละครบางเรื่องแล้วเอามาใส่ข้อความลงไปได้โดยไม่ต้องคิดว่าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของละครหรือหนังก่อน เพราะเราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องขำๆ และเราไม่ได้เงินจากการแชร์

แต่กฎหมายที่เพิ่งผ่านรัฐสภายุโรปกำลังจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ โดยผู้สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายนี้เป็นกลุ่มศิลปินและนักดนตรีที่สูญเสียรายได้มหาศาลจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำลายวัฒนธรรมมีมและการผลิตเนื้อหาโดยผู้ใช้

ก่อนหน้านี้การอ้างลิขสิทธิ์ในผลงานใดๆ เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น บริษัทผลิตเพลง วิดีโอ งานเขียน พวกเขาต้องปกป้องลิขสิทธิ์ของตนเอง แต่บรรดาผู้ผลิตและตีพิมพ์เนื้อหาซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ประสบความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิของตนเองในอินเทอร์เน็ต

เป้าหมายของกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ของสหภาพยุโรป อยู่ที่การเพิ่มความรับผิดชอบแก่เว็บไซต์อย่าง ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไม่ให้งานที่ถูกลิขสิทธิ์ถูกแชร์อย่างผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มของตนเอง

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ กฎหมายนี้ย้ายความรับผิดชอบในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้มาอยู่ที่เว็บไซต์

สองประเด็นใหญ่ ในข้อเสนอกฎหมายลิขสิทธิ์ของอียู

มีอยู่สองมาตราที่ถกเถียงกันอย่างมากคือ มาตรา 11 ที่เรียกร้องให้ตัวกลางอย่างกูเกิลจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตสื่อซึ่งเรียกว่า ‘ภาษีลิงก์’ (link tax) เมื่อแชร์เนื้อหาบนเว็บไซต์ของตัวเอง ตัวอย่างเช่น หากเราแปะลิงก์ข่าว แล้วเลือกประโยคที่น่าสนใจในข่าวโพสต์ควบคู่ด้วย เราคัดลอกมาได้แค่ 1 คำเท่านั้น เพราะกฎหมายมาตรา 11 ห้ามลอกเกินกว่า 1 คำ รวมทั้งยังไม่ได้กำหนดขอบเขตของการยกวรรคทองในข่าวมาใช้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 12a ที่ไม่ให้เราโพสต์รูปหรือวิดีโอการแข่งขันกีฬา มีเพียงแต่ ‘ผู้จัดงาน’ เท่านั้นจึงมีสิทธิเผยแพร่ภาพหรือบันทึกต่างๆ จากการแข่งขัน ห้ามโพสต์รูปเซลฟี่หรือคลิปวิดีโอสั้นๆ ช่วงที่เกมกำลังน่าตื่นเต้น ตัวเราเป็นแค่คนดู งานของเราก็คือ นั่งตรงที่เขาบอกไว้ และดูการแข่งขันไปแล้วก็กลับบ้าน

ส่วนมาตรา 13 ที่เรียกกันว่า ‘เครื่องเซ็นเซอร์’ (censorship machine)  เรียกร้องให้แพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตำรวจตรวจเนื้อหาที่อัปโหลดบนเว็บไซต์ ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์อัตโนมัติเพื่อตรวจจับหรือกรองการละเมิดลิขสิทธิ์ออก

ข้อกังวลต่อมาตรการที่เข้มงวดแบบนี้คือ กลัวว่าแนวทางใหม่นี้จะปิดกั้นการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และทำให้บริษัทไอทีต้องกลายเป็นตำรวจตรวจเนื้อหา ดังที่เราอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับแนวทางนี้กันบ้างแล้ว เวลาที่อยากจะอัปโหลดคลิปแล้วใส่เพลงประกอบลงไป แล้วเจอปัญหาว่าแพลตฟอร์มอย่างยูทูบหรือเฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้เราใส่เสียง เพราะว่าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

มีทางเลือกอื่นตรงกลางไหม ทั้งคุ้มครองลิขสิทธิ์ และคงความสนุกของอินเทอร์เน็ตไว้

ที่ผ่านมาเว็บไซต์ใหญ่ๆ เลือกที่จะมีซอฟต์แวร์ตรวจจับของตนเอง เพราะมีเนื้อหาที่มากมายเกินกว่าความสามารถของมนุษย์จะตรวจเจอได้ หากพบว่าอาจมีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะระงับไปก่อนแล้วแจ้งเตือนให้ผู้อัปโหลดเนื้อหาทราบ ด้วยแนวทาง ‘แจ้งเตือนและเอาออก’ (notice and take down) เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

แต่วิธีนี้ใช้เงินมหาศาล จึงมีเพียงบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำได้ เช่น ยูทูบลงทุน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างตัวกรองเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์

ปัญหาข้างเคียงคือ โปรแกรมเหล่ายังทำงานผิดพลาดบ่อย เช่น นาซ่าถูกบล็อคไม่ให้โพสต์วิดีโอจากดาวอังคารเพราะมีเพลงเปียโนคลาสสิกประกอบ หรือไมโครโฟนในงานสัมมนาวิชาการใช้ไม่ได้เพราะช่วงพักกลางวัน สถานที่จัดงานเปิดเพลงบรรเลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์

แต่ต่อไป วิธีที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ใช้ กำลังจะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับทุกเว็บไซต์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ของอียู

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ต บริษัทไอที แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมทั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปกังวลว่า กฎหมายนี้จะทำลายหลักการสิทธิพื้นฐานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและอนาคตด้านเอไอของยุโรป นอกจากนี้ ยังสงสัยว่าจะมีบริษัทไอทีรายใดที่สามารถลงทุนสร้างซอฟต์แวร์เพื่อตรวจจับเนื้อหาได้เหมือนกับยูทูบ และหากแนวทางแบบนี้ถูกบังคับใช้เมื่อ 15 ปีก่อน ยูทูบก็ไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้แน่ๆ

แม้จะเห็นด้วยว่าต้องหาทางคุ้มครองผู้ผลิตเนื้อหา  ศิลปิน และผู้สร้างภาพยนตร์ แต่กฎหมายลักษณะนี้จะทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นระบบปิด ซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์แรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต

จูเลีย เรดา (Julia Reda) สมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไพเรตของเยอรมนีเขียนบทความในนิตยสาร Wired  แสดงความกังวลว่าต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมาว่า

“สิ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ตแตกต่างจากสื่ออื่นๆ และทำให้สังคมมีความหมายก็คือ การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ผ่านการโพสต์และแชร์เนื้อหา แต่กฎหมายที่ออกมาทำให้แพลตฟอร์มต้องจำกัดการใช้งานของเราจากวิธีคิดว่าป้องกันไว้ดีกว่าแก้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายด้วยการระงับหรือบล็อคเนื้อหาที่ “อาจจะ” สร้างปัญหาทางกฎหมายไว้ก่อน

“ภาษีลิงก์จะกระทบต่อการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารออนไลน์ เพราะว่าการผลิตซ้ำที่แม้เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ไม่กี่คำ บางข้อความของข่าวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ใดๆ ต้องได้รับอนุญาตก่อน”

หนึ่งในผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตและสร้างเวิล์ดไวด์เว็บอย่าง ทิม เบิร์นเนอร์ และวินท์ เซิร์ฟ ส่งจดหมายถึงประธานสภายุโรป เมื่อเดือนมิถุนายนว่า กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเนื้อหาเท่านั้น “ผลกระทบของมาตรา 13 จะทำให้ผู้ใช้ทั่วไปลดลง ไม่ใช่เพียงแค่คนที่อัปโหลดเพลงหรือวิดีโอบนแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคนที่มอบภาพ ข้อความ หรือโค้ดคอมพิวเตอร์ให้กับแพลตฟอร์มเปิด เช่น วิกิพีเดีย หรือ GitHub”

กฎหมายนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ ตัวแทนของสมาชิกอียูแต่ละรัฐจะลงมติในประเทศของตัวเองอีกครั้ง ก่อนที่จะมาหาข้อสรุปต่อในสภายุโรปอีกครั้งปลายปี 2018 หากเห็นชอบ ก็จะนำไปปฏิบัติในแต่ละประเทศ

 ที่มา:
Visitors: 627,571