สร้างพลังเครือข่ายวิจัยแบบบูรณาการทั่วประเทศ! สกอ.-สกว.เร่งแก้โจทย์นักวิจัยรุ่นใหม่ มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาชาติ

 
แหล่งที่มา : www.mgronline.com วันที่โพสต์ :  2 ต.ค. 2561
       
 สร้างพลังเครือข่ายวิจัยแบบบูรณาการทั่วประเทศ! สกอ.-สกว.เร่งแก้โจทย์นักวิจัยรุ่นใหม่ มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาชาติ

สกอ.และสกว.ผนึกกำลังสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ทำโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System (MMS) จัดทีมโค้ชและนักวิจัยพี่เลี้ยงสร้างพลังเครือข่ายวิจัยแบบบูรณาการ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ติวเข้มคนรุ่นใหม่ให้มีโจทย์วิจัยและงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสู่การใช้ประโยชน์และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายวิชาการ จัดงานประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินโครงการ “การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System ในสถาบันอุดมศึกษา”
ร่วมกับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มภาคใต้ 3 สถาบัน กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 สถาบัน กลุ่มภาคเหนือ 6 สถาบัน กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 สถาบัน กลุ่มภาคกลาง 25 สถาบัน และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 32 สถาบัน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ


ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ
“แนวทางการสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา”

ว่า เมื่อพิจารณาจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษา สังกัด สกอ. มีสิ่งที่น่าแปลกใจตั้งแต่ปี 2559 จำนวนผู้เรียนลดลงเยอะมากจากปกติกว่า 2 ล้านคน เหลือเพียง 1.86 ล้านคน เฉพาะนักศึกษาใหม่ปริญญาตรีในปี 2560 มีจำนวน 401,754 คน คาดว่าปีนี้น่าจะต่ำกว่า 4 แสนคน แต่ที่เจ็บช้ำคือ ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีมีเพียง 302,713 คน ทั้งที่เราใช้เงินลงทุนรายหัวจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีจำนวนนักวิจัยมากที่สุด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สารเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีความต้องการงานวิจัยที่มีความหลากหลายและลึกมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตื่นตัวคู่ขนานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสรรสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และมีคนอยากใช้


“โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา แต่ไม่เถียงว่างานวิจัยพื้นฐานก็มีความสำคัญเช่นกัน การบริหารจัดการโครงการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเอกสาร การเงิน เป็นภาระและพันธะที่ไม่สามารถแก้ได้ ผู้เป็นโค้ชและอาจารย์ที่ปรึกษาอาจให้คำแนะนำได้ แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบที่เอื้อต่อการทำงานของนักวิจัย เรายังไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอต่อการทำงาน จึงเชื่อว่า MMS จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือในการทำงานวิจัยให้ง่ายขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ช่วยหนุนเสริม สุดท้ายนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยเราต้องแสวงหาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ข้ามสถาบันที่มีจริตตรงกัน พร้อมที่จะฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และร่วมกันทำงานเป็นทีมมากขึ้น” เลขาธิการ สกอ.กล่าว

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการบริหาร กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของ สกว. คือ เราต้องสานพลังสร้างความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จ การสร้างคนโดยเฉพาะบทบาทของอาจารย์นักวิจัยเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องสร้างนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาให้เข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจ โดยมีหัวใจสำคัญคือ ความมั่นใจ นักวิจัยต้องมั่นใจในตัวเองและตัวโค้ช โครงการ MMS จึงจะประสบความสำเร็จ ผลงานวิจัยต่างๆ ต้องถูกนำไปสร้างผลกระทบ เพื่อก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสู่การใช้ประโยชน์และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ MMS นั้น ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. ชี้แจงว่าจัดทำขึ้นเพื่อสร้างกลไกการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการว่าทุกคนจะสามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ผลิตผลงานวิจัยที่มีมาตรฐานสูงและมีการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ตลอดจนกระตุ้นให้นักวิจัยมองเห็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศให้เกิดผลสำเร็จและพัฒนาอย่างสมบูรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยพี่เลี้ยง และสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความเข้มแข็งโดยก่อให้เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการทำงานวิจัยซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยมหาวิทยาลัยและนักวิจัยพี่เลี้ยงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้งานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์
ทั้ง สกอ. และ สกว. โดยฝ่ายวิชาการ จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ ผลักดันให้เกิดการกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมการทำงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในการพิจารณาอาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโค้ช รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการทำงานร่วมกับโค้ช ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์


ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทในการร่วมผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานวิจัย รวมถึงการติดตามความก้าวหน้างานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่สู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีหน่วยสนับสนุนเพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคล การประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยพี่เลี้ยงและทีมโค้ช การประชาสัมพันธ์โครงการ และอื่นๆ ตลอดจนสร้างระบบและบรรยากาศที่ดีต่อการทำวิจัย ติดตามดูแลอาจารย์และนักวิจัยที่ได้รับทุนให้ดำเนินโครงการและสามารถส่งรายงานความก้าวหน้าได้ตามกำหนดเวลา
Visitors: 633,821