เปิดนโยบาย Society 5.0 ของญี่ปุ่น

 
แหล่งที่มา : www.globthailand.com วันที่โพสต์ :  14 ก.ย. 2561
       
 เปิดนโยบาย Society 5.0 ของญี่ปุ่น

Society 5.0 คือ สังคมที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างราบรื่นด้วยระบบที่รวมพื้นที่ไซเบอร์ (พื้นที่เสมือนจริง) และพื้นที่ทางกายภาพ (พื้นที่จริง) เข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสังคมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นต่อจากสังคมการล่าสัตว์ (Society 1.0) สังคมเกษตรกรรม (Society 2.0)สังคมอุตสาหกรรม (Society 3.0) และสังคม IT (Society 4.0) เป็นรูปแบบสังคมในอนาคตที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทําให้เกิดขึ้น


โดย Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology ของประเทศญี่ปุ่นนําเสนอเป็นครั้งแรกในแผนแม่บทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฉบับที่ 5 ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559


ที่ผ่านมา Society 4.0 มีประเด็นปัญหาในเรื่องที่ความรู้หรือข้อมูลไม่ได้ถูกนํามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน การเชื่อมโยงระหว่างกันในแขนงนั้น ๆ ไม่เพียงพอ และจากการที่มนุษย์มีขีดความสามารถจํากัด ทําให้การหาข้อมูลที่จําเป็นจากข้อมูลจํานวนมาก และการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องที่เป็นภาระ ประกอบกับมีข้อจํากัดด้านแรงงานและขอบข่ายการดําเนินการต่าง ๆ จากอายุ หรืออุปสรรคต่างๆ หรือมีข้อจํากัดด้านอื่นๆ เช่น อัตราการเกิดที่ลดลง สังคมสูงอายุประชากรในท้องที่ชนบทลดลง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
 

ในสังคมที่เป็น Society 5.0 นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคน หรือสิ่งของถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ถูกแชร์ร่วมกัน ทําให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงสามารถเอาชนะปัญหาต่าง ๆ และอุปสรรคเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) จะทําให้ได้รับข้อมูลที่จําเป็นเมื่อต้องการและด้วยเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์และรถยนต์ ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ทําให้สามารถแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงของประชากรในพื้นที่ชนบท ความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจน เป็นต้น เกิดเป็นสังคมที่ทุกคนมีความหวัง สังคมที่ต่างเพศต่างวัยเคารพซึ่งกันและกัน สังคมที่แต่ละคนมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต


Society 5.0 เกิดขึ้นจากระบบที่เอาพื้นที่ไซเบอร์ (พื้นที่เสมือนจริง) และพื้นที่ทางกายภาพ (พื้นที่จริง) รวมเข้าด้วยกัน ในสังคม IT (Society 4.0) ผู้คนเข้าถึง Cloud Service ที่อยู่ในพื้นที่เสมือนจริง ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อรับข้อมูลต่าง ๆ และนํามาวิเคราะห์ได้ แต่ Society 5.0 ข้อมูลจํานวนมหาศาลจากเซ็นเซอร์ในพื้นที่จริงจะถูกสะสมเข้าไปในพื้นที่เสมือนจริงในพื้นที่เสมือนจริง ข้อมูลขนาดใหญ่นี้จะถูกวิเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลการวิเคราะห์จะถูกส่งกลับไปยังมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่จริงในรูปแบบต่าง ๆ ในสังคม IT มนุษย์ได้สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ใน Society 5.0 AI ซึ่งมีความสามารถมากกว่ามนุษย์เป็นผู้ทําการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จํานวนมาก (Big data) และผลลัพธ์จะถูกส่งกลับไปยังมนุษย์ผ่านทางหุ่นยนต์ เป็นต้น ผลที่ตามมาคือ ทําให้เกิดเป็นสังคมหรืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
 

สถานการณ์แวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น และของโลกเราอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญ ในขณะที่เศรษฐกิจกําลังพัฒนาชีวิตของผู้คนมีความสะดวกสบายและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีความต้องการพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เกิดเป็นสังคมสูงอายุ นอกจากนี้ จากปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น ทําให้เกิดปัญหาความมั่งคั่งกระจุกตัว เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาของเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก มีความจําเป็นต้องหามาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไข เช่น การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) การเพิ่มปริมาณอาหารและการลดการสูญเสียการลดต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากสังคมสูงอายุ การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน การกระจายความมั่งคั่ง และการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ อย่างไรก็ตามด้วยระบบสังคมในปัจจุบัน เป็นการยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไป กับการแก้ไขปัญหาทางสังคม


ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวข้างต้น ในเวลาเดียวกันนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในสังคม เช่น IoT หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big data ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ประเทศญี่ปุ่นจึงมุ่งที่จะสร้าง Society 5.0 ที่เป็นสังคมใหม่ที่ผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปในอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตในสังคม เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม
 

คุณค่าใหม่ที่เกิดขึ้นจาก Innovation จะทําให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ หายไป เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค อายุ เพศ ภาษา เป็นต้น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของแต่ละคนได้ นอกเหนือจากการที่เราจะสามารถจัดหาสินค้าและบริการให้แก่บุคคลที่ต้องการในเวลาที่ต้องการในปริมาณที่ต้องการแล้ว ระบบสังคมทั้งหมดจะได้รับการปรับให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุด เป็นสังคมที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาทางสังคมได้


สังคมปัจจุบันได้ให้ความสําคัญกับระบบทางเศรษฐกิจหรือองค์กรเป็นอย่างมาก ทําให้เกิดความแตกต่างในสินค้าและบริการที่แต่ละคนจะได้รับตามความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ใน Society5.0 เนื่องจาก AI ที่มี Big data และหุ่นยนต์ทํางานแทนมนุษย์ หรือสนับสนุนการทํางานของมนุษย์ ทําให้มนุษย์ได้รับการปลดปล่อยจากการงานประจําวันที่ยากหรือไม่ถนัด ส่งผลให้มนุษย์สามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
 

นี่คือสังคมที่มีมนุษย์เป็นแกนหลัก ไม่ใช่อนาคตที่ถูกควบคุมและดูแลโดย AI หรือหุ่นยนต์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาในประเทศได้แล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกได้ด้วย ทําให้สามารถบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals SDGs) ของสหประชาชาติได้


ทั้งนี้ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ภายใต้ METI ที่วิจัยและสนับสนุนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่น ได้กําหนดเทคโนโลยีที่จําเป็นจะต้องพัฒนาเพื่อทําให้เกิด Society 5.0 ไว้ 6 เรื่อง ดังนี้
 

              1. Human Augmentation ใน CPS (Cyber Physical System)

              2. Al Hardware และระบบที่นํา AI ไปประยุกต์ใช้

              3. เทคโนโลยีด้าน Security ที่นํา AI มาประยุกต์ใช้

              4. Input Output Device และเทคโนโลยี Network ประสิทธิภาพสูง

              5. เทคโนโลยีการผลิตในอนาคตที่รองรับการผลิตแบบ Mass และ Customization

              6. เทคโนโลยีการตรวจวัดสําหรับการผลิตแบบ Digital

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว/ สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมประจำญี่ปุ่น

Visitors: 620,033