zbing z. ทำความรู้จักเกมแคสเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคน

 
แหล่งที่มา : www.bbc.com/thai/ วันที่โพสต์ :  15 ก.ย. 2561
       
zbing z. ทำความรู้จักเกมแคสเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคน 

"เกมแคสเตอร์" เป็นหนึ่งในอาชีพยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของสื่อโซเชียลทั่วโลก โดยเฉพาะยูทิวบ์

พวกเขาทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์การเล่นเกมให้กับผู้ชมผ่านวิดีโอ ซึ่งปัจจุบัน การแคสต์เกมได้กลายเป็นกิจกรรมใหม่บนโลกออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

หนึ่งในเกมแคสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในไทย คือ นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส วัย 27 ปี เจ้าของช่องยูทิวบ์ zbingz ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคน

นัยรัตน์ หรือที่ผู้ติดตามรุ่นเด็กของเธอเรียกว่า "พี่แป้ง" เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงเบื้องหลังการทำงานของอาชีพเกมแคสเตอร์ ที่มีอะไรมากกว่าการเล่นเกมให้คนอื่นดู

กว่าจะมาเป็นเกมแคสเตอร์

เครื่องเล่นเกมแฟมิค่อน รุ่นยอดนิยมจากญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในห้องรับแขกที่บ้านในวัยเด็ก นอกจากจะเป็นจุดศูนย์กลางที่ทำให้เธอกับพี่ชายและพี่สาวได้มาเล่นด้วยกันแล้ว มันยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอชื่นชอบการเล่นเกม

zbing z. เกมแคสเตอร์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

"ทุกคนมานั่งออกันเล่นเกม มันทำให้เรารู้เลยว่าชอบเกมมาก ปกติเป็นคนไม่ค่อยคุยกับที่บ้านสักเท่าไหร่ แต่พอมันมีเกมเข้ามาเป็นสื่อกลาง มันทำให้เราสนิทกับคนที่บ้านมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่า เกมมันเป็นเหมือนการเชื่อมความสัมพันธ์ของเรา" นัยรัตน์กล่าวกับบีบีซีไทยในห้องทำงานของเธอ

หลังจากเล่นเกมมาตลอดช่วงวัยรุ่น จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าติดเกม เธอตัดสินใจเรียนต่อในสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจในระดับมหาวิทยาลัย แต่กลับพบว่ามันไม่เหมาะกับตัวเอง

"พอเรียนแล้วรู้สึกว่ามันไปไม่ไหว เราไม่สามารถเขียนโปรแกรมที่มันลึกได้ ก็เลยรู้สึกเสียใจกับตัวเองหน่อย เราก็เลยผันตัวเองมาลองหาอย่างอื่นทำแล้วกัน"

หลังจากเรียนจบ นัยรัตน์ขอเงินทุนจากครอบครัวมาทดลองทำธุรกิจขายสินค้าและเสื้อผ้าต่าง ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นช่วงเดียวกับที่เธอหันกลับมาเล่นเกมอีกครั้ง

ในช่วงนั้นเองที่เธอได้รู้จักกับช่องยูทิวบ์ช่องหนึ่ง ซึ่งผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเกมและสามารถสร้างรายได้อย่างจริงจัง เธอจึงเริ่มศึกษาด้วยตัวเองว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่เธอจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ โดยใช้ทักษะการเล่นเกมที่เธอมีอยู่เป็นทุนเดิม

"คือตอนนั้นเราก็คิดว่ามันเป็นอาชีพ แต่ไม่คิดว่าเราจะทำได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า" เธอกล่าว

ย้อนไปเมื่อปี 2557 ประเทศไทยยังมีเกมแคสเตอร์ในไทยไม่ถึง 100 คน นัยรัตน์จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มทดลองทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง และในเดือน เม.ย. ปีนั้นเธอได้ลองแคสต์เกมเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะอธิบายให้พ่อแม่ของเธอเข้าใจ

"พ่อแม่ก็จะมองว่า อ๋อ ไปเล่นเกม ไปทำงานเกี่ยวกับเกม มันก็คือเล่นเกมไม่ใช่หรอ มันจะได้เงินได้ยังไง"

zbing z. เกมแคสเตอร์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ความพยายามครั้งนั้นเหมือนเป็นโอกาสสุดท้ายที่เธอจะได้ลองทำธุรกิจของตัวเอง และหากไม่สำเร็จเธอก็วางแผนจะสมัครงานหรือช่วยธุรกิจของครอบครัวตามที่สัญญากับพ่อแม่ และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เธอมุ่งมั่นจะเป็นเกมแคสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จให้ได้

จากวิดีโอแรก ๆ ที่มีผู้ชมหลักพัน ค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนเธอมีผู้ติดตามครบ 1 ล้านคนภายใน 2 ปีแรก

จากเดิมที่เคยใช้ไมโครโฟนที่ซื้อมาในราคา 199 บาท ปัจจุบันเธอมีห้องสตูดิโอพร้อมอุปกรณ์สำหรับผลิตวิดีโอแบบมืออาชีพ ด้วยรายได้จากทั้งค่าโฆษณาบนยูทิวบ์และสปอนเซอร์

มากกว่าการเล่นเกม

เมื่อปีที่ผ่านมา ยูทิวบ์กล่าวว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยกว่า 90% ดูวิดีโอผ่านยูทิวบ์ ขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนต์บนยูทิวบ์เป็นอาชีพ หรือ "ยูทูบเบอร์" ที่มีผู้ติดตามมากกว่าเกิน 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 100 ช่องภายในปีเดียวกัน ซึ่งนั่นแสดงถึงการแข่งขันอันดุเดือดของบรรดาผู้ผลิตวิดีโอ

ขณะที่การเล่นเกม เป็นกิจกรรมคลายเครียดสำหรับคนส่วนมาก การเล่นเกมให้คนอื่นดูเป็นอาชีพนั้นไม่ได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนเข้าใจ

หลังจากมีผู้ติดตามมากถึง 1 แสนคน นัยรัตน์ตัดสินใจว่าช่องของเธอจะต้องมีวิดีโอใหม่ทุกวัน นั่นหมายถึงการทำงานตลอดเวลา โดยไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้

พี่แป้ง zbing z. เกมแคสเตอร์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ในแต่ละวัน นัยรัตน์จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอัดวิดีโอขณะเล่นเกมอย่างน้อยหนึ่งชิ้น โดยเริ่มจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับเกมจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มอัดวิดีโอซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง และยังไม่นับรวมการตัดต่อซึ่งกินเวลาอีกหลายชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันแฟนของเธอได้เข้ามาช่วยในส่วนนี้

"สัปดาห์หนึ่งต้องมีซัก 1-2 วันที่เราต้องออกไปพักผ่อนบ้าง เพราะการที่เราเครียดอยู่ที่หน้าคอมอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ผลดีต่อเรา มันมีผลต่อสภาพจิตใจด้วย" เธอกล่าว

ทำไมคนเราชอบดูคนอื่นเล่นเกม

นัยรัตน์อธิบายว่าการดูคนอื่นเล่นเกมนั้นเป็นประสบการณ์ที่ต่างจากการเล่นเกมด้วยตัวเอง เป็นกิจกรรมที่ทำให้หลายคนนึกถึงวัยเด็ก และบางครั้งเกมแคสเตอร์ยังสามารถทำให้เกมดูน่าสนุกขึ้นด้วย

"การที่ดูคนแคสต์เกมเล่น นั้นก็คือเหมือนเราได้ดูเพื่อนเล่น เหมือนเวลาตอนเราเด็ก ๆ ที่เราจะมีพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่มานั่งเล่นเกมล้อมวงกันอะไรประมาณนี้ มันจะเป็นอารมณ์แบบนั้น"

นอกจากส่งเสียงว่า "วู้ฮูว" ก่อนเริ่มเกมทุกครั้งแล้ว เอกลักษณ์ของเธอ คือการพากย์เสียงและสวมบทบาทตัวละครตลอดการเล่น นอกจากนี้ยังมีการสร้างเรื่องราวก่อนและหลังการเล่นเกมเพื่อทำให้วิดีโอมีความลื่นไหลมากขึ้น

zbing z. เกมแคสเตอร์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

จากวิดีโอกว่า 1,000 ชิ้นที่เธอผลิตขึ้น ผลงานที่เธอประทับใจที่สุดคือการแคสต์เกม ARK: Survival Evolved เกมเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ที่เธอได้ตั้งชื่อให้กับไดโนเสาร์ตัวหนึ่งว่า "บิ๊กบอย" จนกลายเป็นชื่อที่หลายคนที่เล่นเกมนี้รู้จักโดยทั่วไป

ในมุมมองของนัยรัตน์ การแคสต์เกมยังถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การเล่นเกมที่บางคนอาจไม่สามารถเล่นได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง

"น้อง ๆ บางคนมีแค่มือถือ หรือไม่ได้มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง เขาไม่สามารถเขาถึงเกมตรงนั้นได้ เราก็เล่นให้เขาดูได้ หรืออย่างเช่น เกมวีอาร์ (Virtual Reality) ซึ่งต้องมีเครื่องโดยเฉพาะ"

เพศหญิงกับอาชีพเกมแคสเตอร์

ถึงแม้เกมแคสเตอร์ที่ได้รับความนิยมส่วนมากในประเทศไทย มักจะเป็นนักเล่นเกมเพศชาย ที่มีจุดขายเป็นทักษะการเล่นและคำพูดที่รุนแรง แต่นัยรัตน์ไม่เชื่อว่าเรื่องของเพศจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน

"ความท้าทายก็คือ เรามองว่าแต่ก่อน คนจะคิดว่าผู้ชายเล่นเกมเก่งกว่าผู้หญิง แต่ว่าตอนนี้แป้งรู้สึกว่าสังคมมันเปิดกว้างแล้ว ผู้หญิงแต่ละคนเล่นเกมเก่งกันมาก แล้วตัวแป้งเองก็อยากให้ทุกคนเปิดใจ"

เธอกล่าวว่า เดิมทีหลายคนอาจมองว่า ผู้หญิงมักจะต้องเล่นเฉพาะ "เกมแบบน่ารัก ๆ มุ้งมิ้ง ๆ" แต่เธอกล่าวว่าในความจริงแล้ว ผู้หญิงเองก็เล่นเกมอย่างมีทักษะและความเข้าใจไม่ต่างจากผู้ชาย

"อันนี้คือความยาก มีผู้ชายที่แคสต์เกมหลายคนมาก และทุกคนก็ชอบดู แต่พอเราเข้ามาใหม่ เราเป็นผู้หญิง เราต้องหาวิธีทำยังไงก็ได้ ให้คนกลุ่มใหม่ ๆ เขาเปิดใจรับเราได้"

zbing z. เกมแคสเตอร์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

บทบาทของเกมต่อชีวิต

การเล่นเกมเป็นอาชีพได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของนัยรัตน์ไปอย่างมากในด้านความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองและผู้ชม โดยเฉพาะเมื่อผู้ติดตามของเธอส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชน เธอจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้อหา มากกว่าการเพิ่มยอดคนดูเพียงอย่างเดียว

"พอเราโตขึ้น เรารู้สึกว่ามีคนติดตามเรามากขึ้น น้อง ๆ หนู ๆ อายุน้อย ๆ ที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เด็ก ๆ ดู เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราพูดคำหยาบไปเนี่ย ผู้ปกครองอาจไม่ให้เขาดูช่องเราอีกเลย หรือว่าน้อง ๆ อาจเอาเป็นแบบอย่าง"

ปัจจุบัน นอกจากการแคสต์เกมแล้ว ช่องยูทิวบ์ของเธอยังมีวิดีโอประเภทอื่น ๆ เช่น พาไปท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นร่วมด้วย แต่การเล่นเกมยังคงเป็นกิจกรรมพิเศษสำหรับเธออยู่เหมือนเดิม

"ตัวแป้งเองมีความสุขกับการอยู่ในเกมมาก เพราะว่าเราเหมือนได้ผจญภัย ได้เล่นและพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์ ขณะที่ในชีวิตจริง เราต้องทำงาน เราต้องมีภาระอะไรมากมาย" นัยรัตน์กล่าว

"เกมมันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี มันเป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้เราผ่อนคลาย ทำให้เรามีสังคมใหม่ ทำให้เราได้เปิดโลกกว้างใหม่ ๆ"

       
Visitors: 639,991