How to ก้าวสู่สตาร์ตอัพแถวหน้า ไม่หยุดเรียนรู้-อย่าติด B2C

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  31 ส.ค. 2561
       
 How to ก้าวสู่สตาร์ตอัพแถวหน้า ไม่หยุดเรียนรู้-อย่าติด B2C

เป็นความฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ อยากมีไอเดียใหม่ล้ำ ๆ โดนใจเหล่านักลงทุน แต่ในโลกความจริงมีไม่กี่รายที่จะก้าวข้าม seed round สู่ series A ไป B …จนได้เป็น “ยูนิคอร์น” (มูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ) “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดมุมมองธุรกิจของ 3 ว่าที่ “ยูนิคอร์น” สตาร์ตอัพไทย

สตาร์ตอัพ คือ เลิร์นนิ่งเคิร์ฟ

“อิศราดร หะริณสุต” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด ผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ เปิดเผยว่า การเป็นสตาร์ตอัพไม่ง่าย ต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ และไม่ยอมแพ้เมื่อเจออุปสรรค การเป็นสตาร์ตอัพไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มีปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ เช่น โปรดักต์ที่แก้ปัญหาได้จริงไม่ต้องคิดซับซ้อน โดยโปรดักต์ครั้งแรกต้องง่ายที่สุด เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าไอเดียที่ออกไปจะใช้ได้จริงรึเปล่า ถ้าไปทุ่มเทแต่ไม่มีคนใช้ ก็เสียทั้งเงินและเวลา ปัจจุบันสตาร์ตอัพมีโอกาสหาทุนมากกว่าเมื่อก่อน แต่การระดมทุนไม่ควรมองแต่ “เงิน” ต้องมองว่า VC (venture capital) นั้น ๆ จะเพิ่ม value และช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร ที่สำคัญต้องเรียนรู้อยู่เสมอ

“สตาร์ตอัพมันเป็นเลิร์นนิ่งเคิร์ฟ สิ่งที่ทำตอนแรกอาจจะไม่ได้ดีที่สุด เพราะตอนแรกโอมิเซะก็ไม่ได้ทำเพย์เมนต์เกตเวย์ การทำสตาร์ตอัพจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ขอแค่พร้อมที่จะคว้าหรือปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะถ้าดันทุรังโดยที่ไม่ได้มองหรือคิดดี ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เข้ามา มันอาจจะเป็นจุดจบได้”


VC ไม่ได้ดูแค่โปรดักต์

“กิตตินันท์ อนุพันธ์” ประธานกรรมการ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “เคลมดิ” กล่าวว่า ภาพรวมสตาร์ตอัพเติบโตขึ้น แต่ละปีมีสตาร์ตอัพประมาณ 500-600 ราย แต่ที่ระดมทุนได้จริง ๆ มีแค่ 20-30 ทีม ซึ่งปัญหาที่เห็นคือ การยึดติดกับการทำงานแบบ SMEs เพราะยังไม่เข้าใจกับแนวทางการทำสตาร์ตอัพ ทำให้ระดมทุนไม่ได้และบริษัทเติบโตช้า การเติบโตแบบสตาร์ทอัพต้องโต 15% ใน 1 เดือน โตเป็นเท่าตัวใน 6 เดือน ดังนั้นต้องหาทางเข้าโครงการอบรมบ่มเพาะ (accelerate) ให้ได้ เพื่อที่จะคิดและเข้าใจการเป็นสตาร์ตอัพจริง

“ไม่ใช่ SMEs ไม่ดี แต่การได้เข้า accelerate ทำให้รู้วิธีคิด วิธีทำงานแบบสตาร์ตอัพ เพราะต่อให้มีสินค้าดี มีทีมดี มีลูกค้าดี แต่ยังไม่ทำงานแบบสตาร์ตอัพ ก็ไม่มีนักลงทุนมาลงกับเราเพราะไม่ได้ดูแค่โปรดักต์ เพราะโปรดักต์เลียนแบบได้ แต่เขาจะลงทุนเพราะความคิด, passion”

ขณะที่การขยับไประดมทุนในซีรีส์ใหญ่ขึ้นไป ยิ่งยากขึ้น เดิมซีรีส์ A ระดมทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐแลกกับหุ้น 20% แต่ถ้าจะระดมทุน 2 ล้านเหรียญ ต้องทำให้บริษัทมีมูลค่า 10 ล้านเหรียญ ซึ่งมหาศาลมาก สตาร์ตอัพเด็ก ๆ ยิ่งยากสตาร์ตอัพไม่จำเป็นทำ B2C

“หลายคนหลงทางว่า สตาร์ตอัพต้องสร้างโปรดักต์ B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) แต่การทำ B2C ให้สำเร็จมันยากมากและต้องใช้เงินมหาศาล ดังนั้นควรเริ่มต้นแบบ B2B แต่ถ้าทำแบบ B2B ไม่ได้ ก็ต้องทำ B2B2C หรือทำโปรดักต์ให้ C แต่หารายได้จาก B ซึ่งการทำแบบนี้จะสเกลได้ง่าย เพราะถ้าจะเป็น B2B โดยไม่สนใจ C เลยก็จะสเกลไม่ได้ เพราะไม่มี C เป็นตัวประกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้ C ได้ประโยชน์แล้ว B เป็นตัวประกัน จะสเกลได้”

“ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (OokBee) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอี-บุ๊ก กล่าวเสริมว่า สตาร์ตอัพไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นบอกไม่ได้ว่าการทำ B2B หรือ B2C แบบไหนดีกว่ากัน แต่ B2B มีข้อได้เปรียบ เพราะขายให้องค์กรจะได้เงินก้อนใหญ่ ทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาดีกว่า

“ถ้าทำ B2C เราอาจจะขายได้ครั้งละไม่กี่บาท และต้องลงโฆษณาหรือโปรโมชั่นเยอะ ดังนั้น ธุรกิจที่ดีที่สุด คือ ต้องทำได้ทั้ง 2 แบบ เพื่อให้ช่วยหนุนกัน”

อย่างไรก็ตาม ตลาดสตาร์ตอัพพัฒนาขึ้นมาก อีโคซิสเต็มใหญ่ขึ้น มีนักลงทุนเพิ่มมาก ทำให้การเป็นสตาร์ตอัพเป็นได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สตาร์ตอัพไทยก็มีจำนวนมากขึ้น คุณภาพดีขึ้น แต่คู่แข่งที่มีโปรดักต์หรือไอเดียหมือน ๆ กันก็มากขึ้น ดังนั้นต้องพยายามคิดหาทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ แต่ต้องดูด้วยว่าตลาดใหญ่พอที่จะอยู่ได้หรือไม่

“จะประสบความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัว แต่ที่แน่ ๆ ต้องทำงานหนัก และต้องฉลาดในการใช้เวลา มีไอเดียอะไรก็ต้องรีบทดลอง ไม่เวิร์กก็รีบเปลี่ยน เพราะตอนนี้เวลาคือต้นทุนที่สำคัญที่สุด”

อีก 5 ปีจะมียูนิคอร์นไทย

ด้าน “สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคได้จัดโครงการ dtac accelerate มา 6 ปีแล้ว จึงได้เห็นพัฒนาการของสตาร์ตอัพไทยที่มีความพร้อมและประสบการณ์มากขึ้น หลายทีมสร้างธุรกิจได้จริงแล้ว ขณะที่สตาร์ตอัพแถวหน้าของวงการอย่าง โอมิเซะ, เคลมดิ, อุ๊คบี, วงใน และฟินโนมิน่า ก็เติบโตก้าวกระโดด จึงเชื่อว่าภายใน 3-5 ปีนี้ จะมียูนิคอร์นที่เป็นสตาร์ตอัพไทย

“ตอนนี้มีผู้หญิงเข้ามาในวงการสตาร์ตอัพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ รวมถึงประเภทของสตาร์ตอัพก็หลากหลายขึ้น ที่มาแรงน่าจะเป็นด้านสุขภาพ ส่วนที่อยากให้เกิดขึ้นมาก ๆ คือ ด้านการเกษตร ที่เป็นการต่อยอดจุดแข็งของประเทศ เพราะไทยจะไปสู้ด้านฟินเทค หรือเทคโนโลยีอื่นของสตาร์ตอัพต่างประเทศอาจจะยาก”

ที่ผ่านมาผู้ที่เข้าร่วมโครงการ dtac accelerate 45 ทีม สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 5 พันล้านบาท โดย 70% ของสตาร์ตอัพที่อยู่ในโครงการมีนักลงทุนมาร่วมลงทุน เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในท้องตลาดจะอยู่ที่ราว 20% สำหรับ dtac accelerate ปี 6 นี้ มี 5 ใน 11 ทีมได้รับเงินลงทุนแล้ว และคาดว่าจะมีนักลงทุนร่วมลงทุนเป็น 10 ทีมอย่างแน่นอน

Visitors: 629,747