‘ธนาคารขยะรีไซเคิล’ โมเดลระดับตำบล กวาดขยะเกลี้ยงจนต้องนำเข้า !?

 
แหล่งที่มา : www.greennews.agency วันที่โพสต์ :  27 ส.ค. 2561
       
 ‘ธนาคารขยะรีไซเคิล’ โมเดลระดับตำบล
กวาดขยะเกลี้ยงจนต้องนำเข้า !?

เราหลายคนอาจเคยทึ่งเมื่อเห็น สวีเดน ต้องนำเข้า “ขยะ” จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ภายหลังขยะภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอเพราะถูกกำจัดจนหมดจด สะท้อนภาพการบริหารจัดการอันมีประสิทธิภาพ

หนีไม่พ้นว่าเราหลายคนต้องหันกลับมาบ่นอุบถึงภาพของขยะใน ไทย ที่มองดูอย่างไรก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยปัญหา ทั้งจากต้นทาง “ความมักง่ายของคน” ไปจนสุดที่ “การจัดการ” ซึ่งอาจเรียกว่าไกลห่างเกินกว่าที่จะเปรียบเทียบ

จะเป็นอย่างไร หากเราได้รู้ว่าบางพื้นที่ในไทย สามารถจัดการปัญหาขยะได้เกลี้ยงเกลาจนต้องมีการนำเข้าแล้วเช่นกัน !?

ถ้าเรามองข้ามเมืองหลวงฟ้าอมร มายัง ณ ตอนบนของภาคอีสาน พื้นที่เล็กๆ ที่ประกอบไปด้วย 16 หมู่บ้าน และประชากรกว่า 1 หมื่นคน อาจกำลังสร้างโมเดลที่น่าสนใจ เพื่อใช้เป็นความหวังในการจัดการขยะของประเทศได้จริงๆ

‘ธนาคารขยะ’ เปลี่ยนของเสียเป็นเงินสด

โครงการ “ธนาคารขยะรีไซเคิล” ในพื้นที่ ตำบลเอราวัณ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ด้วยความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและเทศบาลตำบลเอราวัณ โดยมีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากเทศบาล และสมาชิกในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ

ธนาคารแห่งนี้มิได้มีสำนักงานหรือสาขา หากแต่เป็นจุดนัดพบที่ทุกฝ่ายจะมาพบกันเดือนละครั้งเพื่อฝากและถอน โดยปัจจุบันมีอยู่ 13 จุด กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ 16 หมู่บ้านของตำบล โดยแต่ละจุดจะเป็นสถานที่ เช่น ศาลากลางบ้าน ศาลาประชาคม เป็นต้น

สิ่งที่ฝากเป็น “ขยะ” และสิ่งที่ถอนไปคือ “เงิน”

ทุกๆ เดือน ในแต่ละจุดจะถูกกำหนดให้มี 1 วันเป็น “วันซื้อ-ขายขยะ” ซึ่งชาวบ้านจะขนขยะครัวเรือนของตัวเองที่สะสมไว้ออกมาที่จุดนัดพบ โดยมีผู้ประกอบการมารอรับซื้อ เมื่อพร้อมแล้วธนาคารขนาดย่อมแห่งนี้ก็เปิดทำการ

ขยะของชาวบ้านจะได้รับการชั่งน้ำหนัก ตีราคาตามประเภท หากเป็นขยะที่ถูกรวมมาก็จะได้ราคาเหมา แต่หากมีการแยกประเภทจะได้ราคาที่ดีกว่า สุดท้ายรายละเอียดทั้งหมดจะถูกจดลงในสมุดบัญชี อันเป็นที่เก็บประวัติการซื้อ-ขายของแต่ละราย

 

กติกาคือ สมาชิกจะสามารถถอนเงินสดออกไปได้ เมื่อมียอดเงินจากการขายขยะอยู่ในบัญชีมากกว่า 300 บาท ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็น “กองทุนฌาปนกิจ” ซึ่งสมาชิกมีสิทธิจะได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ต่อเมื่อมีการขายขยะอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกแต่ละรายจะถูกหักครั้งละ 20 บาท เมื่อครัวเรือนใดมีผู้เสียชีวิต ส่วนสมาชิกที่ได้รับค่าฌาปนกิจศพ ปัจจุบันจะได้รับถึงรายละ 16,100 บาท

แดง วงษา กำนันตำบลเอราวัณ ในฐานะประธานธนาคารขยะรีไซเคิล เปิดเผยว่า นอกจากที่ระบบธนาคารจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการออมแล้ว กองทุนฌาปนกิจยังเป็นส่วนหนึ่งที่จูงใจให้ชาวบ้านเข้าร่วมได้เป็นอย่างดี เมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะทำประกันชีวิต แล้วเห็นว่าการออมแบบนี้ได้เงินจริง และค่อยๆ ได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีคนเห็นความสำคัญ และเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

 
ในส่วนของผู้ประกอบการที่เข้ามารับซื้อขยะ เขาระบุว่า จากเดิมที่เคยเป็นพ่อค้าเร่จากนอกพื้นที่ เข้ามาซื้อด้วยราคาที่ไม่เป็นธรรม ในภายหลังเมื่อเป็นผู้ประกอบการภายในพื้นที่ ก็ทำให้ชาวบ้านขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ตัวแทนผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิล ฉัตรตรีย์ เสิกกัณยา เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้ตั้งราคารับซื้อได้สูงนั้น เนื่องจากการตั้งที่อิงกับราคาตลาดจริง ซื้อขายกันด้วยความยุติธรรม แม้กำไรที่ได้จะไม่สูงมากนัก แต่เป็นการทำที่อยู่ได้ด้วยใจรัก ซึ่งขยะที่รับซื้อไปแล้วจะถูกนำไปแยกประเภทโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลต่อไป

ขณะเดียวกัน ผลจากการมีจุดซื้อขายที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการรายนี้ไม่ต้องเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายในการขับรถเร่รับซื้อตามบ้านเช่นในอดีต จากเดิมที่เขาเคยขับรถตระเวนได้ขยะวันละไม่ถึง 1 ตัน ปัจจุบันเขาสามารถรับซื้อขยะได้มากถึง 30-40 ตันต่อเดือน หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ซื้อขยะ ถึงเดือนละกว่า 1 แสนบาท

สำหรับขยะที่ถูกนำมาขายมากที่สุด 3 อันดับ ในแง่ของปริมาณ ได้แก่ 1.ขวดพลาสติก (3 ตัน/เดือน) 2.ขวดแก้ว (10 ตัน/เดือน) และ 3.กระดาษ (7-8 ตัน/เดือน)

 
รายได้แตะหมื่น-ผู้คนตื่นหอบขยะเข้า

จากจุดเริ่มต้นในเดือนกันยายน 2557 ด้วยสมาชิกจำนวน 49 ครัวเรือน ปัจจุบันธนาคารขยะรีไซเคิลแห่งนี้ มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 1,271 ครัวเรือน โดยจำนวนเงินที่ได้จากการขายขยะนับตั้งแต่ดำเนินโครงการ คิดเป็นยอดเงินรวมแล้วกว่า 1 ล้านบาท

ชนิดา เกตุแก้วเลี้ยง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เทศบาลตำบลเอราวัณ หนึ่งในผู้ดูแลธนาคารฯ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับปริมาณประชากรกว่า 2,500 ครัวเรือนที่อยู่ในตำบล นับได้ว่าขณะนี้มีแล้วครึ่งหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก

อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ต้องการคือให้ได้ประมาณ 70-80% ของครัวเรือน

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก นอกจากเป็นการสร้างรายได้ และฝึกการออมแล้ว ยังช่วยให้รู้จักการคัดแยกขยะกันมากขึ้นด้วย

เธอเล่าว่า ในบางครัวเรือนสามารถสร้างรายได้จากขยะปีละ 400-500 บาท หรือสมาชิกบางรายที่เป็นร้านค้าอาจได้มากถึง 1,000 บาทต่อเดือน เมื่อถึงสิ้นปีสามารถถอนเงินออกไปได้เป็นหลักหมื่นบาท สร้างความสนใจให้กับชาวบ้านที่ยังไม่รู้ ได้อยากเข้ามาร่วมด้วยมากขึ้น

 
ผลสัมฤทธิ์ของธนาคารแห่งนี้ ฉายภาพผ่านปริมาณขยะทั่วไปของเทศบาลตำบลเอราวัณ จากที่เคยเก็บได้หนัก 212 ตัน ในเดือนมกราคม 2560 ลดลงมาเหลือเพียง 121 ตัน ในเดือนมกราคม 2561

อีกภาพหนึ่งที่ปรากฏคือการนำเข้าขยะจากนอกพื้นที่ เพื่อนำมาขายยังธนาคารแห่งนี้

ทองดี พลเวียงคำ ประธานสภาเทศบาลตำบลเอราวัณ เสริมว่า เมื่อผู้คนเริ่มเก็บคัดแยกขยะและเก็บสะสมกันมากขึ้น นอกจากขยะที่เคยมีอยู่เกลื่อนกลาดจะหายไปแล้ว ยังทำให้ขยะในชุมชนกลายเป็นสิ่งมีค่าและหายาก เมื่อมีการจัดกิจกรรมหรืองานบุญใดๆ ขยะภายในงานจะต้องถูกจับจองมีเจ้าของทุกครั้งไป

นอกจากนี้ ด้วยความที่ประชากรจำนวนมากในตำบลนิยมประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ ซึ่งเดินทางออกไปขายยังนอกพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดข้างเคียงและกระจายไปยังทั่วประเทศ ไม่ว่าผู้คนเหล่านี้จะไปขายยังที่ใด พฤติกรรมที่เกิดขึ้นคือการเก็บขยะและขนติดตัวมาด้วยทุกครั้งเมื่อกลับบ้าน เพื่อนำกลับมาเข้าธนาคาร

 
‘ธรรมนูญตำบล’ บ่อเกิดข้อตกลง-ความร่วมมือ

ก่อนหน้านี้ สำหรับตำบลเอราวัณแล้ว ก็เคยมีปัญหาขยะเกลื่อนกลาดไม่ต่างจากที่ใดๆ สร้างความ อุกอั่ง” (อึดอัด-คับข้องใจ) ให้กับคนบริเวณนี้อยู่ไม่น้อย จนชาวบ้านต่างเห็นพ้องร่วมกันว่านี่เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

หลังผ่านกระบวนการพูดคุย เกิดเวทีประชาคมหลายครั้งหลายครา จนมาสู่การจัดทำข้อตกลงร่วมของชุมชน ด้วย “ธรรมนูญสุขภาพ” หนึ่งในเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ก่อให้เกิดกติกาที่เป็นรูปธรรม ในลักษณะของการใช้ความร่วมมือเข้ามาแก้ไขปัญหา

อุเทน แสงนาโก ปลัดเทศบาลตำบลเอราวัณ ระบุว่า นอกจากปัญหาขยะแล้ว จากการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่ายังมีปัญหาความอุกอั่งในอีกหลายเรื่อง จึงได้ชักชวนตัวแทนชาวบ้านมาล้อมวงระบายความคับข้องใจ ด้วยการเปิดเวทีรับฟังปัญหาขึ้นจำนวน 16 ครั้ง ใน 16 หมู่บ้าน

“กระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ เริ่มจากคำว่า อุกอั่ง ซึ่งในเวทีประชาคมได้สอบถามชาวบ้านเป็นคำถามง่ายๆ ว่าพวกเขามีความอุกอั่งกันอย่างไร และอยากให้ชุมชนและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร จากนั้นได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาสรุป จัดแบ่งหมวดหมู่ของปัญหา ยกร่างขึ้นเป็นร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลเอราวัณ ถกแถลง รับฟังความคิดเห็น ประกาศใช้ และผลักดันเข้าสู่การรับรองเป็นเทศบัญญัติเพื่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย” เขาอธิบาย

 
ในที่สุด ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ ฉบับที่ 1 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2558 ก็ได้มีการบรรจุระเบียบต่างๆ ที่ชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อขจัดความอุ่กอั่งในด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาการใช้ไฟฟ้าช็อตปลาในฝาย ถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยล้นชุมชน แทนที่ด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ

ปลัดรายนี้ระบุด้วยว่า ธรรมนูญสุขภาพเหมือนกับกฎกติกาที่เปิดช่องให้สามารถปรับแก้ได้ ซึ่งทั้งชาวบ้านและคณะทำงานมีสิทธิที่จะเสนอให้แก้ไข โดยหลังจากตำบลเอราวัณประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพมาเป็นเวลา 2 ปี ทางคณะทำงานจึงได้เสนอให้มีการทบทวนเพื่อสร้างความชัดเจนในบทบัญญัติที่ยังไม่คม

ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจใหม่ที่ต่อยอดจากการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพฉบับแรก เช่น โครงการขยะรีไซเคิล หรือโครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็ได้นำมาสู่การประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพสู่ตำบลสุขภาวะของประชาชนตำบลเอราวัณ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ในปี 2561

คงเดช วรรณชัย นายกเทศมนตรีตำบลเอราวัณ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาหน่วยราชการจะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและจัดทำเป็นเทศบัญญัติ แต่การมีข้อบังคับที่ออกมาจากความสมัครใจของตัวชาวบ้านเอง หรือที่เรียกว่าธรรมนูญสุขภาพนี้ ย่อมเกิดประสิทธิภาพได้มากกว่าและมีความยั่งยืนมากกว่า

เพราะนี่คือเรื่องที่พวกเขาเห็นความสำคัญ และอยากจะนำพาชุมชนที่เขาอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 
Visitors: 629,278