ผวาต่างชาติฮุบงานรัฐ!

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  6 ส.ค. 2561
       
 ผวาต่างชาติฮุบงานรัฐ! ร่วมวง CPTPP
บีบเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้าง – ‘เอสเอ็มอี’ เดี้ยง

ไทยผวาร่วม CPTPP เสียอธิปไตยจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เปิดช่อง 11 ประเทศสมาชิก ร่วมประมูลชิงตลาด 1 ล้านล้าน ได้โดยเสรี ห่วงทุบเอสเอ็มอีไทยเดี้ยง กระทบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ เบิกจ่ายงบล่าช้า … สภาหอฯ-สภาอุตฯ มองต่างมุม

จากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่สมาชิกเดิม 11 ประเทศ ได้ลงนามความตกลงไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 และคาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562

 
อย่างไรก็ดี จากความตกลง CPTPP มีหลักการเบื้องต้นว่า หากประเทศใดจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในภายหลัง จะต้องเจรจาตกลงเงื่อนไขกับสมาชิก CPTPP ทุกประเทศก่อน โดยเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่ง คือ จะต้องยอมรับข้อบทกฎเกณฑ์และภาคผนวก ภายใต้ความตกลง รวมถึงหลักการสำคัญต่าง ๆ โดยไม่สามารถปรับแก้ไขได้ เช่น การเปิดตลาดการค้า บริการ และการลงทุนแบบ Negative List Approach (เปิดเสรีเต็มรูปแบบ ยกเว้นส่วนที่ระบุไว้เป็นข้อสงวน) การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของข้อบทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นำมาซึ่งความกังวลของฝ่ายไทยถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างมาก เนื่องด้วยไทยยังไม่มีการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในความตกลงการค้าเสรีใด ๆ มาก่อน
 
ชั่งน้ำหนัก “เสียมากกว่าได้”

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกรมได้ประเมินผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากเข้าร่วม CPTPP ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ได้ข้อสรุปดังนี้ ในส่วนของประโยชน์ จะเพิ่มการแข่งขันจากผู้ค้าของภาคีความตกลง ทำให้รัฐได้สินค้าที่มีคุณภาพดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการของไทยไปยังตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐของคู่ภาคี ขณะที่ ข้อกังวล หรือ ผลกระทบ มีหลายประการ ได้แก่ การเปิดตลาดอาจทำให้สูญเสียงบลงทุนในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นงบประมาณที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ การจ้างงาน การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเศราฐกิจท้องถิ่น ลดทอนอำนาจรัฐในการใช้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างในการพัฒนาประเทศ
 
นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้างอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ , กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ , ไม่สามารถใช้แต้มต่อ หรือ การใช้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างได้ เป็นต้น

“อย่างไรก็ดี แนวทางการเจรจาในเรื่องนี้ ไทยอาจจะเจรจาให้มีผลครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ แต่จะยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานรัฐในส่วนท้องถิ่น เจรจามูลค่าขั้นต่ำและระยเวลาเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาในการปรับตัว รองรับการแข่งขัน และมีอีกหลายแนวทาง ซึ่งจะขอรับฟังความเห็นข้อขัดข้อง ข้อห่วงกังวล ข้อสงวนต่าง ๆ ของหน่วยงาน หากประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ”

 
บัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาหอฯ เชียร์เปิดเสรี

ด้าน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในความตกลง CPTPP ด้านหนึ่งแม้จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และกระทบการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจล่าช้าและกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้านข้อดีก็มีหลายอย่าง เช่น เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม ทำให้ได้ของดีราคาถูก การฮั้วประมูลโดยพวกพ้องของนักการเมือง ที่เป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชัน ทำชาติเสียหายมหาศาล เหมือนในอดีตจะยากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะพัฒนาตัวเองเพื่อการแข่งขันได้ดีขึ้น เป็นต้น

“การปกป้อง ก็คือ ไม่มีการพัฒนาและทำให้เอกชนอ่อนแอ แต่หากเราเปิดตลาดในส่วนนี้ อีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยก็สามารถเข้าไปแข่งขันจัดซื้อจัดจ้างสินค้า บริการ และการก่อสร้างของภาครัฐใน 11 ประเทศสมาชิก CPTPP ในนามบริษัทคนไทยได้โดยตรง ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เรื่องนี้หากมีความกังวล เราสามารถเจรจากำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการจัดซื้อจัดจ้างที่สงวนไว้สำหรับคนไทยได้ และสามารถเจรจาให้มีระยะเวลาปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านได้”

 
สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สภาอุตฯ แบ่งรับแบ่งสู้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเข้าร่วม CPTPP มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ขณะนี้ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ก็เตรียมเข้าร่วม ส่วนตัวมองว่า ไทยควรเข้าร่วม เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก 70% ส่วนข้อกังวลว่า กรณีเปิดเสรีประมูลงานภาครัฐ ขอดูรายละเอียดก่อนว่า หากเปิดเสรีไทยจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร วันนี้สินค้าไทยเริ่มแข็งแรง อาจไม่เสียเปรียบก็ได้

“เรื่อง CPTPP ก็ต้องมาดูรายละเอียดบางอย่างให้ดี ว่า หากเปิดเสรีแล้ว กติกาที่เราตั้งไว้อาจจะไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศก็ได้ แต่ผมว่า ถ้าเราทำได้ เกิดกระแสการบริโภคของในประเทศมากขึ้น จะส่งผลดีมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่วันนี้อยากให้ภาครัฐขับเคลื่อนกับเรา ซึ่ง ส.อ.ท. กำลังจะเสนอ “โครงการเมดอินไทยแลนด์” ให้คนไทยหันมาใช้และซื้อสินค้าคนไทยมากขึ้น ให้รัฐบาลนำไปพิจารณา”

 
ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงประโยชน์และข้อเสียเปรียบของข้อตกลงใน CPTPP หากไทยจะเข้าร่วม เนื่องจากข้อตกลงที่สมาชิกเดิมได้ตกลงกันไปแล้ว ไทยไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่อาจขอเวลาในการปรับตัว 3 ปี 5 ปี ได้ ซึ่งต้องกลับมาดูว่า เงื่อนไขข้อใดที่ไทยต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึง ก.ย. นี้ ก่อนจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำผลไปศึกษาถึงผลกระทบต่อไทยและการปรับตัว รวมถึงจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาเรื่องนี้ด้วย คาดว่า ขั้นตอนการรับฟังความเห็น การหารือระหว่างหน่วยงานรัฐ และผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา น่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้
Visitors: 616,225