Shell’s มองการเปลี่ยนผ่านพลังงานโลกด้วย “Sky Scenario” เมื่อทุกสิ่งในโลกไม่มีวันเหมือนเดิม

 
แหล่งที่มา : https://thaipublica.org
วันที่โพสต์ :  18 ส.ค. 2561
       
Shell’s มองการเปลี่ยนผ่านพลังงานโลกด้วย “Sky Scenario”
เมื่อทุกสิ่งในโลกไม่มีวันเหมือนเดิม

ดร.โชว คง หัวหน้านักวิเคราะห์ภาครัฐศาสตร์ รอยัล ดัตช์ เชลล์
Shell’s Sky Scenario for the Next Generation: “Dr.Cho Khong” มองการเปลี่ยนผ่านพลังงานโลกด้วย “Sky Scenario” เมื่อทุกสิ่งในโลกไม่มีวันเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จัดงาน Shell Forum ในหัวข้อ “Energy Transition for Thailand’s Future” เพื่อเผยแพร่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมและโอกาสด้านพลังงาน แบบจำลองทางเลือกพลังงานและการดำเนินชีวิตในอนาคตตามแบบจำลอง “Sky Scenario” ซึ่งเป็นผลการศึกษาใหม่ของเชลล์ระดับโลก ตลอดจนเปิดเวทีในการร่วมกันมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน แนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และอนาคตด้านความยั่งยืนของประเทศไทย

โดยมี Dr.Cho Khong Chief Analyst จาก Royal Dutch Shell ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองสถานการณ์อนาคตของบริษัทเชลล์ เป็นผู้ให้ข้อมูลในแบบจำลอง Sky Scenario หรือ Sky

Sky เป็นหนึ่งในแบบจำลองสถานการณ์ทางเลือกใหม่ภายใต้ Shell’s New Lens Scenarios (NLS) ชุดแบบจำลองสถานการณ์ของระบบพลังงานในอนาคต โดยเมื่อ 5 ปีก่อน เชลล์ได้สร้างแบบจำลองสถานการณ์ Mountains และ Oceans ซึ่งเป็นทางเลือก 2 ทางสำหรับการพัฒนาระบบพลังงานในศตวรรษที่ 21 แบบจำลองสถานการณ์ในอนาคตทั้ง 3 แบบ แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในหลายรูปแบบสำหรับระบบพลังงาน

ดร.โชวกล่าวว่า เชลล์มุ่งพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ด้านพลังงานมากว่า 50 ปีโดยทีม Scenario ซึ่งแบบจำลองนี้ไม่ได้บอกถึงสิ่งที่ต้องทำ เปรียบเสมือนหน้าต่างฉายภาพสถานการณ์ในบริบทที่จะนำไปสู่อนาคตในระยะยาว และสามารถใช้หน้าต่างนั้นมองภาพให้ชัดเจนว่าประเด็นสถานการณ์จะมีผลต่อโลกอย่างไร

“Sky Scenario ไม่ใช่การทำนายแต่เป็นการแสดงถึงนัยในจุดที่โลกกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ และจะส่งผลต่อการกำหนดอนาคตโลกที่เราจะอาศัยอยู่อย่างไร เราทุกคนตระหนักดีว่าทุกสิ่งในโลกไม่มีวันเหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวิถีเปลี่ยนแปลงนั้นจะกำหนดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร” ดร.โชวกล่าว

แบบจำลอง Sky Scenario เริ่มต้นจากการที่ตระหนักว่า ทุกคนมีมุมมองที่ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับในมุมมองที่แตกต่างกัน และนำความแตกต่างนั้นมาวาดภาพความเป็นไปได้ในหลายทางในอนาคต ซึ่งบางด้านอาจจะต่างไปจากสิ่งที่เห็นในวันนี้อย่างมาก นอกจากนี้ ความเข้าใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอาจจะบ่งบอกถึงสิ่งที่ต้องจำเป็นทำในวันนี้ ดังนั้น ต้องเข้าใจอนาคต นำความเป็นไปได้เพื่อทำบางอย่างในวันนี้สำหรับอนาคต

ในปี 2013 ทีม Scenario ได้ทำการฉายภาพใหญ่แบบจำลองระยะยาวของโลก 2 ด้าน ที่มีนัยในอีกหลายทศวรรษ เพราะพลังงานเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ภาพใหญ่ของโลกต้องใช้เวลานานกว่านั้น ผลที่สะสมไว้จะจึงปรากฎ

ความเข้าใจของการมองภาพอนาคตนั้นไม่ใช่อยู่ที่ว่าเส้นทางพลังงานปัจจุบันไม่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ต้องรู้ว่าพลังงานโลกยังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกด้วย รวมไปถึงการมองถึงการเปลี่ยนแปลงในรอบด้าน เช่น การผงาดขึ้นมาของจีน การเปลี่ยนมือของการเป็นมหาอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ระบบเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านพื้นฐานว่าโลกจะใช้พลังงานอย่างไร

 
ที่มาภาพ: www.shell.com/scenario
 “คำถามก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นรวดเร็วแค่ไหนและเมื่อไร”

ดร.โชวกล่าวว่า ในแบบจำลองแรก Mountain เป็นโลกที่อยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ต่างคนต่างมุ่งที่เรื่องของตัวเอง ซึ่งสถานการณ์พลังงานในช่วงนี้เน้นที่ความมั่นคงของพลังงาน รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายทิศทางการพัฒนา ทำให้ขาดความยืดหยุ่น กลไกเศรษฐกิจกลไกตลาดไม่ทำงาน แต่ช่วงนี้มีการเปลี่ยนผ่านมาที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์

แบบจำลองที่สอง Ocean เป็นช่วงที่กลไกตลาดทำงานได้ดี เศรษฐกิจเติบโต จึงเปิดประตูให้พลังงานทางเลือกมีการพัฒนามากขึ้น พลังงานทางเลือกทั้งลม ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่กลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของโลกในปี 2016

Sky Scenario แบบจำลองล่าสุด ได้นำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเศรษฐกิจโดยรวมระดับโลก และหนทางในการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานไร้มลพิษภายในปี 2070

“แบบจำลองครั้งนี้ไม่ใช่การคาดเดา นโยบาย หรือแผนธุรกิจใดๆ ของเชลล์ หากแต่เชลล์หวังว่าผลการศึกษาชิ้นนี้อาจช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีการส่งสัญญาณไปทั่วโลก หากรัฐบาล อุตสาหกรรม และสังคมร่วมมือกันก็จะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานที่แตกต่างออกมาได้”

ปี 2015 มีการลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ข้อตกลงปารีสออกมาบนพื้นฐานที่ตระหนักว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้น ดังนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดลง และภายในปี 2070 ต้องเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจก (zero emission)

การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ยังเดินหน้าต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเพิ่มการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเพื่อที่จะนำไปสู่ดินแดนใหม่ที่ไร้คาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2100

“การตั้งเป้าลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเป็นเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้สูง และถามตัวเราว่าจะทำได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าแบบไม่ประมาทว่าทำได้ แต่ก็ไม่ง่าย”

ในปีที่ผ่านมา เชลล์ได้ทำการศึกษาและพบว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้นั้นต้องมีการดำเนินการในแนวทางเฉพาะหลายด้านประกอบกัน โดยการลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าจะทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น เช่น การขนส่ง เพราะการผลิตยานยนต์ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะแปรรูปวัสดุ และยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้

 
ที่มาภาพ: www.shell.com/scenario
ความยั่งยืนเป็นความท้าทายในอนาคต

เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว มีการใช้พลังงานมากขึ้น ดังนั้น เรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับทุกคนในโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จีนและยูเครนที่เศรษฐกิจขยายมากจะมีการใช้พลังงานอย่างมากในอีกรอบศตวรรษ และเชื่อว่าระบบพลังงานโลกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าจากวันนี้ไปจนถึงปี 2100

การใช้พลังงานในแนวทางยั่งยืน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการไม่ปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศา ขณะเดียวกันก็ต้องให้เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตด้วย

ข้อตกลงปารีสเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลัก หนึ่ง ความร่วมมือระดับโลกที่จะจัดการแก้ไขปัญหา climate change สอง กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งในขณะเดียวกันทำให้เกิดการแข่งขัน เพราะการกำหนดให้ช่วยกันลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นคือการผลักดันให้มีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น แข่งหนักขึ้น ในการมีส่วนร่วม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร.โชวกล่าวว่า สำหรับ แบบจำลอง Sky Scenario มุ่งนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส โดยครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงานโลก จากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ ไปสู่พลังงานทางเลือก พลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการเพิ่มการใช้พลังงานชีวภาพ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี carbon capture and storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่หลุดลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยายกาศของโลก ตลอดจนหยุดยั้งการทำลายป่าและหันไปเพิ่มการปลูกป่าให้มากขึ้น

ดร.โชวให้ภาพว่า โลกกำลังเริ่มต้นเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของพลังงานอย่างช้าๆ โดยยกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่ในปี 2008-2009 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน ได้มีการปฏิรูปพลังงานจากการเน้นใช้ ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหินมาเป็นพลังงานทางเลือก ส่งผลให้พลังงานทางเลือกในสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ทางด้านสหภาพยุโรปตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานทางเลือกในสัดส่วน 20% ภายในปี 2020 ขณะที่จีนเองเริ่มให้ความสำคัญและตั้งเป้าที่ปรับไปสู่เศรษฐกิจที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างยั่งยืนในอีก 2 ทศวรรษ และรัฐบาลจีนได้ลงมือทำแล้ว เป็นการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 โดยพัฒนา low carbon zone แม้เป็นการเริ่มต้นช้าแต่เส้นทางความยั่งยืนได้เริ่มขึ้นแล้ว

การที่จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2070 ตามเป้าหมายได้นั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับของเศรษฐกิจและระบบพลังงาน แนวโน้มที่สำคัญสุดด้านหนึ่งคือการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่กำลังมีบทบาทมาแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้น

การใช้พลังงานไฟฟ้า หนึ่งในข้อเสนอของ Sky Scenario เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ เพราะการใช้พลังงานไฟฟ้าในวงกว้างของระบบเศรษฐกิจและมีการใช้ในสัดส่วนสูงนั้น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มาก

การใช้พลังงานไฟฟ้าทรงตัวที่สัดส่วน 2% ของการใช้พลังงานรวมมาในรอบหลายสิบปีตั้งแต่ปี 1960 แต่จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า หลังจากที่มีการสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้ามาในโลกมากขึ้น และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ไฟฟ้าในสัดส่วนกว่า 50% ในปี 2070 ทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นราว 5 เท่าจากปี 2017

ปัจจุบันพลังงานเชื้อเพลิงยังคงเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า แม้พลังงานลม พลังแสงอาทิตย์ ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่ผ่านมาแต่ผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 20% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย แต่ในระยะต่อไป การผลิตไฟฟ้าจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ที่กำลังขยายตัวรวดเร็ว และไม่มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป โดยคาดว่าภายในกลางศตวรรษที่ 21 พลังงานโซลาร์จะเป็นแหล่งพลังงานเบื้องต้น

ไฟฟ้ามีความสำคัญกับพื้นที่เมืองในหลายประเทศ และได้เริ่มเห็นการใช้พลังงานกับด้านการขนส่งบ้างแล้ว มีการริเริ่มและตั้งเป้าในหลายประเทศที่จะลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาป และคาดว่าปี 2030 ทั่วโลกจะมีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งและจะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050

ในปี 2050 พลังงานทางเลือกจะล้ำหน้าพลังงานเชื้อเพลิง และภายในปี 2100 แม้ยังคงมีการใช้พลังงานถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน แต่แหล่งพลังงานจะปรับเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

แหล่งพลังงานอย่างถ่านหินซึ่งผ่านจุดการใช้สูงสุดไปแล้วในปี 2014 ก็จะลดลงต่อเนื่องในอีกหลายทศวรรษหน้า ส่วนน้ำมันยังคงใช้อยู่ไปจนถึงปี 2025 ที่ระดับสูงสุดและจะค่อยๆ ลดลงในปี 2030 อย่างไรก็ตามในปี 2070 ก็ยังมีการผลิตน้ำมันมาใช้ เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องใช้น้ำมัน ขณะที่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้แทนถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและในช่วงที่พลังงานทดแทนยังเพิ่มขึ้นไม่สม่ำเสมอ ก่อนที่จะลดลงหลังปี 2040

การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จาก hydrocarbon หรือพลังงานเชื้อเพลิง ไปเป็นพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ก็ยังมีพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานไฮโดรเจน เข้ามาเพิ่ม โดยไฮโดรเจนจะเริ่มเข้ามาใช้ในปี 2030 และใช้มากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมหนัก

การใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพยังมีบทบาทสำคัญในภาคการขนส่ง เพราะยังคงต้องพึ่งพาพลังงานเหลว รวมทั้งยังสามารถทำงานได้ดีร่วมกับการนำเทคโนโลยี CCS ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส


ที่มาภาพ: www.shell.com/scenario
 
ที่มาภาพ: www.shell.com/scenario

Sky Scenario ยังมีสมมติฐานสำคัญในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสอีกด้วยว่า จะต้องลดการทำลายป่าลง และเริ่มกลับมาปลูกป่าใหม่ โดยการปลูกป่าในเนื้อที่เท่ากับเนื้อที่บราซิลทั้งประเทศจะช่วยให้มีความเป็นไปได้ที่บรรลุเป้าหมายขั้นสูงที่ว่าจะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

“ข้อตกลงปารีสตั้งเป้าหมายไปถึงปี 2070 เป็นสัญญาณที่บอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในระยะปานกลางและระยะยาว และการพยายามจัดการแก้ไขปัญหา climate change แต่การปฏิวัติพลังงานจะเกิดขึ้นและจะเปลี่ยนแปลงได้อยู่ที่ทัศนคติของทุกส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค”

ดร.โชวกล่าวว่า เราต้องตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สูงเข้าไว้เพื่อทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจว่ารัฐบาลทั่วโลกได้ปรับที่จะเริ่มดำเนินการตามแนวทางนี้ตั้งแต่วันนี้ มุ่งหาแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อย่างมีเหตุผล

“เราต้องถามตัวเองว่า เราในฐานะพลเมืองโลก จะมีส่วนร่วมในการทำให้บรรลุเป้าหมาย ก้าวข้ามความท้าทายนี้ได้อย่างไร การปรับแนวคิด ทัศนคติ ตระหนักและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญ สังคมเองก็ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง ภาคเอกชนเองก็ต้องเปลี่ยน”

“ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งนั้น ทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชน ที่เป็นปัจจัยสำคัญคอยผลักดันรัฐบาลให้มีการดำเนินการได้ มีกรอบนโนยายที่ชัดเจน มีความร่วมมือ เพื่อการใช้พลังงานสะอาดตามที่ข้อตกลงปารีสกำหนด” ดร.โชวกล่าว

Visitors: 629,055