สกู๊ปพิเศษ : ถอดรหัส ไทยลุย 5จี ช้าไปหรือไม่

 
แหล่งที่มา : www.matichon.co.th วันที่โพสต์ :  16 ก.ค. 2561
       
สกู๊ปพิเศษ : ถอดรหัส ไทยลุย 5จี ช้าไปหรือไม่

ปัจจุบันหลายประเทศ ได้ริเริ่มวางรากฐาน ‘5G’ กันแล้ว โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, จีน และสหรัฐอเมริกา ที่มีความพร้อมและมีแนวโน้มว่าจะเปิดให้บริการ 5G ได้ในเร็ววันนี้ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ กรรมการและเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดโอกาสให้ ‘มติชน’ ได้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมรองรับ 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้

ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรับ‘5G’

ขณะนี้ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เห็นชอบ หลักการของแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G รวมทั้ง การร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อเร่งรัดการพัฒนา 5G ตลอดจนเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ และเข้าถึงของประชาชนได้มากขึ้น โดยได้พิจารณาหลักการของการทดลองภาคสนามในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของคลื่นความถี่ในการรองรับการใช้งาน 5G ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิค

ดังนั้น จึงถือได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะมีการให้บริการ 5G ที่เหมาะสม ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า การเตรียมความพร้อมยังไม่ล่าช้า เนื่องด้วย ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในเรื่องนี้ยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งการกำหนดมาตรฐานทั้งหมด และรวมไปถึง การกำหนดคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามหลักของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ก็ยังไม่เสร็จสิ้นเช่นกัน โดยที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะของผู้ผลิตเทคโนโลยี พยายามที่จะนำเสนอเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อให้สอดรับกับ 5G ที่จะเกิดขึ้น


ประชาชนเกิดการรับรู้ เรื่อง
‘5G’ อย่างไร 

ปัจจุบัน ประชาชนยังไม่ค่อยรับรู้เรื่อง 5G มากนัก คงเพราะประเทศไทยเริ่มเปิดให้บริการระบบ 4G ได้ไม่นานนัก อีกทั้ง ด้านคุณภาพ และการใช้บริการ ก็ยังใช้งานระบบ 4G ได้อย่างไม่เต็มที่ทั้งหมด รวมไปถึง จากการที่ กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่ครั้งก่อน จนถึง ณ ขณะนี้คลื่นความถี่ก็ยังไม่ได้มีการนำมาใช้งานอย่างครบถ้วน เนื่องจากคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเพียงพออยู่ ดังนั้น คงต้องดูว่า ตลาดมีความพร้อมรับบริการใหม่ๆ จาก 5G นี้ มากน้อยแค่ไหน แต่ในแง่ของการสร้างนวัตกรรม ที่หากมี 5G เข้ามา จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริการในรูปแบบใหม่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นจะต้องส่งเสริมให้เกิด


ย้ำประโยชน์ของ‘5G’

5G นั้น จะทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลดียิ่งขึ้น จากเดิมที่อย่างมากมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 100 เมกะบิตต่อวินาที ต่อไปจะเป็น 1 กิกะบิตต่อวินาที หรือเท่ากับ 1,000 เมกะบิตต่อวินาที ความเร็วสูงสุดอาจจะได้ถึงประมาณ 10 กิกะบิตต่อวินาที อีกด้วย แต่ในปกติความเร็วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 กิกะบิตต่อวินาที

จึงจะส่งผลให้การใช้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อาทิ ต่อไปผู้ใช้งานจะสามารถถ่ายวิดีโอขนาด 360 องศา และส่งเป็นวิดีโอสตรีมมิ่ง ให้ผู้ชมได้รับชมภาพเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น ในลักษณะเช่นเดียวกันกับเทคโนโลยี เวอร์ชวล เรียลิตี้ (Virtual reality) หรือ VR และ อักเมนต์ เรียลิตี้ (Augmented reality) หรือ AR อีกทั้ง ผู้ใช้งานจะรับส่งข้อมูลวิดีโอที่มีคุณภาพสูงมากขึ้นประโยชน์ด้านความเร็วเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรืออินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) มีอุปกรณ์จำพวกระบบเซ็นเซอร์ สามารถติดตามห้องต่างๆ เพื่อวัดอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ทั้งนี้ ระบบเซ็นเซอร์ จะสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถยนต์ หรือสิ่งต่างๆ ได้ เชื่อว่าอุปกรณ์ด้านไอโอทีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาล เทคโนโลยี 5G จะสามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้

5G มีความล่าช้าในการส่งข้อมูล หรือที่เรียกว่า ความหน่วง อยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงถือได้ว่า มีความใกล้เคียงกับเรียลไทม์มากที่สุด สามารถนำไปใช้งาน อาทิ การใช้บังคับรถยนต์ให้เคลื่อนที่โดยอัตโนมัติ หรือกระทั่งการผ่าตัดทางไกล จะมีการพัฒนาให้เกิดหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล ผู้ใช้งานจะต้องมีความมั่นใจว่า ระหว่างใช้งานอยู่อินเตอร์เน็ตจะไม่หลุด เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบ รวมถึงจะมีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น ในอนาคตเราจะมีบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จะมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ มาติดตั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในเรื่องของ สมาร์ทซิตี้ และเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น

หากรองรับ ‘5G’ ในปี 2020 ไม่ทันการณ์ จะได้รับผลกระทบอย่างไร

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คงยังไม่กระทบในทันที เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ กว่าเราจะมีการใช้งานระบบ 3G และ 4G จะค่อยๆ มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยพบว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมถึงจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ ราว 65 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยอดผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ปัจจุบันมีจำนวน 8 ล้านคน ซึ่งนั่นก็แปลได้ว่า ยังมีผู้คนที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างเต็มที่ และระบบ 4G ที่ว่า มีความเร็วไม่มากนัก ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วนทั้งหมด ฉะนั้น การมี 5G ก็ยังไม่ต้องรีบเร่งมากจนเกินไป และยังน่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ทันอยู่


ดังนั้น เมื่อระบบ 4G ที่ในขณะนี้ยังไม่ค่อยมีการใช้งานอย่างกว้างขวางนัก แต่เมื่อมี 5G เข้ามา ก็จะส่งผลให้ระบบ 4G มีราคาที่ถูกลง จึงควรกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเห็นถึงประโยชน์ และหันมาทดลองการบริการใหม่ๆ เนื่องด้วยประโยชน์ของ 5G อาจทำให้เกิดการบริการใหม่ๆ ที่วันนี้ยังคาดไม่ถึง


อย่างไรก็ดี เมื่อแพลตฟอร์มพร้อมรองรับ จึงจะสามารถทำให้เกิดการบริการใหม่ๆ ได้อย่างไม่ต้องกลัวตกขบวน และหากประเทศแรกๆ ที่จะมี 5G เกิดขึ้นในปี 2020 ที่อาจจะเป็นประเทศญี่ปุ่น หรือ ประเทศเกาหลี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ประเทศไทยจะช้ากว่าอยู่สักประมาณ 1-2 ปี ก็ยังถือว่า ไม่ได้ล่าช้าจนเกินไป เนื่องด้วยการสร้างโครงข่าย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา โดยอย่างน้อยอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปีขึ้นไป


เชิญรับฟังการสัมมนาใหญ่ ตอบโจทย์รัฐบาลมีนโยบายเปิดใช้ 5G หรือการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 อันเป็นชุดเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ในปี 2020 หรือ 2563 จะเป็นฐานสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การสัมมนาในหัวข้อ Technology of the Future The Way Forward for 5G in Thailand. หรือ ทำอย่างไร ให้ 5G เทคโนโลยีพลิกโลก เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย จะมีเนื้อหาการอัพเดตสถานการณ์ 5G เปรียบเทียบจากระดับโลก นานาชาติสู่ไทย เส้นทางสู่ 5G ไทย และอุปสรรค คาดหมายผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้สายครั้งสำคัญนี้


พบกับปาฐกถาพิเศษจาก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ผู้บริหาร Huawei ผู้บริหาร 3 ค่ายโทรคมนาคม ในการเสวนา 5G In Thailand : Step to Reality หรือแจ้งเกิด 5G ไทย จะต้องทำอย่างไร ผู้ร่วมเสวนา นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาฯ กสทช., ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI, นายสุเทพ เตมานุวัตร์ จาก AIS, นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร จาก DTAC, นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ จาก True ดำเนินรายการโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ กรรมการและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคม

มีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคมนี้ เวลา 08.00-12.30 น. ณ ห้อง Infinity 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (ซอยรางน้ำ) ขณะนี้เปิดให้ลงทะเบียนทาง QR Code และ www.matichon.co.th

   
ขอบคุณข่าวจาก : matichon
 
Visitors: 620,991