สรรพากรจะนำ “บิ๊กดาต้า&AI” มาใช้ในการจัดระบบภาษี
|
|||
แหล่งที่มา : www.prachachat.net | วันที่โพสต์ : 6 ก.ค. 2561 | ||
สรรพากรจะนำ “บิ๊กดาต้า&AI” มาใช้ในการจัดระบบภาษี | |||
![]() |
|||
คอลัมน์ Pawoot.com โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ จากการที่กรมสรรพากรจะนำเอาเทคโนโลยี BIG DATA และ AI มาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร เรามาดูกันก่อนว่าสรรพากรจะทำได้อย่างไรบ้าง ระบบจะแบ่งข้อมูลเป็นหลายส่วน ข้อมูลแบบแรก internal data คือข้อมูลที่สรรพากรได้รับมา เช่น งบการเงินต่าง ๆ ข้อมูลแบบที่สองคือข้อมูลภายนอกที่เรียกว่า external data ตอนนี้มีมากมายในโลกออนไลน์ อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียทั้งหลาย วิธีการแรกของสรรพากรน่าจะเป็นการใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่ได้มาจากการที่บุคคลและธุรกิจส่งข้อมูลเข้ามาทั้งงบการเงิน รายได้ รายจ่ายต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งต่างจากเดิมที่ทำกันในรูปแบบ manual คือเป็นกระดาษทั้งหมด ต้องใช้เวลาในการจัดการมาก และบางคนอาจไม่ยอมส่งข้อมูลการเงินไปให้ทำให้สรรพากรไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์ทำให้สรรพากรค้นหาข้อมูลได้ทุกรายการ วิธีต่อมาคือการเริ่มดูจากแพตเทิร์นโดยใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ เช่น คนหนึ่งเคยมีรายได้เท่าไรในทุก ๆ เดือน การใช้คนเข้ามาดูทีละรายการเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก หากใช้เทคโนโลยีตรวจสอบจะมองเห็นรูปแบบในการใช้จ่ายเงินว่ามีเงินเข้าเงินออกอย่างไร ดูได้ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและของบริษัท การใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบ แม้จะมีคนเป็นล้าน ๆ คนแต่ระบบจะอ่านข้อมูลแค่แป๊บเดียวก็จะรู้เลยว่าคนคนนี้มีแพตเทิร์นการชำระเงินเป็นแบบไหน มันจะเรียนรู้พฤติกรรมของแต่ละคน เมื่อมีข้อมูลที่เหมือนกันก็จะเรียนรู้แพตเทิร์นของคนอื่นได้ด้วย โดยเอา data ทั้งหมดมาเรียนรู้ว่าคนคนหนึ่งมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อคนอื่น ๆ มีแพตเทิร์นแบบเดียวกันก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะเดียวกัน และถ้าคนคนนี้หรือบริษัทนี้มีพฤติกรรมการใช้เงินแบบนี้ก็อาจคาดเดาได้ว่าอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร เช่น บริษัทหนึ่งเปิดมา 2 ปีมีอัตราการเติบโตเป็นแบบนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอีกบริษัทที่เปิดมา 20 ปีและมีอัตราการเติบโตในลักษณะเดียวกันหรืออาจนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับอีกหลายบริษัทก็จะเริ่มทำนายได้แล้วว่าในปีต่อไป บริษัทนี้ควรต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่จะทำให้เริ่มจำลองความเป็นไปได้ว่าคนคนหนึ่งน่าจะต้องจ่ายภาษีเท่าใด ดังนั้นการจะหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีทำได้ยากแล้วเพราะระบบฉลาดมากขึ้น ข้างต้นนี่เป็นเพียงแค่ข้อมูล internal data ที่สรรพากรมีอยู่ เป็นแค่การเรียนรู้จากข้อมูลภายในเท่านั้น แต่ที่ผมมองไปไกลกว่านั้นคือถ้าเป็นแบบ external data มีการหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและนำข้อมูลต่าง ๆ เช่น ขายของออนไลน์ได้มากน้อยเท่าไร เลขที่บัญชีธนาคารที่มีการโอนเข้าออก โลเกชั่นที่อยู่ และอื่น ๆ ที่ปรากฏบนโลกออนไลน์นำกลับมาดูข้อมูลและตรวจสอบการจ่ายภาษีในแต่ละปีของคนคนนั้น สรรพากรจะรู้และติดตามไปถึงตัวได้ทันที ในโลกออนไลน์เมื่อใดที่เรามีข้อมูลที่ใช้ผูกเข้าด้วยกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ตั้งความเชื่อมโยงจากบุคคลหรือธุรกิจถึงกันได้แบบไม่ยาก เพราะมี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มี data มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่อยู่ในฐานข้อมูลขององค์กร มี external data อย่างในโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด ฉะนั้นเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาแมตช์เข้าด้วยกัน มันจะ automated ได้ทันที ต่อไปไม่ว่าจะมีคนกี่ล้านคนก็จะสามารถรู้ข้อมูลได้ทั้งหมด |
|||
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat |