ชุบชีวิต 'ขยะ' ให้กลับมามีค่าดั่ง 'ทอง' ด้วยความคิดสร้างสรรค์

 
แหล่งที่มา : www.voicetv.co.th วันที่โพสต์ :  23 พ.ค. 2561
       
 ชุบชีวิต 'ขยะ' ให้กลับมามีค่าดั่ง 'ทอง' ด้วยความคิดสร้างสรรค์

‘วอยซ์ ออนไลน์’ ร่วมสำรวจนิทรรศการสัญจรระดับโลก ‘Pure Gold: Upcycled! Upgraded!’ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมนำเสนอความมหัศจรรย์ของการเปลี่ยนขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ และมูลค่าดุจดั่งทองคำ


ย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายปีก่อน นิทรรศการ ‘Pure Gold: Upcycled! Upgraded!’ เริ่มจัดแสดงครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะหัตถกรรมในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ต่อมาประเทศไทยได้รับเลือกเป็นพื้นที่ที่ 2 ด้วยความร่วมมือครั้งสำคัญของ 4 องค์กร ได้แก่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ, สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, สถาบันอีฟ่า (Institut für Auslandsbeziehungen : IFA) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
 

เนื้อหาหลักของ ‘Pure Gold’ เกี่ยวกับการหันกลับมามองปัญหาขยะล้นหลามเกินจัดการ และพยายามนำเสนอมุมมองการชุบชีวิตขยะผ่านความคิดสร้างสรรค์ โดยวางเป้าหมายหลักไว้ตรงการหมุนเวียนไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นเป้าหมายลำดับถัดๆ ไป

คอนเซ็ปต์โดดเด่นของนิทรรศการนอกจากสะท้อนปัญหาปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นศักยภาพของแนวคิด ‘Upcycling’ หรือกระบวนการแปลงขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ เเละมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งนับเป็นหัวข้อเร่งด่วนที่มนุษย์ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญ

‘Pure Gold’ สร้างสรรค์จากความตั้งใจของภัณฑารักษ์ 7 คน รวบรวมผลิตภัณฑ์จาก 56 นักออกแบบใน 8 ภูมิภาคทั่วโลก จัดเต็มด้วยผลงานร่วมแสดงทั้งสิ้น 79 ชิ้น แสดงถึงความหลากหลายในการเพิ่มคุณค่า ความงดงาม และสุนทรีในบริบทที่แตกต่างกัน

ศาสตราจารย์ โฟลเคอร์ อัลบุส (Prof. Volker Albus) นักออกแบบ และภัณฑารักษ์ผู้นำชมนิทรรศการเล่าให้ฟังว่านิทรรศการ ‘Pure Gold’ ไม่ได้เล่าเรื่องรีไซเคิลธรรมดาๆ แต่เป็นการนำสิ่งที่ทุกคนสามารถพบเจอในชีวิตประจำวันกลับมารังสรรค์ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับความงดงาม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ในกระบวนการรีไซเคิลของผลงานทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงปราศจากการใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง แต่เป็นการนำเศษวัสดุมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ โดยที่ทุกคนสามารถสังเกตุเห็นได้ว่า เดิมทีผลิตภัณฑ์เคยเป็นอะไรมาก่อน ” ภัณฑารักษ์กล่าวระหว่างเดินพาชมนิทรรศการ

สำหรับตัวอย่างผลงานบางส่วนที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ ‘Pure Gold’ ได้แก่

 
 พรมจากเศษพลาสติกวัสดุ และกระดาษแข็ง ผลงานของ Juli Foos นักออกแบบจากเยอรมนี
 
เก้าอี้สตูลจากถังซักสเตนเลสของเครื่องซักผ้าเก่า ตะแกรงพัดลม เส้นไหมพรม และผ้าทอ ผลงานของ Junk Munkez
นักออกแบบจากเลบานอน
 
ตู้ใส่ไวน์ทำจากเครื่องทำน้ำอุ่นรุ่นเก่า ผลงานของ Piratas do pau บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กจากโมซัมบิก
 
เก้าอี้บาร์จากผงขี้เลื่อยผสมเรซิน ก่อนเปลี่ยนสภาพเป็นโฟมที่มีความคงทนสูง และสามารถนำมาขึ้นรูปได้ ส่วนด้านล่างตั้งใจคงผิวขรุขระไว้ เพื่อยึดติดกับขาเก้าอี้ ผลงานของ Marjan van Aubel และ James Michael Shaw
 
ถาดใส่ผลไม้ทำจากกระดาษลัง ผลงานของ Domingos Tótora จากประเทศบราซิล
 
ชั้นวางผลไม้จากวัสดุพลาสติกที่จำหน่ายอยู่ตามร้านทุกอย่าง 20 บาท โดยนำมาเชื่อมต่อด้วยท่อ และข้อต่อเหลือใช้ ทำให้ชิ้นงานที่รูปทรง และสีสัน แตกต่างกันออกไป ผลงานของ Brunno Jahara นักออกแบบจากละตินอเมริกา


ฝั่งนักออกแบบไทยน่าจับตามองอย่าง ‘ปิ่น - ศรุตา เกียรติภาคภูมิ’ ผู้ก่อตั้งบริษัทพิน เมททัล อาร์ต จำกัด ได้นำผลงานชื่อ ‘พาน’ (Paan) มาจัดแสดง โดยเธอชุบชีวิตเศษเหล็กเป็นเฟอร์นิเจอร์ดังระดับโลก พร้อมบอกเล่ามุมมองของงานรีไซเคิลที่ผสานวัฒนธรรมไทย จนเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ความงาม และความหมาย ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาสร้างสรรค์เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น

“ปิ่นเริ่มทำงานมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว พื้นฐานทางบ้านเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก และหลังจากเรียนจบด้านศิลปะก็อยากพัฒนาต่อยอดสินค้า จึงตัดสินใจเอาเศษเหล็กเหลือใช้ ดูเหมือนไร้คุณค่า มายกระดับเป็น ‘พาน’ ซึ่งเป็นเครื่องรองรับสิ่งของดีงาม เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมไทย”

 
ชุบชีวิตเศษเหล็กเป็นเฟอร์นิเจอร์ดังระดับโลก ผลงานของศรุตา เกียรติภาคภูมิ


จากความรู้สึกเสียดายความงามของขยะ ส่งผลให้ ‘พาน’ ตระเวนแสดงตัวในต่างประเทศมาแล้ว เป็นการเพิ่มมูลค่าเศษเหล็กธรรมดาๆ ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินด้วยภูมิปัญญาไทย ทำให้กลายเป็นผลงานร่วมสมัยที่หลายหมื่นบาท

“เศษเหล็กที่ปิ่นมองเห็นเป็นชีวิตของคนงาน เป็นชีวิตของครอบครัว เป็นชีวิตของตัวปิ่น แล้วมันเต็มไปด้วยคุณค่า ความงาม ความหมาย เราเลยอยากชุบชีวิตเศษเหล็ก ชุบชีวิตคนงาน เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่เรารวยอยู่คนเดียว เพราะทุกอย่างเป็นความสุขของตัวปิ่น ความสุขของคนงาน ความสุขของครอบครัว ความสุขของโลก”

สำหรับนิทรรศการ Pure Gold ในประเทศไทย ปิ่นเล่าว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นหลายคนแสดงแนวคิดคล้ายๆ กัน แต่รูปลักษณ์ และบุคลิกของผู้สร้างสรรค์แตกต่างกันไป จึงเต็มไปด้วยความสนุก ความน่ารัก และเป็นเรื่องดีที่คนไทยมีโอกาสเห็นไอเดียการรีไซเคิลจากทั่วทุกมุมโลก

“จริงๆ แล้วกระแสรีไซเคิลมานานมากแล้ว แต่เหมือนแรงกระเพื่อมเด่นชัดมากขึ้น จากข่าวที่ทุกคนเห็นหลอดติดในจมูกเต่าทะเล มันเลยทำให้หลายฝ่ายหันมาสร้างจิตสำนึก และตระหนักเรื่องการจัดการขยะบนโลก”

ใครสนใจการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม - 22 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

   
ขอบคุณข่าวจาก : VOICETV
 
Visitors: 627,540