‘โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ’ ยกระดับนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์

 
แหล่งที่มา : https://greennews.agency/ วันที่โพสต์ :  16 มี.ค. 2561
       
‘โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ’ ยกระดับนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ 

ทางเลือกอันดับต้นๆ ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าในยุคนี้มุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “พลังงานแสงอาทิตย์” ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดเพียงแค่เราแหงนหน้า

นั่นทำให้ภายในระยะเวลา 20 ปี แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มีราคาลดลงไปแล้วถึง 99% จากที่เคยอยู่วัตต์ละ 76.67 เหรียญสหรัฐ ในปี 2540 เหลือเพียงวัตต์ละ 0.37 เหรียญสหรัฐ ในปี 2560

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มักถูกพูดถึงในสองประเภท คือพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งในแบบแรกมักจะอยู่ในลักษณะขนาดใหญ่เป็นรูปแบบของโรงไฟฟ้า ส่วนแบบถัดมาจะไปปรากฏอยู่ตามอาคารบ้านเรือน

คำถามที่ตามมาเมื่อความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การใช้พื้นที่เพื่อตั้งโซลาร์ฟาร์มเริ่มรุกรานการใช้ประโยชน์ที่ดินอื่นๆ หรือพื้นที่ตามหลังคาเพื่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเริ่มหมดลง ทางออกของการสรรหาพลังงานไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร


คำตอบนั้นอาจเป็นการพัฒนา โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm

    

สำหรับ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ คืออีกหนึ่งในทางเลือกที่ถูกนำเสนอโดย เอสซีจี เคมิคอลส์ จากการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี โดยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ คุณสมบัติคือสามารถติดตั้งง่าย รวดเร็ว และประหยัดพื้นที่ได้ถึง 10% เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่นๆ

ขณะเดียวกัน โซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำยังให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดินหรือบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (cooling effect) ซึ่งทุ่นลอยน้ำที่ถูกออกแบบนี้ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25 ปี ใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์

ในส่วนของการดูแลรักษา ยังสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับความปลอดภัยในการทำงาน โดยใช้ “โดรน” (Drone) บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์ รวมไปถึง “หุ่นยนต์ดำน้ำ” (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำ

ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ระบุว่า โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเป็นหนึ่งในผลจากการนำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ High Value Added Products and Services (HVA) ของกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ โดยการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง

“เราพัฒนาตัวทุ่นให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งานบนผิวน้ำที่หลากหลาย และจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย ที่สามารถให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งโซลาร์ลอยน้ำนั้นให้ประสิทธิภาพสูงกว่าบนหลังคาทั่วไป 5-20%” เขาระบุ

ทั้งนี้ จากพื้นที่ผิวน้ำจืดของประเทศไทยที่มีอยู่ราว 14,600 ตารางกิโลเมตร หรือในพื้นที่ของเอสซีจีเองที่มีอยู่ราว 1.24 ตารางกิโลเมตร เขาระบุว่าหากมีการนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศ และยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย

สำหรับการติดตั้งภายในบ่อน้ำของโรงงานเอสซีจี เคมิคอลส์ จ.ระยอง กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ กินพื้นที่ราว 7 ไร่ ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท ได้ช่วยให้โรงงานประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี

ชลณัฐ ยังทิ้งท้ายว่า ภายในปี 2561 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ได้ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก ทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals โดยปัจจุบันมีทีมงานวิจัยกว่า 630 คน และมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หรือ Advanced Science and Technology Center (ASTEC) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล ขณะที่ในปี 2560 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ได้มีสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 83% จากปีที่ผ่านมา

   
ขอบคุณข่าวจาก : greennews.agency
 
Visitors: 631,385