ขยะพลาสติก: มลพิษคุกคามท้องทะเลอินโดนีเซีย

 
แหล่งที่มา : www.bbc.com วันที่โพสต์ :  7 มี.ค. 2561
       
 ขยะพลาสติก: มลพิษคุกคามท้องทะเลอินโดนีเซีย

ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลของอินโดนีเซียกลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากนักประดาน้ำชาวอังกฤษถ่ายวิดีโอขณะตัวเองแหวกว่ายไปในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกบริเวณเกาะนูซาเปนิดา ใกล้กับเกาะบาหลี

นายริช ฮอร์เนอร์ นักประดาน้ำชาวอังกฤษ เล่าให้บีบีซีฟังว่า วิดีโอที่เขาถ่ายเอาไว้ได้บริเวณจุดดำน้ำชื่อดังที่เรียกว่า "มันตาพอยต์" นั้นเป็นภาพที่ "น่าตกใจ" แต่ขยะเหล่านี้มาจากไหน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ และทางการอินโดนีเซียแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

เป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่ได้เห็นขยะพลาสติกมากมายในทะเลบาหลี?

แม้คนทั่วไปจะทราบถึงปัญหาขยะล้นเกาะบาหลี ทว่าแม้แต่ตัวของนายฮอร์เนอร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบดังกล่าวมาหลายปีถึงกับบอกว่าเขาไม่เคยเห็นขยะในปริมาณมากเช่นนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับ น.ส.เอเดรียนา ซิเมโอโนวา ผู้ให้บริการดำน้ำรายหนึ่งบนเกาะบาหลีบอกกับบีบีซีว่า เป็นเรื่อง "ไม่ธรรมดา" ที่ได้เห็นขยะมากมายเช่นนี้ "เรามีลูกค้าไปดำน้ำบริเวณดังกล่าวก่อนหน้านายฮอร์เนอร์เพียงหนึ่งวัน แต่พวกเขาได้พบกับท้องทะเลที่สวยงาม"

ขยะเหล่านี้มาจากไหน?

เกาะบาหลีตั้งอยู่กึ่งกลางของ Indonesian Throughflow ซึ่งเป็นกระแสน้ำมหาสุมทร (Ocean current) ที่ไหลจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องแคบของอินโดนีเซีย

นั่นจึงหมายความว่า ขยะอาจมาจากคนในท้องถิ่นเอง หรือถูกกระแสน้ำพัดพามาจากมหาสมุทรแปซิฟิก

นายฮอร์เนอร์ เล่าว่า "ขยะที่ผมเห็นส่วนใหญ่มีฉลากที่เขียนเป็นภาษาอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามกระแสน้ำอาจพัดขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากส่วนอื่นของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือที่อื่น ๆ ก็เป็นได้"

ขณะเดียวกันก็ยังหมายความได้ว่า ขยะพลาสติกเหล่านี้อาจถูกพัดพามาภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความแรงของกระแสน้ำ เพราะนายฮอร์เนอร์ บอกว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่ไปดำน้ำบริเวณนั้นในอีกวันถัดมารายงานว่าไม่พบเห็นขยะพลาสติกเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าว่าขยะน่าจะถูกพัดพาไปยังมหาสมุทรอินเดีย

 
รัฐบาลอินโดนีเซียจัดการปัญหานี้อย่างไร?

เมื่อต้นปีก่อน เจ้าหน้าที่เกาะบาหลีได้ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านขยะ"ที่ชายหาดบางแห่งของเกาะ โดยระดมพนักงาน 700 คน และรถบรรทุก 35 คันมาเก็บกวาดขยะมากถึง 100 ตัน

น.ส.ซิเมโอโนวา บอกว่า ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เกาะบาหลีเท่านั้น "มีความพยายามทำความสะอาดบริเวณโดยรอบบาหลีหลายครั้ง และมีการเก็บกวาดชายหาดของเกาะเป็นประจำ แต่ปัญหาก็คือมีขยะจำนวนมากที่พัดมาที่นี่จากเกาะชวา " เธอกล่าว

รัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงของอินโดนีเซีย ได้ส่งแถลงการณ์มายังบีบีซี แสดงความเสียใจกับกรณีขยะที่มันตาพอยต์ และว่าอินโดนีเซีย "จะต้องทำมหาสมุทรให้เป็นเหมือนระเบียงหน้าบ้าน ไม่ใช่สนามหลังบ้าน"

ปัจจุบัน อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ก่อขยะพลาสติกรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ที่ผ่านมา อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายในการลดขยะประเภทนี้ให้ได้ 70% ภายในปี 2025 แต่ชัดเจนว่าความพยายามดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

   
ขอบคุณข่าวจาก : bbc.com
 
Visitors: 629,608