แบงก์ระเบิดสงครามยกเว้นค่าฟี

 
แหล่งที่มา : Posttoday และ 
               
Bank of Thailand Scholarship Students
วันที่โพสต์ :  31 มี.ค. 2561
       
 แบงก์ระเบิดสงครามยกเว้นค่าธรรมเนียม ติดสปีด สังคมไร้เงินสด

(Mar 31) แบงก์ระเบิดสงครามยกเว้นค่าฟี ติดสปีด สังคมไร้เงินสด มาเร็วกว่าที่คิด : ธนาคารพาณิชย์แห่ประกาศ "ฟรี" ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการ โอนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินข้ามธนาคาร ข้ามเขต จ่ายค่าบิลสินค้า จ่ายค่าบริการ ผ่านระบบออนไลน์ เน็ตแบงก์กิ้ง ที่จากเดิมจะต้องเสีย ค่าบริการ 10-25 บาท/รายการ

ขณะนี้มีข่าวใหญ่วงการธนาคาร แม้ว่าก่อนหน้าธนาคารทหารไทยเป็น ผู้สร้างปรากฏการณ์รายแรกที่ประกาศโอนเงินไม่เสียค่าธรรมเนียมมาก่อน ก็ไม่ได้ฮือฮาเป็นกระแสเท่ากับธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และล่าสุดธนาคารกรุงไทย ก็ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์มาไล่เลี่ยกัน และเชื่อว่าในที่สุดเชื่อได้ว่าธนาคารทุกแห่งจะต้องเข้าสู่เวทีการแข่งขันยกเว้นค่าธรรมเนียมเช่นกัน

การสร้างปรากฏการณ์ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ พลิกโฉมของวงการแบงก์และระบบการชำระเงินเหมือนยิ่งติดไฮสปีด ที่จะผลักดันให้ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ได้เร็วยิ่งขึ้น

สิ่งที่จะเกิดในแวดวงการเงินที่จะเป็นรูปแบบ ตั้งแต่พฤติกรรมผู้บริโภคจะลดไปทำธุรกรรมการเงินที่สาขา ไม่ไปโอนเงินผ่านตู้กดเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) กันแล้ว เพราะระบบการ โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มยังจะต้องเสียค่าธรรมเนียม เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าโอนไปธนาคารไหน ที่ไหนในประเทศไทย ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม อีกทั้งการจะจ่ายบิลชำระค่าบริการต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ จากเดิมที่ใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสต่างๆ คนก็จะใช้บริการน้อยลง เพราะโอนเงินหรือชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือสะดวกว่า และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน

ในขณะเดียวกันขณะนี้ประชาชน ก็เริ่มที่จะหันมาใช้บริการพร้อมเพย์ มากขึ้น จากการ รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ครบรอบ 1 ปี มีการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ 127 ล้านรายการ มูลค่ารวมกว่า 4.9 แสนล้านบาท โดยยอดเฉลี่ยการโอนเงินน้อยลงเรื่อยๆ จากช่วงแรก 6,000-7,000 บาท/รายการ ในปัจจุบันเหลือเพียง 3,500-3,800 บาท/รายการ โดย ณ วันที่ 28 ก.พ. มีธุรกรรมการโอนสูงสุด 1.1 ล้านรายการ มูลค่า 2,589 ล้านบาท/วัน


โดย ธปท.มี เป้าหมายในปีที่ 2 อยากเห็นการใช้อี-เพย์เมนต์มากขึ้น ซึ่งเทียบในภูมิภาคไทยอยู่อันดับ 2-3 ใกล้กับมาเลเซีย ตามหลังสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการใช้คิวอาร์โค้ดในชีวิตประจำวันมากขึ้นจากร้านค้าที่รับคิวอาร์โค้ดที่มีจำนวนหลายแสนแห่ง

สำหรับแนวโน้มการชำระเงินอี-เพย์เมนต์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นสังคม ไร้เงินสด โดยเฉพาะการใช้พร้อมเพย์ 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 39 ล้านเลขหมาย โดย 66% หรือประมาณ 26.7 ล้านเลขหมาย เป็นบัญชีผูกกับบัตรประชาชน เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับภาครัฐ เช่น การคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ โดยธุรกรรมพร้อมเพย์เกิดบนสมาร์ทโฟนสัดส่วนถึง 90% นอกจากนี้ยังต้องการสนับสนุน ให้ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีหันมาใช้อี-เพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้น

ประเด็นที่ว่า "ศึกชิงลูกค้าออนไลน์ ฟรีค่าธรรมเนียม แบงก์ได้หรือเสียกันแน่?" ในมุมมองของฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประเมินว่าในระยะยาวแบงก์น่าจะต่อยอดธุรกิจจากฐานลูกค้าออนไลน์ที่เข้ามา ซึ่งธนาคารอาจจะได้รับผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม หากอิงจากโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมจัดตามโครงการ PromptPay จะเห็นว่าหากทำธุรกรรมต่ำกว่า 5,000 บาท/รายการ ก็ฟรีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว และจากสถิติยังพบว่าการทำรายการทั้งระบบเฉลี่ยต่อครั้งก็ไม่เกิน 5,000 บาท หรือราว 1,000-2,000 บาท เรียกว่าไม่ต่างอะไรจากปัจจุบันที่แทบจะฟรีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยังต้องมองยาวๆ ต่อไป เพราะตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่!!

แต่งานนี้ "ผู้บริโภค" ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ กับการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ย้อนมาดูในภาครัฐมีการตื่นตัวมาก โดยตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.เป็นต้นไป กรมบัญชีกลางได้ให้หน่วยงานราชการทุกแห่งเปิดรับชำระเงินค่าบริการต่างๆ จากประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้หลังจากนี้ประชาชนที่ต้องมาชำระค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียม หรือภาษีกับหน่วยงานราชการทั่วประเทศ จะต้องใช้ อี-มันนี่ หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์มาจ่ายแทนเงินสดหรือเช็ค ซึ่งเป็นการลดการใช้เงินสดครั้งใหญ่ รวมไปถึงการลดการทุจริตได้ด้วย

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในปีหน้าคาดว่าจะทำให้ปริมาณการใช้เงินสดของคนไทยลดลงถึง 50% ได้ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้านเงินสดของสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ National e-payment

สิ่งสำคัญที่ย้ำมาตลอดว่าจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและดูแลระบบการควบคุมความปลอดภัยการใช้จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ National e-payment โดยเฉพาะระบบพร้อมเพย์ จะต้องอุดช่องโหว่การถูกคุกคามทางไซเบอร์ให้ได้ เพราะหากพลาดไป มีการแฮ็กข้อมูลได้ นั่นหมายถึงความสั่นคลอนการก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด และทำให้ระบบการเงินเสียหายได้

โดย ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

   
ขอบคุณข่าวจาก : Posttoday
                      Bank of Thailand Scholarship Students
 
Visitors: 627,041