เปิดกรอบปฏิรูปพลังงาน ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุน

 
แหล่งที่มา : www.thansettakij.com วันที่โพสต์ :  1 มี.ค. 2561
       
เปิดกรอบปฏิรูปพลังงาน ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุน

ประเด็นปัญหาทางด้านพลังงานที่มีมาตลอดหลายปีนี้ ถูกนำมากำหนดเป็น 1 ใน 11 ด้านสำคัญที่จะต้องปฏิรูป นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงความสำคัญทางด้านพลังงานที่ต้องปฏิรูปว่า เรื่องของพลังงานนั้นเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในภาคส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต อุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนคนไทยด้วย กล่าวคือ เปิดไฟก็มีไฟใช้ เปิดนํ้าก็มีนํ้าใช้


ยิ่งกระจ่างชัดขึ้นเมื่อดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาทนั้น พบว่า อยู่ที่ภาคพลังงานประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ใหญ่กว่าภาคเกษตรซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8.5% ขณะที่การลงทุนทางด้านพลังงานปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่สำคัญยังสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับนักลงทุน23% ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ทำรายได้เข้ารัฐประมาณ 3 แสนล้านบาท หากเอาธุรกิจพลังงานออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯคงล่ม!!!

ดร.พรชัย รุจิประภา
ปัจจุบันยังถูกซ้อนทับไว้ด้วยปมปัญหามากมายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประมูลสัมปทานรอบใหม่ที่ยังคาราคาซังผูกโยงเข้ากับสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติของไทยที่คาดการณ์ว่า จะมีใช้ไปได้อีก 15 ปี การบริหารจัดการปฏิรูปด้านพลังงานจึงอยู่ในห้วงเวลาที่สำคัญยิ่งนับจากนี้

ประเด็นแรก เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของข้อมูล ประชาชนขาดความเชื่อมั่นข้อมูลของภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐก็ไม่เชื่อข้อมูลของเอ็นจีโอเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ปรากฏภาพการเดินขบวนประท้วงต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่อก๊าซ เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น


ประการที่ 2 เป็นเรื่องของนโยบายการกำกับดูแล กับหน่วยปฏิบัติที่พันกันมาจากเรื่องของข้อมูลที่อาจจะแตกต่างกัน ส่งผลถึงความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลว่า ไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้ จากปัญหาความรู้ความเข้าใจของข้อมูลที่ไม่ตรงกันดังกล่าว ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์เกี่ยวกับสารสนเทศทางด้านพลังงานขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ตั้งเป้าจะต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้โดยเบื้องต้นอาจนำไปฝากไว้ที่สำนักปลัดฯ ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาออกมาเป็นหน่วยงานอิสระต่อไป


ประการที่ 3 คือ เรื่องของราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีผลต่อประชาชนโดยตรง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 70% ขณะที่ในแผนการผลิตไฟฟ้าเดิม (ปี 2015) จะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจาก 70% เหลือ 37% เนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยจะหมดลง ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่อาจต้องนำมาปรับปรุงกันใหม่ ดังเช่น การนำเข้าก๊าซแอลพีจีที่นำเข้ามาได้เฉพาะทางเรือจึงมีข้อจำกัดเรื่องของราคา ขณะที่เรื่องของการใช้ถ่านหินนั้นก็ยังประท้วงกันอยู่ เป็นอีกเรื่องที่ต้องมาพูดคุยกันว่า จะเดินไปทางไหน ถ้าไม่เอาแล้วจะใช้อะไรมาแทนได้


ประการที่ 4 คือ เรื่องของการนำเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) มาใช้ เช่น ช่วยเรื่องของพลังงานทดแทน หรือกรณีที่ภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าแล้วส่งไปปลายสาย แต่การผลิตไฟฟ้ายุคใหม่ปลายสายอาจจะส่งกลับมาด้วยได้ หรือกรณีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ทราบกันดีว่า เป็นของ ปตท. ดังนั้นแทนที่จะเปิดให้ ปทต.นำเข้าเพียงรายเดียว เราจะมีกฎเกณฑ์บริหารจัดการเรื่องเหล่านี้เพื่อให้เอกชนอื่นเข้ามาใช้ผ่านท่อของปตท.ได้อย่างไร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นายพรชัย เน้นยํ้าเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่ลํ้าสมัยมาใช้ว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯให้ความสำคัญและพูดกันมากเรื่องของคำว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และราคาของเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศว่า อยู่ตรงไหน เทคโนโลยีใดบ้างที่ควรต้องนำเข้า เทคโนโลยีใดบ้างที่ต้องรอเวลา เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นประเทศที่เสพเทคโนโลยีในราคาแพง


“การจัดทำแผนปฏิรูปในครั้งนี้ ต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ อาทิ เรื่องการอนุญาต การใช้สายส่งของการไฟฟ้า และการใช้ท่อก๊าซของปตท. ที่ต้องมีการปฏิรูป และปรับปรุงจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายพรชัย ระบุ


ต่อด้วยเรื่องการสร้างกลไกมาตรการมาสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงาน มีกฎหมายออกมารองรับ ดังเช่น มีข้อกำหนดการใช้ไฟโดยดูจากพื้นที่ของอาคาร เป็นต้น


ทั้งนี้ นายพรชัย กล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางด้านพลังงานว่า ยังสับสนไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ดังเช่น เรื่องรถไฟฟ้า ที่ให้ความสนใจกันมาก ซึ่งในประเทศนอร์เวย์นั้นประกาศว่า จะใช้รถไฟฟ้าทั้งประเทศ และมีข้อกำหนดที่จะให้พลังงานนํ้ามาเป็นพลังงานทดแทน


หันมามองบ้านเรากระทรวงพลังงานวางแผนไว้ว่า จากรถยนต์ที่มีอยู่มากถึง 15 ล้านคันนี้จะเปลี่ยนไปเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 1.2 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก อีกด้านหนึ่งเรามีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ส่งออกไปขายทั่วโลก ดังนั้น หากจะเดินไปแนวทางนี้ต้องกลับมาทบทวน ถอยกลับมาหนึ่งก้าวว่า เราทำรถไฟฟ้าไปเพื่อใช้เอง หรือเพื่อส่งออก หรือเพื่อการประหยัดพลังงาน


ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปฯนั้น เห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันการใช้พลังงานได้เปลี่ยนโหมดไป จากการใช้นํ้ามันมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น การให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องของการปฏิรูปแผนพลังงานของประเทศกันใหม่ เรื่องของความพร้อม และมีกระบวนการรองรับอย่างเป็นระบบ เช่น ปัจจุบันเราชาร์จไฟอยู่ที่ 15 แอมป์ หากใช้รถไฟฟ้าอาจต้องชาร์จถึง 30-50 แอมป์ ต้องไปปรับระบบของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกันใหม่ เป็นต้น


ภายใต้หลักการการปฏิรูปพลังงานหลายเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปฯเสนอแนะหวังว่า จะทำให้ระบบบริหารจัดการ การกำกับนโยบายต่างๆ เกิดประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ มีการเปิดเสรี ทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน มีไฟฟ้าและนํ้ามันเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามา
 
   
ขอบคุณข่าวจาก : thansettakij.com
 
Visitors: 620,290