รัฐแจงกฎหมายคุมอาคารลดใช้พลังงานไม่กระทบต้นทุน

 
แหล่งที่มา : www.prachachat.net วันที่โพสต์ :  25 มี.ค. 2561
       
 รัฐแจงกฎหมายคุมอาคารลดใช้พลังงานไม่กระทบต้นทุน

พพ.แจงบังคับใช้กฎกระทรวง เพื่อควบคุมอาคารใหม่ ไม่กระทบต้นทุนก่อสร้างอาคาร-คอนโดฯ เล็งปรับรายละเอียดใหม่ทุก 5 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คาดในอีก 20 ปีข้างหน้าลดมูลค่าการใช้พลังงานได้ 48,000 ล้านบาท 

ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 หรือ Building Energy Code เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ว่า ประกาศดังกล่าว


 

ส่งผลกระทบต้นทุนการก่อสร้างนั้นนายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

เหตุผลหลักของการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 คือ

     การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (disruptive technology) ที่ทำให้มีการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงและลดการใช้พลังงานได้อย่างต่อเนื่อง

จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และถือเป็นการกำหนดมาตรฐานให้ไปทิศทางเดียวกัน โดยก่อนที่จะมีการประกาศใช้นั้น พพ.ได้มีการให้ข้อมูลพร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ สภาสถาปนิก ไปจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี”54 เท่ากับว่าผู้ประกอบการได้รับทราบทิศทางนโยบายและมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วย

ตามรายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นเพียงมาตรฐานเบื้องต้นที่ไม่ได้มีความซับซ้อน ให้น้ำหนักการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานใน4 ประเด็นหลักคือ

1) กรอบอาคาร ต้องใช้กระจกเขียวที่สามารถลดแสงและความร้อนเข้ามาในตัวอาคาร

2) หลังคาอาคารจะต้องมีการใส่ฉนวนเพื่อป้องกันความร้อน ส่งผลให้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศน้อยลง

3) หลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างต้องได้มาตรฐานและได้ฉลากเบอร์ 5 

4) เครื่องปรับอากาศที่ใช้ในอาคารจะต้องได้ฉลากเบอร์ 5 เท่านั้น


จากการประเมินผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรือคอนโดมิเนียมเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งถือว่ากระทบน้อยมาก และหากผู้ประกอบการได้วิศวกรและสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ต้นทุนการก่อสร้างอาจจะปรับลดลงด้วยซ้ำ

“บางรายก่อสร้างอาคารได้ดีกว่าที่ พพ.กำหนดไว้อีก เช่น อาคารเอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (Energy Complex) ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ถือว่าเป็นอาคารประหยัดพลังงานแบบพรีเมี่ยม คือทำได้ดีกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ ซึ่งยังมีอีกหลายอาคารใหม่ในประเทศที่จะออกแบบอาคารให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด ซึ่งเป็นความสมัครใจ บางรายยื่นขอมาตรฐานสากลด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นว่าได้ประโยชน์ทั้งในด้านการโปรโมตองค์กรและต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอนาคตด้วย”

นายโกมล กล่าวเพิ่มเติมว่า พพ.เชื่อมั่นว่าในอนาคตเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจะส่งผลให้วัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานถูกพัฒนาให้ใช้ไฟน้อยลงไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องสอดคล้องกันด้วย จึงมีแนวคิดว่าจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในทุก 3-5 ปี โดยเฉพาะในส่วนของ

“ค่าอนุรักษ์พลังงาน” ที่อาคารใหม่จะต้องดำเนินการ เช่น จากเดิมที่กำหนดว่าเมื่อเทียบต่อตารางเมตร การใช้พลังงานจะอยู่ที่ 50 วัตต์ ก็จะให้ลดลงเหลือเพียง 40 วัตต์ และ 10 วัตต์ เป็นต้น ทั้งนี้ เป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน EEP 2015 (Energy Efficiency Plan) กำหนดว่า ภายใน 20 ปีจะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 48,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมองว่า สำหรับอาคารใหญ่ในอนาคตจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ด้วย

   
ขอบคุณข่าวจาก : prachachat.net
 
Visitors: 619,600